คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 337 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนความผิดฐานกรรโชก: การรับมอบเงินค่าไถ่หลังความผิดสำเร็จ ไม่ถือเป็นความช่วยเหลือ
การที่ผู้เสียหายทั้งสี่ยินยอมมอบเงินค่าไถ่รถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่ให้แก่ ว. ผู้รับจำนำ ซึ่งรับจำนำรถยนต์ของผู้เสียหายทั้งสี่รวม 10 คัน ไว้จาก บ. โดยมิชอบ ตามที่ ว. ขู่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ผ่าน อ. ภริยาของ บ. ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่า หากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ยอมให้เงินค่าไถ่รถยนต์แก่ ว. ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้รถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 3 คืน และ ว. ยังขู่ผู้เสียหายที่ 4 ทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะต่อรองราคาค่าไถ่ว่าถ้าผู้เสียหายที่ 4 ไม่เอาราคานี้ก็ไม่ต้องเอา โดยจะนำรถของผู้เสียหายที่ 4 ไปแยกย่อยเอง ถือเป็นการขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายทั้งสี่ จนผู้เสียหายทั้งสี่จำต้องยินยอมจะให้เงินแก่ ว. เป็นค่าไถ่รถยนต์ตามที่ถูกข่มขืนใจ การกระทำของ ว. ย่อมครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะยังไม่ได้มอบเงินค่าไถ่รถยนต์ให้แก่ ว. จำเลยที่ 1 รับมอบหมายจาก ว. ให้มารับเงินค่าไถ่รถยนต์จากผู้เสียหายทั้งสี่หลังจากนั้น จึงมิใช่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนหรือขณะกระทำความผิดฐานกรรโชก เพราะการกระทำความผิดฐานกรรโชกของ ว. ได้สำเร็จเด็ดขาดไป ทั้งความผิดฐานกรรโชกมิได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ผู้เป็นคนกลางติดต่อรับมอบทรัพย์จากการกรรโชกหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จ เป็นความผิดที่ต้องรับโทษ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 86 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12222/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใช้เอกสารราชการปลอมข่มขู่เพื่อเอาทรัพย์สินเป็นความผิดฐานกรรโชกด้วย
จำเลยเข้าไปเกี่ยวข้องโดยผู้เสียหายว่าจ้างให้จำเลยมาช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ให้แก่ ณ. แต่จำเลยทำผิดหน้าที่โดยฉกฉวยโอกาสนำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้แสดงต่อ ณ. ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่า ณ. จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามสำเนาหมายจับปลอมดังกล่าว และผู้เสียหายยอมให้ทรัพย์สินแก่จำเลยไป แม้จำเลยจะไม่ได้แสดงการขู่เข็ญด้วยตัวของจำเลยเอง แต่การกระทำของจำเลยที่นำสำเนาหมายจับปลอมมาใช้ประกอบการขู่เข็ญ ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของ ณ. บุตรสาวผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22746/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขู่เรียกเงินจากผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง และการกระทำผิดฐานกรรโชกทรัพย์ โดยข้อเท็จจริงการจ่ายเงินหลังแจ้งความไม่มีผลต่อการลงโทษ
จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่วินรถจักรยานยนต์พูดว่า หากใครไม่จ่ายไม่ให้จอด ระวังจะจำเบอร์ไม่ได้ จำซอยไม่ได้ ขับเงียบ ๆ ใกล้จะหมดเวลาของพวกมึงแล้ว มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสามว่าอาจถูกทำร้าย หลังจากมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่ไม่มีการควบคุมตัวจำเลยในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายทั้งสามเกรงจะได้รับอันตรายและถูกห้ามขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในซอยเกิดเหตุจึงต้องจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ตามที่จำเลยเรียกร้อง แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายทั้งสามจำยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยวันละ 15 บาท ภายหลังมีการแจ้งความร้องทุกข์แล้วนั้น ปรากฏแต่ในทางพิจารณาโดยโจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในฟ้อง ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ จึงต้องห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยโดยอาศัยข้อเท็จจริงนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงลงโทษจำเลยได้แต่ในความผิดฐานพยายามกรรโชกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10262/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนใจเรียกทรัพย์ด้วยการแจ้งเท็จเรื่องการจับกุมและประกันตัว ไม่เข้าข่ายความผิดฐานกรรโชกทรัพย์เนื่องจากขาดองค์ประกอบการขู่เข็ญ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อุบายข่มขืนใจ อ. ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้จำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวน 80,000 บาท อันเป็นประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยจำเลยกับพวกขู่เข็ญ แจ้งเท็จแก่ อ. ว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจับไปโดยไม่ทราบข้อหา หากมีเงินสองแสนบาทจะเอาไปประกันตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง และบอกว่าจะช่วยเต็มที่ เป็นเหตุให้ อ. หลงเชื่อและเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงของผู้เสียหายยอมมอบเงิน 80,000 บาท ให้แก่จำเลยกับพวก เห็นว่า การที่จำเลยบอกว่าผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ย่อมไม่ใช่คำพูดที่เป็นการขู่เข็ญหรือข่มขู่ว่าจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ทั้งไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย คำบอกดังกล่าวบอกด้วยว่าหากมีเงินก็จะเอาไปประกันตัวผู้เสียหาย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าถ้าไม่มีเงินก็คงไม่ไปประกันตัวผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการตามกฎหมาย การขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือเจ้าพนักงานตำรวจจะให้ประกันผู้ต้องหาก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การข่มขู่หรือการขู่เข็ญ คำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบของการกระทำอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขู่เรียกทรัพย์ด้วยถ้อยคำทำให้เชื่อว่าจะเกิดอันตรายแก่ตนเองและครอบครัว ถือเป็นความผิดฐานกรรโชกสำเร็จ
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า "หากผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ให้ ผู้เสียหายกับบุตรภรรยาจะเดือดร้อนเพราะอายุยังน้อย" นั้น ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่เจ้าหนี้อาจพึงฟ้องลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่เป็นถ้อยคำที่สามัญชนโดยทั่วไปย่อมทราบและตีความได้ว่าเป็นคำพูดข่มขู่ว่าหากไม่ชำระหนี้ให้แล้วผู้เสียหายกับครอบครัวอาจถูกทำร้ายให้ได้รับความเดือดร้อนและเป็นอันตรายได้ถ้อยคำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายให้ต้องยินยอมชำระหนี้ให้แก่กลุ่มจำเลยทั้งห้าตามที่เรียกร้อง
กรณีที่มีการพูดโทรศัพท์ขู่เข็ญผู้เสียหาย จนผู้เสียหายกลัวกระทั่งยอมนัดหมายให้นำหลักฐานมาให้ดูและเตรียมเงินไปให้บางส่วน แม้ผู้เสียหายแวะปรึกษาหรือแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ทราบถึงเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนและครอบครัว ก็เป็นการแจ้งเพื่อขอความคุ้มครองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่ประชาชนพึงกระทำกันตามปกติภายหลังจากที่ผู้เสียหายยอมตามที่จำเลยข่มขู่ไปแล้ว กรณีไม่ใช่ผู้เสียหายไม่เกิดความกลัวและไม่ยอมทำตามการขู่เข็ญของจำเลยทั้งห้า ฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกรรโชกสำเร็จแล้ว ไม่ใช่อยู่ในขั้นพยายาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญา: การกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. และผลกระทบต่อการฟ้องคดี
ความผิดฐานกรรโชกและฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โดยเฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น เป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สิทธิฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง