คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ฎ.ออกตามความในป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 ม. 4 (6)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี หลังรับโอนกรรมสิทธิ์จากสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 16 แห่ง ป. รัษฎากร บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานประเมินหมายความว่าบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง" ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 35) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ข้อ 1 กำหนดว่า "ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร" ดังนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจประเมินรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่ง ป.รัษฎากร เท่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน หรือประเมินภาษีโดยใช้บทบัญญัติมาตราอื่น ๆ และตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บค่าภาษีดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของสำนักงานที่ดินจังหวัด มิใช่กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารตกลงรับโอนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินเลขที่ 7670, 7671, 7672 และ 7673 ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ และให้สิทธิโจทก์ซื้อกลับคืนจากธนาคารภายใน 4 ปี นับแต่วันโอนชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นกรณีธนาคารให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะขายที่ดินนั้นคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 ทั้งรูปแบบนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่โฉนดจากธนาคาร ก. แก่โจทก์ ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการไถ่ทรัพย์ขายฝากคืนแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อที่ดินคืนจากธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลง นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7671, 7672 และ 7673 ให้แก่บริษัท ล. จำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงนับได้เพียง 1 ปี จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม มาตรา 91/2 แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4 (6) แห่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3794/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ การงดเบี้ยปรับ และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
หนังสือขอเชิญพบโจทก์ทั้ง 2 ครั้ง ไม่ใช่หมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนเป็นเพียงหนังสือขอให้นำเอกสารหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าพนักงานของจำเลยเพื่อประเมินภาษี และโจทก์มิได้รับหนังสือดังกล่าว เพราะโจทก์ย้ายที่อยู่ใหม่ จะถือว่าโจทก์ไม่ได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษียังฟังไม่ได้ถนัด
โจทก์ถือครองที่ดินในระยะเวลานานพอสมควรและขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์อุทธรณ์การประเมินเพราะมีเหตุอันควรเชื่อว่าไม่ต้องเสียภาษี ถือว่าโจทก์ไม่มีเจตนาจะหลีกเลี่ยงการชำระภาษีตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน
โจทก์ได้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มแก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ยังคงค้างชำระเบี้ยปรับและภายหลังจากโจทก์ยื่นฟ้องคดี โจทก์ยังได้ชำระภาษีให้แก่จำเลยอีกบางส่วน พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามการประเมิน แม้ขณะที่มีการประเมิน คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 127/2546 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2546 ซึ่งกำหนดแนวทางให้จำเลยงดเบี้ยปรับภาษีได้นั้นจะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่คำสั่งดังกล่าวกำหนดเพื่อเป็นการบรรเทาภาระเบี้ยปรับให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและได้ขายอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 ถึงวันที่ 30 มกราคม 2542 เมื่อโจทก์ขายที่ดินในวันที่ 18 มีนาคม 2537 และกรณีของโจทก์ยังไม่ยุติตามการประเมิน คำสั่งนี้จึงนำมาเป็นเหตุผลประกอบในการพิจารณาบรรเทาเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ได้