คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 19 วรรคหนึ่ง (4)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4802/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีปุ๋ยเคมีปลอม: การแยกความผิดฐานขายและผลิต และผลของการมีคำสั่งไม่ฟ้องก่อนหน้านี้
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมให้แก่สหกรณ์การเกษตร ก. แตกต่างจากสำนวนการสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวในอีกคดีหนึ่งที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันนำปุ๋ยเคมีปลอมมาให้สหกรณ์การเกษตร ก. ขาย แต่การกระทำความผิดในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมของจำเลยทั้งสองที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้กับที่พนักงานอัยการวินิจฉัยเนื้อหาสาระแห่งคดีแล้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในอีกคดีหนึ่งดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดเดียวกัน มิใช่ความผิดใหม่หรือความผิดที่ต่อเนื่องกันมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวได้ จึงต้องห้ามมิให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์สอบสวนจำเลยทั้งสองในเรื่องร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมอันเป็นเรื่องเดียวกันนั้นอีกตาม ป.วิ.อ. มาตรา 147 ถือไม่ได้ว่าการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมเป็นการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมตามมาตรา 120
ความผิดฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีปลอมในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยว กับความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมที่เกิดขึ้นในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ เป็นความผิดสำเร็จในแต่ละกรรมแยกต่างหากจากกัน แม้จะเป็นกรณีความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ซึ่งทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเก้าเลี้ยวและพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ต่างอาจมีอำนาจสอบสวน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) แต่การที่กรมวิชาการเกษตรแยกกล่าวโทษแต่ละข้อหาความผิดต่อพนักงานสอบสวนที่ความผิดแต่ละข้อหาเกิดในเขตอำนาจ กับมีการสอบสวนในแต่ละข้อหาความผิดแยกต่างหากจากกัน จึงมิใช่เป็นกรณีที่มีพนักงานสอบสวนหลายท้องที่มาเกี่ยวข้องซึ่งต้องกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสอง การที่ ก. ผู้รับมอบอำนาจจากกรมวิชาการเกษตรไปร้องทุกข์ต่อพันตำรวจตรี ค. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอม พันตำรวจตรี ค. จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนของพันตำรวจตรี ค. ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีปลอมได้ตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญา: การกำหนดพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. และผลกระทบต่อการฟ้องคดี
ความผิดฐานกรรโชกและฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โดยเฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น เป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สิทธิฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญาหลายท้องที่: พนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับกุมและทำการสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบ
จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน โดยความผิดตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) กระทำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) กระทำลงในท้องที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปาง พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่ จ. ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องของการร้องทุกข์และจับกุมจำเลยที่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยเหตุเกิดที่หมู่บ้าน ก. ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ดังนั้น แม้จะมีการจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมจำเลยสำหรับการกระทำผิดอาญาคนละกรรมกับคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เมื่อมีการจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง