คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 77

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 199 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตสินค้าทางภาษีอากร: การแปรรูปลวดเป็นลวดเสียบกระดาษถือเป็นการผลิตและต้องเสียภาษี
ผู้ผลิตตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 77 นั้น รวมถึงการที่ผู้ใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ด้วยซึ่งอาจใช้วัตถุดิบของสินค้าเดิมมาทำเป็นสินค้าใหม่โดยไม่แปรเปลี่ยนสภาพของสินค้าเดิมก็ได้ และไม่จำต้องคำนึงว่าสินค้าใหม่นั้นอาจแปรเปลี่ยนกลับคืนมาเป็นสินค้าเดิมได้หรือไม่ การที่โจทก์ใช้ลวดซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่โจทก์ซื้อมาเข้าเครื่องปั๊มออกมาเป็นลวดเสียบกระดาษซึ่งเป็นสินค้าใหม่ โดยลวดซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นยังมีสภาพเป็นลวดเช่นเดิมอยู่เพียงแต่ใช้เครื่องปั๊มตัดและดัดงอให้อยู่ในสภาพเป็นของใช้เสียบกระดาษแล้วนำไปจำหน่าย ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษ คำว่า "ของใช้" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525หมายถึง "ของสำหรับใช้" เป็นที่เข้าใจของคนทั่ว ๆ ไปว่าประชาชนทั่วไปที่มีของนั้นอยู่สามารถนำของนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพังไม่ต้องนำไปประกอบกับของสิ่งอื่นเสียก่อน ลวดเสียบกระดาษที่พิพาทผู้ใดมีอยู่ในความครอบครองสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง จึงเป็นของใช้ตามบัญชี 1 หมวดที่ 9 ท้ายพระราชกฤษฎีกา ออกตามความใน ประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ลวดเสียบกระดาษผลิตจากโลหะเคลือบจึงเป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบอันเข้าลักษณะสินค้าอื่น ๆ ในหมวด 9 บัญชีที่ 1 ท้าย พระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวแต่โจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักร จึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ9 ของรายรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 859/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตสินค้าทางภาษี: การใช้ลวดทำลวดเสียบกระดาษถือเป็นการผลิตสินค้าและเป็นของใช้ที่ต้องเสียภาษี
การที่จะถือว่าผู้ใดเป็นผู้ผลิตตาม ประมวลรัษฎากร มาตรา 77นั้น นอกจากจะหมายถึงว่า ผู้นั้น ทำการเกษตร หรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบแปรรูป แปรสภาพสินค้า แล้วยังให้รวมถึงการที่ผู้ใดทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ด้วย ซึ่งการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้าดังกล่าวนั้น มีความหมายว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดสินค้าใหม่ขึ้นมา ซึ่งอาจใช้วัตถุดิบของสินค้าเดิมมาทำเป็นสินค้าใหม่โดยไม่แปรเปลี่ยนสภาพของสินค้าเดิมก็ได้และไม่จำต้องคำนึงว่าสินค้าใหม่นั้นอาจแปรเปลี่ยนกลับคืนมาเป็นสินค้าเดิมได้หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์ใช้ลวดซึ่งเป็นสินค้าเดิมที่โจทก์ซื้อมาเข้าเครื่องปั๊มออกมาเป็นลวดเสียบกระดาษซึ่งเป็นสินค้าใหม่โดยลวดซึ่งเป็นวัตถุดิบนั้นยังมีสภาพเป็นลวดเช่นเดิมอยู่ เพียงแต่ใช้เครื่องปั๊มตัดและดัดงอให้อยู่ในสภาพเป็นของใช้เสียบกระดาษตามที่โจทก์ต้องการแล้วนำสินค้าลวดเสียบกระดาษนั้นไปจำหน่ายทั่วไปถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษตาม มาตรา 77 ตามบัญชีที่ 1 หมวดที่ 9 ได้กำหนดลักษณะของสินค้าอื่น ๆ ไว้ว่า"เครื่องมือ เครื่องใช้...ของใช้ใด ๆ ทั้งนี้เฉพาะที่ผลิตจาก...โลหะหรือโลหะเคลือบอย่างใดอย่างหนึ่ง..." และคำว่า "ของใช้"นั้น ประมวลรัษฎากรไม่ได้วิเคราะห์ศัพท์ไว้ แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่าของใช้ไว้ว่า"ของสำหรับใช้" ซึ่งเป็นที่เข้าใจของคนทั่ว ๆ ไปว่า ของใช้ที่ว่านี้ประชาชนทั่วไปที่มีของนั้นอยู่สามารถนำของนั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง ไม่ต้องนำไปประกอบกับสิ่งของอื่นเสียก่อนจึงจะนำไปใช้ได้ สำหรับลวดเสียบกระดาษรายนี้ ผู้ใดมีอยู่ในความครอบครองย่อมสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีโดยลำพัง จึงเป็นของใช้ตามบัญชีที่ 1 ดังกล่าว เมื่อได้ความว่าลวดเสียบกระดาษนี้ผลิตจากโลหะเคลือบจึงเป็นของใช้ผลิตจากโลหะเคลือบอันเข้าลักษณะสินค้าอื่น ๆ ในหมวด 9 บัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 แต่โจทก์ผลิตขายในราชอาณาจักร จึงต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 9 ของรายรับ คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตลวดเสียบกระดาษหรือไม่และลวดเสียบกระดาษเป็นของใช้หรือไม่ เมื่อตามคำฟ้องและคำให้การฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผลิตสินค้าลวดเสียบกระดาษ และคำฟ้องโจทก์กับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญได้ความว่า ลวดเสียบกระดาษรายนี้เป็นของใช้ที่ผลิตจากโลหะเคลือบ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงย่อมเพียงพอที่ศาลจะพิพากษาได้แล้ว แม้จะทำการสืบพยานคู่ความต่อไปก็ไม่อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นเปลี่ยนแปลงไป คดีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะทำการสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป ศาลภาษีอากรกลางชอบที่จะสั่งงดสืบพยานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3775/2535

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีสินค้าพลาสติก: สินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างหรือพลาสติกเป็นผืน และอัตราภาษีที่ถูกต้อง
ผลิตภัณฑ์สินค้าของโจทก์เป็นแผ่น พี.วี.ซี หรือแผ่นพลาสติกนิ่มมีความเหนียวแน่นทนทาน กว้าง 2 เมตร ยาว 20-30 เมตร หนา1-1.5 มิลลิเมตร โจทก์ผลิตขึ้นด้วยความประสงค์เพื่อให้ผู้ใช้สินค้านำไปใช้ประโยชน์เป็นวัสดุสำหรับปูพื้นอาคารและปิดผนังอาคารโดยเฉพาะการที่มีผู้นำไปใช้ประกอบเป็นสินค้า เช่น รองเท้า กระเป๋าที่รองจานเป็นเพียงผลพลอยได้ที่นอกเหนือจากความประสงค์ของโจทก์สินค้าของโจทก์จึงจัดเป็นวัตถุก่อสร้างและเครื่องเรือนเข้าลักษณะสิ่งปูลาดตามความหมายในหมวด 4(7) บัญชีที่ 1 ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งมิได้รับการลดหย่อนภาษีการค้า ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 9 ของรายรับตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 1. การขายของชนิด 1(ก) ในประมวลรัษฎากร ไม่อาจจัดเป็นสินค้าพลาสติกเป็นผืนประเภท ผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับหรือเครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์เครื่องแต่งกายในหมวด 2(2) ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าเพียงอัตราร้อยละ 7 ของรายรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5766/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดประเภทภาษีการค้าและภาษีเงินได้ของตัวแทนจำหน่ายต่างประเทศ โดยพิจารณาจากลักษณะการกระทำและผลประโยชน์ที่ได้รับ
การที่จะพิจารณาว่าผู้ประกอบการค้าจะต้องเสียภาษีในประเภทการค้าใด ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้า ท้ายหมวด 4 ตาม ป.รัษฎากรนั้น จะต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้กระทำการของผู้ประกอบการค้าที่เกิดขึ้นแล้วว่าลักษณะของการกระทำเช่นนั้น เข้าในลักษณะของการประกอบการค้าในประเภทใดตามที่กฎหมายกำหนด จะเอาวัตถุที่ประสงค์ในตราสารของผู้ประกอบการหรือการที่มีบทกฎหมายอื่นบัญญัติเป็นข้อห้ามมิให้กระทำการนั้น มาเป็นตัวกำหนดในการวินิจฉัยว่าผู้ประกอบการค้าได้กระทำการประกอบการค้าที่จะต้องเสียภาษีการค้าในประเภทใดนั้น ย่อมไม่ได้ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 78 วรรคแรก กรณีของโจทก์นั้นมีข้อพิจารณาจากการกระทำที่เกิดขึ้นแล้ว 3 ประการด้วยกันคือ ข้อปฏิบัติของโจทก์กับบริษัท อ. ข้อปฏิบัติของโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและข้อปฏิบัติขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับบริษัท อ.ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท อ.ในการปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวนั้น บริษัท อ.จะส่งใบแจ้งราคาและแคตตาล็อกมาให้โจทก์โดยไม่คิดเงิน โจทก์จะต้องจัดให้มีห้องแสดงสินค้าของบริษัท อ.ด้วย และต้องไม่ขายสินค้าชนิดเดียวกันแข่งขันกับบริษัท อ.ทั้งห้ามมิให้โจทก์ส่งสินค้าไปจำหน่ายยังประเทศอื่นและจะเปิดเผยความลับทางธุรกิจให้ผู้อื่นทราบไม่ได้ ส่วนในการที่โจทก์ทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น ราคาสินค้าที่โจทก์จำหน่ายเป็นราคาที่บริษัท อ.เป็นผู้กำหนด องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท อ.และบริษัท อ.จะรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องของสินค้า การซ่อมแซมสินค้าดังกล่าว บริษัท อ.จะส่งช่างเข้ามาซ่อมในประเทศไทยหรือส่งสินค้าไปให้บริษัท อ.ซ่อมที่ประเทศสวีเดนก็ได้และการจ่ายเงินตามสัญญาระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้นองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจ่ายให้แก่บริษัท อ.ในประเทศสวีเดน โดยธนาคารโลกเป็นผู้จ่ายให้ในนามขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จากนั้นบริษัท อ.จะส่งราคาส่วนต่างระหว่างราคาตามที่ระบุไว้กับองค์การโทรศัพท์กับราคาที่โจทก์กำหนดไว้กับบริษัท อ.มาให้โจทก์ในประเทศไทย สำหรับสัญญาที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น โจทก์มิใช่เป็นผู้ที่จะได้รับเงินค่าสินค้าตามสัญญาจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการออกของและค่าใช้จ่ายในการขนส่งภายในประเทศรวมทั้งรับผิดชอบในการจัดเก็บอุปกรณ์ด้วย โจทก์ไม่มีหน้าที่อะไรจะต้องปฏิบัติเกี่ยวกับตัวสินค้าที่กำหนดในสัญญา ส่วนองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยคงมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องส่งเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท อ.และได้ส่งให้ตามสัญญาโดยครบถ้วนแล้ว การกระทำของทั้งสามฝ่ายดังที่กล่าวข้างต้นนั้น ฝ่ายใดจะถือว่าเป็นผู้ขายหรือผู้ซื้อหรือตัวแทนของฝ่ายใดนั้นจะต้องพิจารณาจากความหมายของคำว่า "ขาย" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากรมาตรา 77 เสียก่อน ซึ่งจะเห็นได้ว่า คำว่า ขาย นั้น จะต้องมีประโยชน์ตอบแทนด้วย และประโยชน์ตอบแทนในความหมายของมาตรานี้ก็คือราคาอันผู้ประกอบการค้าพึงได้รับจากทรัพย์สินตามราคาตลาดของทรัพย์ตามที่กำหนดไว้ในความหมายของคำว่า "มูลค่า" ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นนั้น บริษัท อ.มิได้รับประโยชน์ตอบแทนจากโจทก์ตามมูลค่าของสินค้าที่มีการขายเลย กลับจะต้องจ่ายเงินให้โจทก์ตามราคาส่วนต่างที่ตกลงกันไว้การกระทำระหว่างโจทก์กับบริษัท อ.จึงมิใช่ลักษณะของคำว่าขายตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีการขายระหว่างกันเสียแล้วเช่นนี้ กรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท อ.จึงเรียกไม่ได้ว่าเป็นผู้ซื้อและผู้ขายในระหว่างกันและตามสัญญาที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งได้ปฏิบัติต่อกันเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น โจทก์มิได้รับเงินจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นคู่สัญญาตามมูลค่าของสินค้าที่ระบุไว้ในฐานะที่เป็นของตนเองแต่ประการใดข้อปฏิบัติมีการขายระหว่างกัน โจทก์จะนำการกระทำที่ปฏิบัติกันไปแล้วเช่นนั้นมาอ้างว่า กรณีเช่นนี้ตนเป็นผู้ประกอบการค้า ประเภทประกอบการขายของไม่ได้แต่คำว่า ขายนั้นมีขึ้นระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยกับบริษัท อ.เท่านั้นโจทก์เป็นเพียงผู้ได้รับประโยชน์บางส่วนในจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าของการขายระหว่างคู่กรณี โดยโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนประมาณร้อยละ 4 ของราคาขายมิได้รับค่าตอบแทนที่เป็นส่วนในมูลค่าของสินค้าที่ขายกัน และในกรณีเช่นนี้โจทก์จะไม่มีทางขาดทุนในการขายเลย อันเป็นการผิดหลักของการค้าขายโดยทั่วไปที่อาจจะต้องมีทั้งกำไรและขาดทุน ค่าตอบแทนของโจทก์ในลักษณะอย่างนี้เป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนในการเป็นตัวแทนที่เข้าทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแทนบริษัท อ.นั่นเอง จึงต้องถือว่ากรณีที่เป็นข้อพิพาทกันนี้โจทก์กระทำการประกอบการค้าในประเภทการค้า 10 นายหน้าและตัวแทนตามบัญชีอัตราภาษีการค้า
การกระทำของโจทก์ในอาณาเขตของประเทศไทย โจทก์จะต้องจัดให้มีห้องแสดงสินค้าของบริษัท อ.ต้องไม่ขายสินค้าชนิดเดียวกันแข่งกับบริษัท อ. และขายสินค้าของบริษัทดังกล่าวได้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นจะส่งไปจำหน่ายยังประเทศอื่นอีกไม่ได้ ต้องรายงานการขายให้บริษัทดังกล่าวทราบ และจะเปิดเผยความลับทางธุรกิจให้ผู้อื่นทราบไม่ได้ อีกทั้งปรากฏว่าในการประกอบกิจการของโจทก์ ตั้งแต่ปี 2508-2515 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของโจทก์ โจทก์ยังขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเพียงพอที่จะประกอบกิจการขายอุปกรณ์โทรคมนาคมขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น บริษัท อ.จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่ของตนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยตรง โจทก์เพียงอำนวยความสะดวกแก่พนักงานของบริษัท อ.ที่เข้ามาจำหน่ายโทรคมนาคมขนาดใหญ่ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเท่านั้น โดยในขณะนั้นโจทก์ไม่มีอำนาจในการเจรจาการทำสัญญากับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า ผู้ขายที่แท้จริงคือบริษัท อ. ฐานะของโจทก์เป็นเพียงตัวแทนในการทำสัญญาเท่านั้น การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาต่าง ๆ เพื่อหรือแทนบริษัท อ.อันเป็นวิสาหกิจสวีเดนในประเทศไทยโจทก์จึงมีฐานะเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท อ.อันเป็นวิสาหกิจสวีเดนในอาณาเขตของประเทศไทย ตามที่กำหนดไว้ในความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวีเดน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากรายได้และจากทุนข้อ 2 ช. (4) 1. นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาถ้อยคำว่า "สาขา"แล้วไม่มีนิยามไว้เป็นอย่างอื่น ในความตกลงดังกล่าวต้องถือตามความหมายที่กำหนดไว้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 (2) อันเป็นกฎหมายของรัฐบาลคู่ภาคีตามที่กำหนดไว้ในความตกลงดังกล่าว ข้อ 2 (2) จึงย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทำสัญญาหรือทำการใด ๆ อันเกี่ยวกับการประกอบการค้าในราชอาณาจักรแทนบริษัท อ. ผู้อยู่นอกราชอาณาจักร จึงต้องถือว่าโจทก์มีสถานะเป็นสาขาของบริษัท อ. อีกฐานะหนึ่งด้วย อันต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 76 ทวิ และภาษีที่โจทก์จะต้องเสียในอาณาเขตของรัฐบาลไทยอันเป็นคู่กรณีนั้น ไม่อยู่ในข้อยกเว้นที่โจทก์จะได้รับประโยชน์จากความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน
โจทก์มีฐานะเป็นสาขาและสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยของบริษัท อ.ด้วย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินตามสัญญาให้บริษัท อ.โดยโจทก์เป็นตัวแทนในการทำสัญญาซื้อขายในประเทศไทยสัญญาที่โจทก์ทำกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นการซื้อขายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทางองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยต้องจ่ายเงินตามสัญญาให้บริษัท อ.ในประเทศสวีเดนและได้มีการจ่ายกันไปแล้ว เหตุที่มีข้อสัญญาให้มีการจ่ายเงินในวิธีการดังกล่าวนี้ โจทก์อ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยที่จะไม่ต้องเสียค่าปริวรรตเงินตราถึงสองครั้ง ทำให้ราคาสินค่าต่ำลง แต่เมื่อพิจารณาถึงวิธีการจ่ายเงินตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าเป็นสัญญาที่มีข้อตกลงในลักษณะพิเศษ มิได้เป็นไปตามปกติธรรมดาของการซื้อขายสินค้าทั่ว ๆ ไป ที่คู่กรณีในสัญญาจะต้องจ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่กัน แต่กลับระบุให้จ่ายแก่บริษัท อ.ซึ่งมิได้ปรากฏในสัญญาว่าเป็นคู่สัญญากัน และการที่ตกลงจ่ายเงินกันในลักษณะอย่างนี้ ไม่อาจมองเห็นได้ว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ซื้อในประเทศแต่ประการใด ทั้งนี้เพราะองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้เงินกู้จากธนาคารโลกในการซื้อสินค้าตามสัญญา และธนาคารโลกนั้นมีเงินหลายสกุลที่จะจ่ายให้ แม้กระทั่งเงินในสกุลของประเทศสวีเดนที่บริษัท อ.มีภูมิลำเนาอยู่ ถ้าองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะตกลงจ่ายเงินสกุลนี้ในประเทศไทย องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยก็มิต้องเสียค่าปริวรรตเงินตราแต่ประการใด คงมีแต่โจทก์หรือบริษัท อ.เท่านั้นที่จะต้องเสียประโยชน์ในการปริวรรตเงินตราหรือจะต้องเสียประโยชน์ในกรณีที่จะต้องจำหน่ายเงินนี้ออกไปจากประเทศไทย อันเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าข้อตกลงนี้มีขึ้นเพื่อที่จะเอื้ออำนวยให้ประโยชน์ตกได้แก่โจทก์และบริษัท อ.ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปริวรรตเงินตราหรือการภาษีอากร ในเมื่อการเช่นนี้ถ้าทำตามหลักการค้าทั่วไปจะต้องมีการจ่ายเงินจำนวนที่ปรากฏตามสัญญาในประเทศไทย และอยู่ในบังคับความรับผิดในเรื่องภาษีอากรตามที่ ป.รัษฎากรกำหนด แต่ด้วยวิธีการในการทำสัญญาของโจทก์เป็นเหตุให้เงินจำนวนมากนี้มิได้เข้าจ่ายในประเทศไทย โจทก์เพียงใช้สถานที่ในประเทศไทยเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่โจทก์และบริษัท อ.ในต่างประเทศ โดยที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าของพื้นที่ที่ประกอบการให้เกิดประโยชน์นั้นมิได้รับประโยชน์ในเงินส่วนนี้เลย ทั้ง ๆ ที่โดยความชอบธรรมแล้วเงินจำนวนนี้จะต้องตกอยู่ในประเทศไทย กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้จำหน่ายเงินดังกล่าวออกไปจากประเทศไทย
ในการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยนั้น บริษัท อ.เป็นผู้กำหนดราคาตามสัญญา และบริษัท อ.นั้น ประกอบธุรกิจในการขายเครื่องโทรคมนาคมในหลายประเทศมานานแล้ว แสดงว่าเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจด้านนี้ในระหว่างประเทศ ดังนั้น ในการกำหนดราคาขายจะต้องมีการวิเคราะห์คำนวณถึงส่วนได้เสียที่ตนจะได้รับอย่างครบถ้วนแล้ว คงจะไม่กำหนดราคาขายเพียงเท่าต้นทุนการผลิตของตนและค่าใช้จ่ายที่เห็นชัดแจ้งล่วงหน้าแล้วเท่านั้นจะต้องรวมเอาส่วนที่เป็นผลกำไรไว้ด้วย ทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า ในช่วงที่มีการทำสัญญาซื้อขายส่งมอบสินค้าและชำระเงินกันนั้น มีวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่จะทำให้ผลกำไรที่คิดคำนวณไว้ที่จะได้โดยปกติธรรมดาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้มีการขาดทุนขึ้น ดังนั้น เงินที่โจทก์ในฐานะเป็นสถานประกอบการถาวรของบริษัท อ.จำหน่ายออกไปทั้งหมดนั้น จึงมิใช่เฉพาะส่วนที่เป็นเงินค่าสินค้าเท่านั้นแต่เป็นเงินที่เป็นส่วนของเงินกำไรรวมอยู่ด้วย และกำไรส่วนนี้เป็นกำไรที่เกิดจากการซื้อขายในประเทศไทย มิใช่กำไรส่วนที่อยู่ต่างประเทศ เมื่อโจทก์เป็นผู้ส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้ในจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 70 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีการค้าจากการดัดแปลงรถยนต์: ผู้ประกอบการค้าคือผู้ผลิตรถยนต์ที่ดัดแปลง
ย. ดัดแปลงหรือจัดให้ผู้อื่นดัดแปลงรถยนต์กระบะบรรทุกให้เป็นรถยนต์นั่งและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเมื่อเดือนสิงหาคม2529 จึงถือได้ว่า ย. เป็นผู้ประกอบการค้าในฐานะผู้ผลิต มีหน้าที่เสียภาษีการค้าของเดือนสิงหาคม 2529 อันเป็นเดือนภาษีนั้นโจทก์ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ด้วยในขณะนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีการค้าที่ชำระไปคืนได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์กับแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย เจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่โจทก์ชำระก็โดยอาศัยประมวลรัษฎากรเป็นหลัก จึงเป็นการได้มาโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ขณะรับทรัพย์นั้น กรณีมิใช่ลาภมิควรได้ อันจะขาดอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2531 เป็นการเกินไปกว่าคำขอไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความคำว่า 'เนยเทียม' ตามกฎหมายภาษีอากร โดยพิจารณาจากส่วนประกอบและคุณสมบัติของสินค้า
คำว่า "เนยเทียม" ตามบัญชีที่ 1 หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 มิได้ให้คำนิยามไว้โดยเฉพาะ จึงมีความหมายตามธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำนิยามคำว่า "เนยเทียม" ไว้ว่า สิ่งที่ทำจากไขมันหรือน้ำมันที่ได้จากพืชและสัตว์นำมาทำให้บริสุทธิ์ ผสมวิตามินเอ วิตามินดี เติมนมและสีที่เหมาะสม แบคทีเรีย ในนมจะทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนยใช้เป็นอาหารได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์เอาน้ำมันปาล์มไปกลั่นทำให้ได้น้ำมันปาล์มโอเลอีนและไขมันสเตียรีน อันเป็นสินค้า รายพิพาทจึงเป็นเพียงไขมันที่ได้จากพืช ที่ยังไม่ได้ผสมวิตามินเอ และดี กับยังไม่ได้เติมนมและสีที่เหมาะสมให้แบคทีเรีย ในนมทำให้เกิดกลิ่นและรสคล้ายเนย สเตียรีน จึงไม่เป็นเนยเทียมตามบัญชีที่ 1หมวด 1(3) ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 1 ชนิด 1.(ก) แห่งประมวลรัษฎากร.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3707/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จตามสั่งเข้าข่ายเป็นการขายสินค้า ไม่ใช่การรับจ้างทำของ
โจทก์จะผลิตคอนกรีตผสมเสร็จต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากลูกค้าตามสูตรสำเร็จของโจทก์หรือตามความต้องการของลูกค้าโดยใช้วัสดุของโจทก์เอง แล้วโจทก์จะนำคอนกรีตผสมเสร็จบรรทุกรถที่มีโม่เพื่อกวนคอนกรีตให้เข้ากันและป้องกันการแข็งตัวไปส่งยังสถานที่ที่ลูกค้ากำหนด แม้โจทก์จะนำคอนกรีตผสมเสร็จที่ใช้แล้วไปทดสอบ แรงอัดประลัย หากไม่ได้ขนาดที่ตกลงกันโจทก์จะต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้นก็เป็นการรับผิดชอบในคุณสมบัติของของที่นำไปใช้งานและการที่ไม่ผลิตเป็นตัวสินค้าให้สำเร็จก่อนมีการสั่งซื้อก็เพราะเกี่ยวกับสภาพของของไม่อาจทำเช่นนั้นได้ การประกอบการของโจทก์จึงเป็นการผลิตเพื่อขายอันเป็นการประกอบการค้าประเภท 1 การขายของต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 1.5 ของรายรับ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า(ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 มาตรา 7(3) และบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา ดังกล่าวมิใช่การรับจ้างทำของอันเป็นประเภทการค้า 4 ชนิด 1(ฉ) แห่ง บัญชีอัตราภาษีการค้า ซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 3 ของรายรับ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2755/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การให้สัตยาบันการกระทำของตัวแทน & การรับจ้างทำของ
การที่ ป. กรรมการของโจทก์ลงลายมือชื่อในคำอุทธรณ์ที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพียงคนเดียวโดยมิได้ประทับตราบริษัทโจทก์ เป็นการกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์ก็ได้ยอมรับเอาผลของการกระทำนั้น ถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันแก่การยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยก็ได้ยอมรับคำอุทธรณ์ที่ ป. ทำไปว่าเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าโจทก์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว จึงมีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์เพียงแต่ใช้แรงงานและเครื่องมือเครื่องใช้ของโจทก์ผลิตสบู่ขึ้นมาตามสูตรและส่วนผสมที่ผู้ว่าจ้างกำหนด โดยผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระทั้งหมดที่ใช้ในการผลิต ย่อมแสดงว่าผู้ว่าจ้างหวังผลสำเร็จแห่งการงานที่จ้างเป็นสำคัญ และเป็นที่เห็นได้ว่าสบู่ที่โจทก์ผลิตขึ้นนั้นตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างมาแต่แรก เงินที่ผู้ว่าจ้างจ่ายให้โจทก์จึงมิใช่ค่าตอบแทนการโอนกรรมสิทธิ์ในสบู่ที่โจทก์ผลิตขึ้น แต่เป็นเงินสินจ้างหรือค่าตอบแทนในการที่โจทก์ผลิตสบู่ให้ตามที่ว่าจ้าง นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่าผู้ว่าจ้างได้เสียภาษีการค้าในฐานะผู้ผลิตให้แก่จำเลยไว้แล้ว กรณีจึงมิใช่การขายของแต่เป็นการรับจ้างทำของ จะต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 4 การรับจ้างทำของชนิด 1(ฉ) ในฐานะผู้รับจ้าง.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2382/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายกล่องกระดาษ: พิจารณาจากเจตนาและพฤติการณ์เพื่อแยกแยะจากการจ้างทำของ
การซื้อขายและจ้างทำของต่างกันที่การซื้อขายมุ่งถึงการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน ส่วนการจ้างทำของมุ่งถึงการงานที่ทำและผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ ในเรื่องจ้างทำของตาม ป.พ.พ.มาตรา 592 จึงกำหนดหน้าที่ของผู้รับจ้างไว้อีกประการหนึ่งว่าผู้รับจ้างต้องยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนของผู้ว่าจ้างตรวจตราการงานได้ตลอดเวลาที่ทำอยู่นั้น แต่บางกรณีผลสำเร็จของงานที่ทำอาจเป็นทรัพย์ สิ่งของ เช่นสินค้า และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยวัตถุดิบหรือสัมภาระที่ใช้ในการทำเป็นของผู้รับจ้างก็ได้ การจ้างทำของในกรณีนี้จึงคล้ายคลึงกับการซื้อขาย การพิจารณาว่า กรณีใดเป็นการซื้อขายหรือจ้างทำของ จึงต้องดูจากเจตนาและพฤติการณ์ของคู่กรณีที่ประพฤติต่อกัน นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาว่าสัมภาระ หรือวัสดุที่ใช้ทำเป็นสินค้ากับการงานที่รับทำจนสำเร็จนั้น สิ่งใดสำคัญกว่ากัน ถ้าการงานที่รับทำจนสำเร็จสำคัญกว่าสัมภาระก็เป็นจ้างทำของ ถ้าไม่สำคัญกว่าก็เป็นซื้อขาย กล่องกระดาษที่โจทก์ทำขึ้นมานั้น ใช้สำหรับบรรจุสินค้าต่าง ๆของลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรม สิ่งที่ลูกค้าของโจทก์ต้องการคือคุณภาพของกล่องกระดาษซึ่งจะต้องมีความเหนียวทนทาน และรับน้ำหนักสินค้าที่บรรจุได้เป็นสำคัญ เพื่อมิให้สินค้าที่บรรจุอยู่ภายในเสียหาย แม้ขนาดของกล่องตรา และข้อความที่พิมพ์ลงบนกล่องจะแตกต่างกันออกไปตามความต้องการของลูกค้า แต่กล่องทุกใบก็มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ติดอยู่ ทั้งลูกค้าก็จะต้องสั่งซื้อกล่องกระดาษตามตัวอย่างที่โจทก์ทำส่งไปให้เลือก ขนาดของกล่องและข้อความดังกล่าวจึงเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้เหมาะสมแก่การบรรจุสินค้าต่าง ๆ ของลูกค้าเท่านั้น หามีความสำคัญไปกว่าวัสดุที่ใช้ในการผลิตกล่องกระดาษไม่ และหลังจากสั่งซื้อกล่องตามขนาด ชนิด และข้อความที่ต้องการแล้ว ลูกค้าของโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะเข้าตรวจตราการทำงานของโจทก์ ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับลูกค้า จึงมิใช่อยู่ในฐานะของผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง แต่เป็นการประกอบการค้าโดยการทำกล่องกระดาษขายให้แก่ลูกค้าตามคุณภาพที่ลูกค้าต้องการ ในการทำกล่องกระดาษนั้น โจทก์จะนำกระดาษคราฟท์ป้อนเข้าเครื่องจักรแล้วเครื่องจักรก็จะทำงานตามขั้นตอนจนสำเร็จออกมาเป็นส่วนที่จะใช้เป็นกล่องซึ่งเป็นตัวสินค้า จึงเป็นการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้มีขึ้นซึ่งสินค้า อันอยู่ในความหมายของคำว่า"ผลิต" ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 77 แห่งประมวลรัษฎากรและเมื่อผลิตออกมาเป็นกล่องแล้วก็จะส่งให้ลูกค้าตามที่สั่งโดยคิดราคาตามที่ตกลงกัน อันเป็นการขายตามความหมายที่ประมวลรัษฎากรกำหนดไว้ ดังนั้น การประกอบการค้ากล่องกระดาษของโจทก์จึงเป็นการประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของ ชนิด 1(ก) มิใช่เป็นการรับจ้างทำของอันจะต้องเสียภาษีตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 4 ชนิด 1(ฉ)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายคอนกรีตผสมเสร็จ ไม่ใช่สัญญาจ้างทำของ ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียภาษีการค้า
การซื้อขายสินค้านั้นผู้ขายไม่จำเป็นต้องทำสินค้าสำเร็จไว้ล่วงหน้าเสมอไปต้องคำนึงถึงคุณลักษณะพิเศษของสินค้าที่จะขายด้วยโจทก์ทั้งสองประกอบธุรกิจคอนกรีตผสมเสร็จไม่อาจผสมคอนกรีตไว้ก่อนได้ เพราะหากไม่มีผู้ใดซื้อภายใน 1 ชั่วโมง คอนกรีตผสมเสร็จที่ทำไว้จะแข็งตัวไม่อาจนำไปใช้งานได้ สินค้าชนิดนี้จำเป็นต้องขายตามคำสั่งของลูกค้าแต่ละรายไปนอกจากนี้ทั้งลูกค้าของโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 1และโจทก์ที่ 2 กับโจทก์ที่ 1 ต่างมีเจตนาจะมุ่งให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพื่อตอบแทนการใช้ราคา มิได้หวังผลสำเร็จในการงานเป็นสาระสำคัญ งานที่โจทก์ทั้งสองรับทำจนสำเร็จมิได้สำคัญไปกว่าสัมภาระหรือส่วนผสมที่นำมาใช้ในการผลิตคอนกรีตผสมเสร็จโจทก์ทั้งสองประกอบธุรกิจเป็นการทั่วไปเป็นปกติธุระมิใช่เป็นการครั้งคราวแม้ลูกค้าจะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนหรือสูตรในการผสมคอนกรีตผสมเสร็จตามที่ลูกค้าต้องการหรือมีการกำหนดรวมค่าขนส่งและกำหนดอัตราค่าจอดรถคอยการเทคอนกรีตลงไว้ด้วย ก็เป็นการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นเงื่อนไขในการรับซื้อ เข้าลักษณะเป็นสัญญาซื้อขาย หาใช่สัญญาจ้างทำของไม่โจทก์ทั้งสองจึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
of 20