คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ม. 26 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730-1731/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการขัดต่อสัญญาและไม่เป็นธรรม ศาลมีอำนาจปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดได้
อุทธรณ์ของผู้ร้องซึ่งกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องจึงมีอำนาจอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกันกับ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาด
สัญญาให้บริการโทรศัพท์พกพา (สัญญา TPS) ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านกำหนดสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านเกี่ยวกับที่มาและเงื่อนไขการคืนทรัพย์สินในกรณีผู้คัดค้านผิดสัญญาแล้ว ผู้ร้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาว่า ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือเงินคืนจากผู้ร้องและต้องส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้ร้องในสภาพที่ดีและใช้งานได้ในทันทีที่สัญญาสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดอีกว่ากรณีความเสียหายเกิดขึ้น ให้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเงินจากธนาคาร ผู้ออกหนังสือค้ำประกันทั้งหมดหรือบางส่วนตามแต่จะเห็นสมควรเพื่อชดใช้ค่าเสียหาย เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา และผู้คัดค้านยังมีหนี้ค้างชำระแก่ผู้ร้องอยู่ ย่อมถือว่าผู้ร้องได้รับความเสียหาย ภายหลังจากผู้ร้องบอกเลิกสัญญาแล้วสิทธิหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านในฐานะคู่สัญญาย่อมเป็นไปตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้ร้องรับมอบทรัพย์สินจากผู้คัดค้านและให้ผู้ร้องชดใช้มูลค่าทรัพย์สินแก่ผู้คัดค้าน โดยไม่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ รวมทั้งไม่กำหนดว่าหากผู้คัดค้านไม่สามารถส่งมอบคืนในสภาพที่ดีและใช้งานได้ให้ผู้คัดค้านใช้เงินแทนมูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน และการชี้ขาดให้ผู้ร้องคืนเงินค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้คัดค้านโดยไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องนำไปหักจากหนี้ที่ผู้คัดค้านยังค้างชำระแก่ผู้ร้องตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่เป็นตามสัญญา การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโครงการกิจการของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมงานฯ ทำให้สัญญาและคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ
กิจการจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ เป็นกิจการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็น "รัฐวิสาหกิจ" และเป็น "หน่วยงานเจ้าของโครงการ" มีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 (3) เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเข้าลักษณะเป็น "กิจการของรัฐ" และเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็น "โครงการ" ในกิจการของรัฐตามนัยของบทนิยามความหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และตามข้อตกลงในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติก็มีข้อตกลงในสาระสำคัญว่าผู้คัดค้านได้มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิที่จะดำเนินกิจการแทนผู้คัดค้านในการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งเข้าบทนิยามความหมายของคำว่า "ร่วมงานหรือดำเนินการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาคือผู้ร้องและผู้คัดค้านจะต้องกระทำภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เมื่อการทำสัญญาฉบับนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งขั้นตอนการเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 มาตรา 6 ถึงมาตรา 11 ตลอดจนขั้นตอนในส่วนของวิธีการดำเนินโครงการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตามความในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12 ถึงมาตรา 21 สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญา และย่อมส่งผลทำให้สัญญาข้อ 26 ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการให้จึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เป็นบทกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้การลงทุนในกิจการของรัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงไม่ตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และมาตรา 45 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาที่เกิดจากการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และศาลไม่ต้องบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านเป็นหน่วยงานทางปกครองที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายฝ่ายมหาชนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับผู้ร้องทั้งสาม ผู้คัดค้านทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่เป็นองค์กรนิติบุคคลข้อ 17 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 บัญญัติให้มีผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นผู้กระทำการในนามผู้คัดค้านในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การใช้อำนาจของผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยซึ่งกระทำการในนามผู้คัดค้านจะผูกพันผู้คัดค้านต่อเมื่ออยู่ภายใต้หลักความชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ นอกจากจะต้องอยู่ภายในขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จัดตั้งกำหนดไว้เป็นไปตามระเบียบวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและไม่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือกฎระเบียบและข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายแล้ว การใช้อำนาจของผู้คัดค้านจะต้องมิใช่เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือมีการบิดผันอำนาจทางหนึ่งทางใดอีกด้วย
ผู้คัดค้านโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า นิติกรรมหรือสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนหากมีการทำขึ้นเพราะกลฉ้อฉลก็เป็นเพียงโมฆียะ เมื่อไม่มีการบอกล้าง ก็ไม่ทำให้สัญญาจ้างดังกล่าวตกเป็นโมฆะนั้นไม่ชอบ โดยผู้คัดค้านอ้างทำนองเดียวกันกับที่ได้ยกข้อต่อสู้ไว้แล้วว่า ในการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน มีการทุจริตและประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมมือกับผู้ร้อง โดยเฉพาะ ศ. ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของผู้คัดค้านในขณะนั้นและเป็นผู้ลงนามในสัญญาจ้างดังกล่าวในนามผู้คัดค้านกระทำโดยมิชอบหลายประการ ทั้ง ศ. และเจ้าหน้าที่อื่นและเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยอื่น ๆ รับประโยชน์จากผู้ร้อง สัญญาจ้างดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ เป็นการกล่าวอ้างว่า การใช้อำนาจของ ศ. และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นดังกล่าวกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 ซึ่งเป็นกฎหมายฝ่ายมหาชน เป็นการโต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งผู้คัดค้านย่อมอุทธรณ์ได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2) ซึ่งบัญญัติไว้อย่างเดียวกับพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 26 (2) ศ. ช่วยเหลือผู้ร้องโดยเห็นแก่ประโยชน์ที่ผู้ร้องจัดให้จึงถือว่าการใช้อำนาจในฐานะผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยของ ศ. ที่ลงนามในสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขณะเดียวกันการที่ผู้ร้องเพิ่มทุนและจัดสรรหุ้นของบริษัท ท. ให้แก่ ศ. กับเจ้าหน้าที่ของรัฐคนอื่นมีสิทธิซื้อหุ้นในฐานะผู้มีอุปการะคุณก่อนทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนถือได้ว่าผู้ร้องได้ให้ผลประโยชน์แก่ ศ. และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วน โดยเอื้อประโยชน์แก่ผู้ร้อง กรณีต้องถือว่า ในการทำสัญญาดังกล่าวของผู้ร้อง ผู้ร้องใช้สิทธิโดยไม่สุจริต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนซึ่งเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันผู้คัดค้าน คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินให้แก่ผู้ร้องตามสัญญาที่เกิดขึ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวนั้นหากศาลบังคับให้ตามคำชี้ขาดนั้นย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลชั้นต้นจะปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ดังนั้นคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่บังคับตามคำชี้ขาดขออนุญาตโดยตุลาการดังกล่าวจึงฝ่าฝืนต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2466/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าที่ดินเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครอง พ.ร.บ.เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากไม่มีพระราชกฤษฎีกาควบคุม
ผู้ร้องเช่าที่ดินพิพาทเพื่อดำเนินธุรกิจฟาร์มเพาะพันธุ์ปลา มิได้เช่าที่ดินพิพาทเพื่อใช้ทำนา จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้เช่านาตามความหมายในพ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 แต่เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น จึงต้องนำมาตรา 63 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาใช้บังคับซึ่งมีใจความว่ากรณีที่รัฐบาลเห็นสมควรให้มีการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นนอกจากการเช่านา ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่จนบัดนี้ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการควบคุมการประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นใดอีก ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ที่ คชก.ตำบล และ คชก.จังหวัดจะพิจารณาได้ ดังนั้นคำชี้ขาดของ คชก.จังหวัดนครนายกที่ให้ผู้คัดค้านขายที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้องจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลชั้นต้นต้องปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 58 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 24 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก.จังหวัดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเป็นคำพิพากษาที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้คัดค้านทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามข้อยกเว้นของมาตรา 26 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการพ.ศ.2530