คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล และการลดค่าปรับจากสัญญาที่ไม่สมเหตุสมผล
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบงานบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ซึ่งเป็นจังหวัดโดยผลของกฎหมาย เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงลายมือชื่อแต่งให้ ส. อัยการผู้เชี่ยวชาญคดีแพ่ง เขต 8 เป็นทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วย่อมถือได้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องแล้ว ไม่ต้องแสดงสิทธิและหน้าที่ตลอดจนวัตถุประสงค์ของโจทก์ว่ามีอำนาจและขอบเขตการใช้อำนาจอย่างไร หรือต้องแสดงเอกสารสำคัญของอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของโจทก์มาในฟ้อง
โจทก์ตระหนักดีอยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถที่จะทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้อย่างแน่นอนตั้งแต่ก่อนถึงเวลาครบกำหนดการทำงานตามสัญญาว่าจ้าง การที่โจทก์ทอดเวลาบอกเลิกสัญญาเป็นเวลาถึง 277 วัน เป็นการไม่พยายามบรรเทาความเสียหายลงไปบ้าง ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนผิดไม่บอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร ทำให้จำนวนเบี้ยปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่โจทก์บอกเลิกสัญญาล่าช้าด้วย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ที่โจทก์คิดค่าปรับวันละ 2,607 บาท เป็นเวลา 277 วัน เป็นเงิน 722,139 บาท จึงเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับลดหนี้ภาษีอากรในแผนฟื้นฟูกิจการ และการแปลงหนี้เป็นทุนของหน่วยงานรัฐ
พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6576/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ การคำนวณปริมาตร และอำนาจฟ้องของหน่วยงานรัฐ
คำฟ้องในส่วนเกี่ยวกับความเสียหายบรรยายว่าจำเลยทั้งสองระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตจำนวนสองครั้ง แต่ละครั้งคิดเป็นพื้นที่เท่าใดและปริมาตรเท่าใด รวมทั้งปริมาตรหินที่จำเลยทั้งสองเอาไปเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนหินแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ให้ชดใช้ราคาพร้อมด้วยดอกเบี้ย เป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว ส่วนวิธีการคำนวณหาปริมาตรหินดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์ทั้งสามต้องนำสืบในชั้นพิจารณา ไม่จำเป็นต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง คำฟ้องจึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระเบิดและย่อยหินนอกพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตในกิจการและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จนถูกดำเนินคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว โจทก์ทั้งสามผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และดำเนินกิจการส่วนจังหวัดเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของรัฐรวมทั้งเรียกค่าเสียหายทั้งปวงแทนรัฐจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง
วิธีการคำนวณหาปริมาตรหินที่โจทก์ทั้งสามนำมาใช้คำนวณหาปริมาตรหินพิพาทที่ฟ้องโจทก์ที่ 3 เคยใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บค่าตอบแทนเป็นรายปีจากจำเลยที่ 1 ผู้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินโดยจำเลยทั้งสองไม่เคยปฏิเสธความถูกต้องและยอมรับปฏิบัติตาม จึงผูกพันจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าหินพิพาทมีจำนวนตามฟ้อง และศาลล่างทั้งสองกำหนดราคาหินพิพาทด้วยการเทียบเคียงกับราคาจำหน่ายทั่วไปชอบแล้ว
จำเลยทั้งสองฎีกาว่าในหินพิพาทแต่ละลูกบาศก์เมตร มีหินดินและทรายปะปนรวมกัน ทั้งบริเวณที่เกิดเหตุมีหินมากกว่าดิน ในการคำนวณปริมาตรหินพิพาทต้องหักปริมาตรดินออกตามสัดส่วนก่อน เป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง