คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ม. 36

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15502/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางทะเล
ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเสมอไป ผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบจึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ส่งมอบใบตราส่งซึ่งระบุชื่อผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ก็ปรากฏตามใบตราส่งว่ามีการลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท ฮ. ผู้มีชื่อเป็นผู้รับตราส่งที่ด้านหลังใบตราส่งและไม่ได้เวนคืนใบตราส่งแก่จำเลย แต่ได้ส่งมอบใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ ถือว่าผู้ซื้อได้มีการสลักหลังลอยลงในใบตราส่งโอนสิทธิตามใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยผู้ขนส่งได้ไม่ว่าโจทก์จะเป็นคู่สัญญาในสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 เป็นเรื่องที่ผู้ส่งของสั่งผู้ขนส่งให้งดการส่งของ ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการของนั้นเป็นประการอื่นใดก่อนจะขนส่งออกไปถึงท่าปลายทางหรือก่อนจะส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งผู้ส่งของต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแก่ผู้ขนส่ง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการขนส่งตามสัญญาที่ระบุในใบตราส่งอันถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล การใช้สิทธิของผู้ส่งของตามมาตรา 36 นี้ ผู้ส่งของต้องยังเป็นผู้ยึดถือครอบครองใบตราส่งอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะมีใบตราส่งเวนคืนแก่ผู้ขนส่งได้ มาตรา 36 ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการที่ของหรือสินค้าที่ขนส่งสูญหายซึ่งปรากฏเมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วอย่างในคดีนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 36 ที่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง
โจทก์ผู้ส่งของได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปทั้งหมด ถือว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลย และไม่ปรากฏเหตุตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงใบตราส่ง ตามมาตรา 39 และ 43 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
การรับขนส่งสินค้าของจำเลยเป็นแบบ "CFS/CFS" ที่จำเลยมีหน้าที่นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้สินค้า และสินค้าตามคำฟ้องมีจำนวนน้อย มีโอกาสที่จะมีการบรรจุสินค้าของบุคคลอื่นอีกจำนวนมากที่นำเข้ารวมไว้ในตู้สินค้านี้ ความผิดพลาดในการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าจึงอาจเกิดขึ้นได้ การไม่ได้นำสินค้าบรรจุเข้าตู้สินค้าจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือตัวแทนซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิด แต่เมื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงว่าจำเลยหรือตัวแทนมีพฤติการณ์อื่นใดที่ถึงขนาดเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะรับฟังได้ว่า เป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ในการดูแลรักษาสินค้าที่ขนส่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยหรือตัวแทนทั้งที่รู้ว่าการสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ความรับผิดของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 58 จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดคือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยควรส่งมอบสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้รับขนส่งทางทะเล, สินค้าเสียหาย, การขายทอดตลาด, การพิสูจน์ความเสียหาย, ข้อจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าพิพาทไป แต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้า หรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรก จนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องเป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ได้หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายเมื่อสินค้าพิพาทตามใบตราส่งคือาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 หน่วยการขนส่งในการขนสั่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 ยาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6512/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาขนส่งทางทะเล: ใช้ พ.ร.บ.การรับขนฯ และ ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยทางเรือเดินทะเล โดยจำเลยจะรับตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากโจทก์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลย แล้วนำกลับมาส่งมอบแก่โจทก์ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้โจทก์ดำเนินการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศ และโจทก์ได้นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าของจำเลยไปฝากไว้ยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเตรียมการขนส่งทางเรือ เมื่อจำเลยได้ขอยกเลิกการส่งสินค้าโดยขอรับตู้คอนเทนเนอร์กลับไปขนสินค้าออกแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าส่งคืนโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตาม พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ผู้ขนส่งได้เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่งให้แก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน และเมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี มาใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (3) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ไม่อาจนำมาใช้บังคับกับการรับขนของทางทะเลในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5402/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องของคู่สัญญารับขนของทางทะเล แม้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าไปแล้ว และข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
ใบตราส่งเป็นเอกสารที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ผู้ส่งของเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเลแสดงว่าผู้ขนส่งได้รับของตามที่ระบุในใบตราส่งไว้ในความดูแลแล้ว โจทก์จึงเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลกับจำเลย เมื่อปรากฏว่าของที่ระบุไว้ในใบตราส่งซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยได้รับความเสียหาย แม้โจทก์จะได้ส่งสินค้าคืนให้แก่ผู้ขายไปโดยโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้านั้นต่อไปแล้วก็ไม่มีผลทำให้ความผูกพันตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นผลบังคับ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อปรากฏว่ายังไม่มีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งได้รับความเสียหายไม่ได้รับชำระราคาสินค้าคืน โจทก์ในฐานะเป็นคู่สัญญารับขนของทางทะเลจึงชอบที่จะฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามสัญญารับขนของทางทะเลได้ จำเลยจะอ้างว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในสินค้าจึงไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
ตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 การจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มิให้ใช้บังคับแก่การสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของผู้ขนส่งกระทำหรืองดการกระทำโดยมีเจตนาที่จะให้เกิดการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้าหรือโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าการสูญหาย เสียหายหรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าสินค้าได้รับความเสียหายจากลังสินค้าตกจากรถยกในระหว่างการขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ หาใช่เกิดจากการที่โจทก์บรรจุหีบห่อสินค้าไม่แข็งแรงดังที่จำเลยให้การและนำสืบต่อสู้คดีไม่ และฟังได้ว่าสาเหตุแห่งความเสียหายของสินค้าเกิดจากการใช้รถยกขนย้ายสินค้าเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์โดยปราศจากความระมัดระวังอย่างมากและโดยไม่นำพาต่อความเสียหายใด ๆ ที่ย่อมเกิดขึ้นแก่สินค้าจากการขนย้ายเปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าจึงเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่งคือจำเลยหรือตัวแทนเป็นผู้กระทำโดยละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยจะนำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาใช้บังคับหาได้ไม่