คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 7 ทวิ (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนภายหลังการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา: การใช้กฎหมายเดิมก่อนแก้ไข
ก่อนสอบคำให้การจำเลย พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ประกอบด้วยมาตรา 7 ทวิ จึงชอบด้วยกฎหมายในขณะที่พนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลยแล้ว ส่วน ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 ซึ่งบัญญัติว่า ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้เป็นบทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ ซึ่งมีผลใช้บังคับภายหลังวันที่เจ้าพนักงานสอบสวนทำการสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น ถ้อยคำของจำเลยที่ให้ไว้แก่พนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาจึงเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายก่อนมีการแก้ไขให้ถ้อยคำของผู้ต้องหาใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่การสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4063/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมที่ไม่แจ้งสิทธิผู้ต้องหา ทำให้คำรับสารภาพและพยานหลักฐานอื่น ๆ ที่ได้มาใช้ไม่ได้ ศาลยกฟ้อง
เมื่อมีการจับกุมตัวจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามแล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการแจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ดังนั้น บันทึกการจับกุมของจำเลยทั้งสาม จึงไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8999/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งสิทธิผู้ต้องหา, พยานเบิกความขัดแย้ง, และการใช้ประโยชน์แห่งความสงสัยในคดีครอบครองยาเสพติด
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ แต่ไม่ปรากฏว่าได้แจ้งสิทธิให้จำเลยทั้งสามทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ (เดิม) ซึ่งเป็นบทบังคับให้ผู้จับมีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิรวม 3 ประการ โดยเฉพาะประการที่ 1 คือพบและปรึกษาผู้ที่จะเป็นทนายสองต่อสอง ทั้งตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมก็ไม่มีข้อความระบุว่ามีการแจ้งสิทธิดังกล่าวด้วย บันทึกการตรวจค้นจับกุมจึงมีน้ำหนักน้อย เจ้าพนักงานตำรวจเพียงแต่พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บริเวณหัวเตียงนอนและในห้องดังกล่าวซึ่งมีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ด้วยกัน โดยจำเลยที่ 3 เบิกความยอมรับว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เอง เมื่อมิได้ค้นพบเมทแอมเฟตามีนจากตัวจำเลยที่ 1 ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ โจทก์เพียงอ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ โจทก์เพียงอ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 ต่อศาลเท่านั้น มิได้อ้างส่งบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ต่อศาลด้วย ทำให้เป็นพิรุธน่าสงสัยว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การว่าอย่างไร ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุมโดยสมัครใจหรือไม่ ข้อเท็จจริงในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับคำเบิกความของพันตำรวจโท พ. และดาบตำรวจ ว. ในชั้นศาลหรือไม่ทั้จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมาก่อน กรณีจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 3 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง