คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 169 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือบอกกล่าวการผิดนัดของผู้ค้ำประกัน, ผลของการบอกกล่าวไม่ถูกต้อง, และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญา
จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อจากโจทก์โดยตกลงชำระดอกเบี้ยโดยใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (BIBOR) (3 เดือน) บวกร้อยละ 3 ต่อปี และสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ: อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลอนดอน (LIBOR) บวกร้อยละ 3 ต่อปี แต่หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดจำเลยที่ 1 จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราสูงสุดตามประกาศการเรียกเก็บเงินให้กู้ยืมหรือหนี้ที่ผิดนัดชำระในช่วงเวลานั้น ๆ ของธนาคารที่ได้มีการประกาศเป็นคราว ๆ ตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายจากยอดเงินกู้หรือภาระหนี้ที่ผิดนัด โดยอัตราดอกเบี้ยผิดนัดขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 22.25 ต่อปี กรณีเช่นนี้จึงเป็นภาระชำระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นหลังจากผิดนัดชำระหนี้ ข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยเช่นนี้จึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายในรูปดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดไว้ล่วงหน้าอันถือเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจที่จะให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัดแก่โจทก์ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดโดยใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นกรุงเทพ (3 เดือน) บวกส่วนต่างร้อยละ 6 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประกาศตามช่วงระยะเวลามีผลใช้บังคับ แต่ทั้งนี้ไม่เกินร้อยละ 12 ต่อปี ถือว่าเป็นคุณและเหมาะสมแก่โจทก์แล้ว
กรณีหนี้ในส่วนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 กรณีจึงเป็นการที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดภายหลังวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ซึ่งมาตรา 686 วรรคหนึ่ง วรรคสอง ในการส่งคำบอกกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันนั้น ต้องพิจารณาประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนี่ง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จึงถือว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย แต่ในส่วนจำเลยที่ 3 นั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 อันเป็นเวลาพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ผิดนัด จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 184/165 แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่อยู่ของจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันและหนังสือรับรองระบุว่า จำเลยที่ 2 ตั้งอยู่เลขที่ 95 ประกอบกับในสัญญาค้ำประกัน ระบุว่า "ที่อยู่ของผู้ค้ำประกันที่ระบุไว้ข้างต้น เป็นที่อยู่ทางธุรกิจหรือที่อยู่อาศัยของผู้ค้ำประกันและจะถือว่าเป็น "ภูมิลำเนา" ตามกฎหมายตามลำดับ ที่ธนาคารจะใช้ในการจัดส่งการบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายไปยังผู้ค้ำประกัน และเพื่อจัดส่งเอกสารอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล การบอกกล่าว คำแถลง และจดหมายทั้งปวง (ไม่ว่าจัดส่งโดยวิธีไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไปรษณีย์ธรรมดาหรือโดยพนักงานส่งเอกสาร) ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันได้รับไปครบถ้วนแล้ว..." แสดงว่าโจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 ตามหนังสือรับรองถือว่ายังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่เคยส่งหนังสือบอกกล่าวไปตามที่อยู่ที่ระบุในหนังสือค้ำประกันหรือที่ตั้งของสำนักงานของจำเลยที่ 2 การบอกกล่าวโดยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกตามสัญญาค้ำประกัน สำหรับหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันนั้น โจทก์ระบุในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระหนี้ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 326,666.30 บาท และโจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งหกแล้ว แต่เมื่อพิจารณาจากเอกสารที่โจทก์นำสืบเกี่ยวกับหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนอง ปรากฏว่าโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบังคับจำนองเฉพาะหนี้สินเชื่อเพื่อการส่งออกและเป็นการบอกกล่าวก่อนที่จะเกิดหนี้ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวข้างต้น ถือว่าหนี้ในส่วนนี้โจทก์ยังไม่ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ผู้ค้ำประกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในหนี้ดังกล่าว ปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10808/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองที่ดิน-การบอกกล่าวบังคับจำนอง: การส่งทางไปรษณีย์ถือว่ามีผลเมื่อถึงภูมิลำเนา แม้ผู้รับไม่ได้รับ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 10933 และ 11652 ไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงฟ้องขอให้บังคับจำนอง จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้จำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไว้แก่โจทก์ เพียงแต่ต่อสู้ว่า โจทก์นำค่านายหน้าและดอกเบี้ยล่วงหน้ารวมเป็นต้นเงินเป็นการไม่ชอบ ถือว่าจำเลยรับแล้วว่าจำนองที่ดินทั้งสองแปลงไว้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่ต้องนำสืบหรือส่งพยานหลักฐานเกี่ยวกับการจำนองที่ดินทั้งสองแปลงต่อศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งโฉนดที่ดิน 11652 ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณา และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามนั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247
การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา..." ถ้อยคำว่า "ไปถึง" นั้น หมายความว่า ได้มีการแสดงเจตนาโดยมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้ แม้ขณะจดหมายบอกกล่าวไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้จะไม่พบลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงลูกหนี้โดยชอบแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 และมาตรา 169 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7144/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างก่อสร้างที่ชอบธรรมและการมีสิทธิเรียกค่าปรับเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา
โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยแล้ว แม้จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือตัวแทนของจำเลยมิได้เป็นผู้รับเอกสารนั้น การแสดงเจตนาแก่จำเลยผู้อยู่ห่างโดยระยะทางดังกล่าว ก็ถือว่าไปถึงผู้รับการแสดงเจตนาแล้ว ย่อมมีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคหนึ่ง อีกทั้งก่อนบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาหลายครั้ง การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงชอบ ถือได้ว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงในวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลย และเมื่อได้ความว่าโจทก์สงวนสิทธิในการเรียกค่าปรับไว้ก่อนบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย