คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15079/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัมปทานเก็บรังนก: โครงการประมูลไม่ถึง 1 พันล้านบาท ไม่ต้องใช้ PPA สัญญาชอบด้วยกฎหมาย
สัมปทานเก็บรังนกในเขตพื้นที่จังหวัดชุมพรตามประกาศคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดชุมพรได้แบ่งพื้นที่การประมูลเงินอากรรังนกอีแอ่นออกเป็น 5 พื้นที่ การยื่นซองประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นได้กำหนดให้ผู้เสนอประมูลจะต้องเสนอประมูลเงินอากรเก็บรังนกอีแอ่นในแต่ละพื้นที่ในเขต 5 พื้นที่ดังกล่าวไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังมีการทำสัญญาสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นแยกต่างหากจากกันในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวด้วย ดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ประกาศคณะกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดชุมพร มีการลงทุนในกิจการของรัฐแยกออกเป็น 5 โครงการ ทั้งห้าโครงการมีการประมูลได้รวมเกินหนึ่งพันล้านบาทตามที่จำเลยทั้งสามอ้าง แต่เมื่อสัญญาแต่ละฉบับประมูลได้ไม่เกินฉบับละหนึ่งพันล้านบาท โจทก์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการสัมปทานเก็บรังนกในเขตพื้นที่โจทก์ จึงไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโครงการกิจการของรัฐที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมงานฯ ทำให้สัญญาและคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ
กิจการจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ เป็นกิจการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็น "รัฐวิสาหกิจ" และเป็น "หน่วยงานเจ้าของโครงการ" มีอำนาจหน้าที่ที่จะกระทำได้ตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 (3) เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงเข้าลักษณะเป็น "กิจการของรัฐ" และเป็นกิจการที่มีเงินลงทุนหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็น "โครงการ" ในกิจการของรัฐตามนัยของบทนิยามความหมายต่างๆ ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และตามข้อตกลงในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติก็มีข้อตกลงในสาระสำคัญว่าผู้คัดค้านได้มอบหมายให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเอกชนลงทุนแต่ฝ่ายเดียวโดยวิธีการอนุญาตหรือให้สิทธิที่จะดำเนินกิจการแทนผู้คัดค้านในการดำเนินการเกี่ยวกับกิจการของรัฐ ซึ่งเข้าบทนิยามความหมายของคำว่า "ร่วมงานหรือดำเนินการ" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 ด้วย สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาคือผู้ร้องและผู้คัดค้านจะต้องกระทำภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เมื่อการทำสัญญาฉบับนี้มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งขั้นตอนการเสนอโครงการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 2 มาตรา 6 ถึงมาตรา 11 ตลอดจนขั้นตอนในส่วนของวิธีการดำเนินโครงการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วตามความในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12 ถึงมาตรา 21 สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติจึงกระทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 จึงเป็นสัญญาที่ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญา และย่อมส่งผลทำให้สัญญาข้อ 26 ซึ่งเป็นข้อตกลงส่วนหนึ่งในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเพื่อชี้ขาดไม่มีผลบังคับใช้ไปด้วย ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ 4 ธันวาคม 2543 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดจึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ข้อพิพาทนั้น กรณีย่อมเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการให้จึงเป็นการพิพากษารับบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และเนื่องจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เป็นบทกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ให้การลงทุนในกิจการของรัฐที่มีวงเงินลงทุนสูงไม่ตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของบุคคลผู้เดียวหรือหน่วยงานเดียว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศชาติ ซึ่งเป็นบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 26 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และมาตรา 45 (2) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยตรงต่อศาลฎีกาได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (2)