พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9284/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลอุทธรณ์ในคดีรื้อฟื้นคดีอาญาถือเป็นที่สุด ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
การร้องขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 นั้น มาตรา 8 ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้อง แล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาคำร้องของศาลอุทธรณ์ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น" และวรรคสอง บัญญัติว่า "คำสั่งศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด" เมื่อคดีอยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งรับคำร้องของผู้ร้องทั้งสองหรือไม่ตามมาตรา 10 ดังกล่าว มิใช่กรณีที่มีการพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาตามมาตรา 13 ที่จะฎีกาได้ตามมาตรา 15 (2) ดังนั้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสองไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่และให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาได้ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องทั้งสองมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรื้อฟื้นคดีอาญาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ชัดเจนและสำคัญแสดงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด การชี้ว่าที่ดินเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่ใช่เหตุเพียงพอ
แม้คดีอันมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องฐานบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่คำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ลงโทษผู้ร้องตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ, 108 ตรี โดยมาตรา 9 เป็นบทบัญญัติห้ามบุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 9 นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ใช้บังคับในวันที่ 4 มีนาคม 2515 โดยมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่ได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสาม เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์ในคดีดังกล่าว ซึ่งมี ส. ผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และ น. นายอำเภอหาดใหญ่เบิกความประกอบกับบันทึกการประชุมได้ความว่า ที่ดินเหมืองฉลุงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นที่ดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี อีกทั้งแม้จะฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ก็ย่อมถือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเคยมีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2534 ถึงผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ขอผ่อนผันอยู่ในที่ดินไปจนกว่าจะเก็บพืชผลที่ลงทุนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียก่อน อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครอง เมื่อผู้ร้องบุกรุกครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองย่อมเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ร้องตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการระบุในฟ้องว่าบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ว่าประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นเพียงรายละเอียด และเป็นเพียงบทลงโทษหนักขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนขององค์ประกอบความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น ได้กำหนดโทษจำคุกและปรับแก่ผู้ร้องภายในระวางโทษตามป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่จะแสดงว่าผู้ร้องซึ่งต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5121/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลอุทธรณ์ในชั้นรื้อฟื้นคดีอาญาเป็นที่สุด ไม่สามารถฎีกาได้
เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้พิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องของศาลอุทธรณ์นั้น มาตรา 10 วรรคสองกำหนดให้คำสั่งรับคำร้องหรือคำสั่งยกคำร้องของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด เมื่อคดีนี้อยู่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นของศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาสั่งรับคำร้องของผู้ร้องหรือไม่ มิใช่กรณีที่มีการพิจารณาคดีใหม่แล้วมีคำพิพากษาตามมาตรา 13 ที่จะฎีกาได้ตามมาตรา 15 (2) ดังนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่วินิจฉัยว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่และให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดตามบทบัญญัติมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการรื้อฟื้นคดีอาญา: สามีขอรื้อฟื้นคดีแทนภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ และอำนาจศาลในการสั่งรับคำร้อง
ผู้ร้องเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แทนจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขั้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (4)
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ มิได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ การมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ มิได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ การมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6883/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรื้อฟื้นคดีอาญา: การเลื่อนคดีซ้ำๆ แสดงถึงการประวิงคดี ศาลมีสิทธิไม่อนุญาตให้เลื่อน
ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 วรรคหนึ่งบัญญัติให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตามมาตรา 8 ทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ โดยมาตรา 16 ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน และกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหารมาใช้บังคับแก่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พระราชบัญญัตินี้โดยอนุโลม ดังนั้นการพิจารณาว่าคำร้องขอเลื่อนคดีของผู้ร้องมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่จึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องสองนัดแรก ทนายความของผู้ร้องมอบฉันทะให้เสมียนทนายมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าผู้ร้องป่วยไม่สามารถมาศาลได้ และระบุในคำร้องนัดที่ 2 ว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังมีอาการป่วยมาศาลไม่ได้ก็จะขอถอนคำร้องเสียศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนและกำชับให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบในนัดหน้า แต่เมื่อถึงวันนัดทนายความของผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าผู้ร้องป่วยเนื่องจากกระดูกต้นคองอกทับเส้นประสาทพึ่งได้รับการผ่าตัด มีอาการมึนงงไม่สามารถตอบคำถามได้และไม่สามารถลุกนั่งได้ด้วยตนเอง และรับรองว่าหากนัดต่อไปผู้ร้องยังไม่สามารถมาศาลได้ขอให้ถือว่าผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบและยกคำร้องของผู้ร้องเสีย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนไปอีก รวมระยะเวลาที่อนุญาตให้เลื่อนคดีเป็นเวลาถึง 6 เดือนเศษ นับได้ว่าศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีโดยให้โอกาสแก่ผู้ร้องอย่างมากแล้วแต่ผู้ร้องกลับยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในการไต่สวนคำร้องนัดที่ 4 โดยอ้างเหตุผลอย่างเดิมอีกพฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้ให้ความสนใจต่อการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล การที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าผู้ร้องจงใจประวิงคดีให้เนิ่นช้าและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีจึงชอบแล้ว มาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ หาได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ด้วยไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของผู้ร้องว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่โดยทำความเห็นและส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณา จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ฯ มาตรา 9 วรรคสาม แล้ว