คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
บัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดิน: จำเลยผิดสัญญา แบ่งที่ดินไม่ทันตามกำหนด โจทก์มีสิทธิริบมัดจำ
โจทก์ที่1ที่2และที่3มอบอำนาจให้โจทก์ที่4โดยระบุให้ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาจะซื้อจะขายคดีนี้และให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลในทางจำหน่ายสิทธิเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนกระทำการครั้งเดียวคือการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะคดีนี้โดยมีอำนาจตามความที่ปรากฏในเอกสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์10บาทตามบัญชีอากรแสตมป์ข้อ7(ก)และกรณีนี้มีผู้มอบอำนาจ3คนซึ่งมิได้เป็นผู้มอบอำนาจร่วมกันแต่มอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกันต้องปิดอากรแสตมป์ตามรายตัวบุคคลสำหรับผู้มอบอำนาจคนหนึ่งเป็นเรื่องหนึ่งโจทก์ปิดอากรแสตมป์รวม30บาทซึ่งครบถ้วนตามนัยประมวลรัษฎากรมาตรา108และใช้เป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยได้บรรยายฟ้องแสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับโจทก์ที่1ถึงที่3แล้วจำเลยผิดสัญญาโดยไม่ไปรับโอนที่ดินและมอบตั๋วแลกเงินอาวัลชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ตามกำหนดโจทก์ที่1ถึงที่3จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยจำเลยย่อมไม่มีอำนาจที่จะขออายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินของโจทก์ที่1ที่2และที่4ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อไปดังนั้นคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้จำเลยยกเลิกเพิกถอนการอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินต่อสำนักงานที่ดินและต่อสำนักงานวางทรัพย์จึงมิใช่คนละเรื่องกับคำฟ้องส่วนโจทก์ที่4ได้บรรยายฟ้องถึงการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะซื้อจะขายโดยรับโอนมาจากโจทก์ที่3และแสดงถึงนิติสัมพันธ์ทั้งเหตุที่จำเลยผิดสัญญากับการที่จำเลยไปอายัดที่ดินดังกล่าวทำให้โจทก์ที่4เสียหายพร้อมกับเรียกค่าเสียหายในการนี้ด้วยดังนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้วไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทนี้ที่ดินดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ทายาทของข.จึงเป็นเหตุให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแยกกันไปตามทายาทผู้รับมรดกที่ดินของข. แต่ละแปลงเนื้อหาสาระของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาททั้ง3ฉบับเป็นอย่างเดียวกันคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกันคือจำเลยนี้ถือได้ว่าเป็นคดีที่คู่ความบางฝ่ายเป็นคู่ความรายเดียวกันจึงเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกันหากแยกฟ้องก็สามารถขอให้พิจารณารวมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา28โจทก์ทั้งสี่จึงย่อมใช้สิทธิร่วมกันฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียวกันได้ ข้อฎีกาจำเลยซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้วแต่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยให้และจำเลยมิได้อุทธรณ์การที่จำเลยกลับมายกขึ้นฎีกาแม้ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ตามแต่ปัญหาว่าผู้รับมอบอำนาจกระทำการนอกเหนืออำนาจหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาและศาลฎีกามีอำนาจรับวินิจฉัยให้ นอกจากโจทก์ที่1ที่2และที่3มอบอำนาจให้โจทก์ที่4ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะผิดสัญญาแล้วยังมอบอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆในศาลด้วยการที่โจทก์ที่4ฟ้องจำเลยและขอศาลบังคับจำเลยให้ทำการเพิกถอนที่ดินที่จำเลยอายัดไว้มิให้จำหน่ายจ่ายโอนจึงเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยผิดสัญญาและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆในศาลนั่นเองโจทก์ที่4จึงหาได้กระทำการนอกเหนืออำนาจแต่อย่างใดไม่ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่พิพาทที่โจทก์ที่2ในฐานะผู้จัดการมรดกของข. โดยโจทก์ที่4เป็นผู้รับมอบอำนาจเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะขายและจำเลยเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้จะซื้อสิทธิและหน้าที่ความรับผิดต่างๆตามสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิและหน้าที่ของกองมรดกของข. เมื่อโจทก์ที่4ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวโจทก์ที่4จึงรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวด้วยโจทก์ที่4จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ3ระบุว่า"ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะทำการโอนและรับโอนที่ดินที่ซื้อขายในข้อ1และผู้จะซื้อจะส่งมอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารตามข้อ2ให้แก่ผู้จะขายให้แล้วเสร็จตามกฎหมายจนกระทั่งสำนักงานที่ดินออกโฉนดใหม่ให้เรียบร้อยทั้งนี้ภายในวันที่17เมษายน2531นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปและในระหว่างก่อนถึงเวลากำหนดข้างต้นนี้ผู้จะขายยินยอมให้ความร่วมมือในการที่จะแบ่งที่ดินที่ซื้อขายนี้เป็นแปลงย่อยๆในนามเดิมและยินยอมให้ผู้จะซื้อทำการปรับปรุงถนนและที่ดินตลอดจนทำการก่อสร้างซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ยินยอมให้ขออนุญาตปลูกสร้างดัดแปลงต่อเติมอาคารขอเลขบ้านมิเตอร์ไฟฟ้าประปาโทรศัพท์การจัดสรรที่ดินหรือการขออนุญาตอื่นๆที่จำเป็นต่อหน่วยราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนามของผู้จะซื้อหรือผู้จะขายก็ได้ส่วนค่าใช้จ่ายผู้จะซื้อเป็นผู้ออกเองทั้งสิ้น"จากข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นความประสงค์ของคู่สัญญาว่าในการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินทั้ง3แปลงก่อนถึงกำหนดการโอนกรรมสิทธิ์ผู้จะขายยินยอมให้ผู้จะซื้อเป็นผู้ดำเนินการแบ่งที่ดินที่จะซื้อจะขายเป็นแปลงย่อยๆด้วยตนเองโดยผู้จะขายคือฝ่ายโจทก์ให้ความร่วมมือมอบอำนาจให้ผู้จะซื้อคือจำเลยดำเนินการดังนั้นการที่ยังมิได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่จะซื้อจะขายออกเป็นแปลงย่อยๆก่อนวันครบกำหนดสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่ใช่ความผิดของฝ่ายโจทก์ผู้จะขายทั้งการจดทะเบียนทางภารจำยอมฝ่ายโจทก์ก็ดำเนินการให้แล้วการที่จำเลยไม่ไปรับจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและไม่มอบตั๋วแลกเงินอาวัลโดยธนาคารให้แก่ฝ่ายโจทก์ภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายใดๆจากโจทก์และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเลิกกันเพราะความผิดของจำเลยโจทก์ทั้งสี่ย่อมมีอำนาจริบมัดจำที่จำเลยวางไว้เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1479/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อากรแสตมป์สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี: การเพิ่มวงเงินกู้และการคำนวณอากร
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2525 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ขอกู้เงินตามวิธีและธรรมเนียมประเพณีการเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จำนวน 2,000,000 บาทกำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2526 ได้ทำสัญญากันไว้ และปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ในตราสารดังกล่าวแล้ว หลังจากนั้นได้ทำบันทึกต่ออายุสัญญากันอีก 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 วันที่ 18 มกราคม 2527 วันที่ 8 มีนาคม2528 และวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ตามลำดับ ให้เบิกเงินเกินบัญชีได้ถึงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2530 และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ได้ทำบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์โดยตกลงเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมขึ้นอีก 1,000,000 บาท รวมเป็นจำนวน3,000,000 บาท ข้อตกลงอื่นคงให้เป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิม ดังนี้เมื่อปรากฏว่าโจทก์ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ได้ในวงเงิน 2,000,000 บาท ได้ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2530 ดังนั้นในวันที่ 26กุมภาพันธ์ 2529 ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ยังมีข้อตกลงเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ได้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิมได้อยู่จำนวน 2,000,000 บาท สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวหาได้ถูกยกเลิกไปแล้วไม่ ฉะนั้น การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.ตกลงเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1,000,000 บาท ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์2529 จึงเป็นการที่โจทก์ตกลงให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด บ.เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมในยอดเงินเพียง 1,000,000 บาท ส่วนอีกจำนวน 2,000,000 บาท ยังคงเป็นยอดเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเดิมซึ่งโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์ไว้บริบูรณ์แล้ว หาใช่ยอดเงินทั้งจำนวน3,000,000 บาท เป็นยอดเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมไม่เมื่อยอดเงินเบิกเกินบัญชีตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มเติมมีจำนวนเพียง1,000,000 บาท โจทก์จึงต้องปิดอากรแสตมป์ในตราสารดังกล่าวในยอดเงิน1,000,000 บาท คิดเป็นค่าอากรแสตมป์จำนวน 500 บาท ตามบทบัญญัติแห่งป.รัษฎากร มาตรา 104 ประกอบลักษณะแห่งตราสาร 5 แห่งบัญชีอัตราอากร-แสตมป์ท้ายหมวด 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7268/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจ, อากรแสตมป์, การส่งสำเนาเอกสาร, การคัดค้าน, เหตุฟ้องไม่ชอบ
หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า "ฯลฯ ข้าพเจ้า อ.ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตึกแถวเลขที่ 1/11 ซอยวัฒนโยธินถนนราชวิถีแขวงถนนพญาไทเขตราชเทวี กรุงเทพมหานครขอมอบอำนาจให้ ม. ฯลฯ เป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจกระทำการแทนข้าพเจ้าในกิจการดังต่อไปนี้ ข้อ 1. ให้มีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้อง ว. ผู้เช่าตึกแถวดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง รวมทั้งมีอำนาจแก้ฟ้องแย้งของจำเลย และให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนข้าพเจ้าได้ทุกประการ" การมอบอำนาจตามข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียว มิใช่มอบอำนาจทั่วไปให้แก่ ม.จึงต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 10 บาท ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 104 และบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ก) ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ ได้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาทครบถ้วนแล้วในวันยื่นฟ้อง ศาลจึงรับฟังหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และแม้ภายหลังโจทก์นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปติดอากรแสตมป์เพิ่มอีก20 บาท โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขออนุญาตปิดอากรแสตมป์จากศาลก็หามีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจนั้นกลับเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ โจทก์ได้ระบุอ้างหนังสือให้ความยินยอมเป็นพยานและได้นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ในวันสืบพยาน การที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่งอันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเป็นผิดระเบียบจำเลยจะต้องยื่นคัดค้านเสียภายใน 8 วัน ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อจำเลยทราบตั้งแต่ขณะที่โจทก์นำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาสืบแล้วว่าเป็นการผิดระเบียบ แต่จำเลยก็มิได้คัดค้านเสียภายใน 8 วันนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบเช่นนั้น จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นมาอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านในภายหลังได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6085/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ปิดอากรแสตมป์ถูกต้องตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะทำสัญญา ยังใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แม้กฎหมายจะแก้ไขภายหลัง
แม้ขณะโจทก์นำสัญญาค้ำประกันมาใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีบัญชีอัตราอากรแสตมป์ลักษณะแห่งตราสารข้อ 17(ก) ซึ่งแก้ไขโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 13 บัญญัติให้ผู้ค้ำประกันต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาทในสัญญาค้ำประกันสำหรับกรณีที่มิได้จำกัดจำนวนเงินไว้ แต่ตามพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2526มาตรา 16 ก็บัญญัติไว้ว่า บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่ได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนถูกต้องตามประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับในขณะที่ทำสัญญา จึงยังคงใช้รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1126/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเล: ผู้ขนส่งต้องรับผิดชอบความเสียหายของสินค้าหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือสภาพสินค้า
ปัญหาว่าหนังสือมอบอำนาจซึ่งเป็นใบมอบอำนาจตามประมวลรัษฎากรปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกประเด็นนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นและเพิ่งจะยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ ปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญ ก.ได้แต่งตั้งให้ น. และหรือ ว. เป็นผู้รับมอบอำนาจกระทำการต่าง ๆแทนห้างหุ้นส่วนได้แก่ ฟ้องร้อง ต่อสู้คดี ดำเนินคดี และดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญาในศาลทั้งหลายของประเทศไทยหรือองค์การใด ๆ ของรัฐบาลในประเทศไทยต่อจำเลยทั้งห้า ฟ้องร้องดำเนินคดีล้มละลายแก่ลูกหนี้ในประเทศไทยและกระทำการอื่นตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 ถึง 5 ดังนี้ เป็นการมอบอำนาจให้กระทำการมากกว่าครั้งเดียว โดยให้บุคคลหลายคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ ค่าอากรจึงต้องคิดตามรายตัวบุคคลที่รับมอบอำนาจคนละ 30 บาท ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ข้อ 7(ค) ท้ายประมวลรัษฎากร แม้โจทก์ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 จะลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว แต่ก็เป็นการกระทำในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ก.หาใช่โจทก์ทั้งสามต่างคนต่างมอบอำนาจเป็นการเฉพาะตัวไม่ เมื่อเป็นการมอบอำนาจให้บุคคล 2 คน ต่างคนต่างกระทำกิจการแยกกันได้ซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์สำหรับผู้รับมอบอำนาจคนละ 30 บาทหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 60 บาท เท่านั้น การปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 113 และ 114ก็ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินอากรจนครบพร้อมเงินเพิ่มอากรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยในชั้นสืบพยานโจทก์ได้ปิดอากรแสตมป์เพิ่มเติมอีก 150 บาท จากที่ปิดอากรแสตมป์ไว้เดิมเพียง 30 บาทซึ่งมากกว่าจำนวนที่ต้องปิดตามกฎหมาย พร้อมทั้งขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้วแม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ได้เสียเงินเพิ่มอากรศาลก็รับฟังหนังสือมอบอำนาจให้ดำเนินคดีเป็นพยานหลักฐานได้โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยฎีกาเป็นข้อที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม) คดีพิพาทเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ซึ่ง ป.พ.พ.มาตรา 609 วรรคสอง กำหนดให้บังคับตามกฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยการนั้น แต่ปรากฏว่าขณะเกิดข้อพิพาทยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการรับขนของทางทะเลใช้บังคับทั้งไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในเรื่องดังกล่าว จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขนมาใช้บังคับโดยถือเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติว่าผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นบุบสลายเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการบุบสลายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับขนส่งสินค้าลำไยพิพาทโดยมีหน้าที่ต้องจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นสำหรับควบคุมอุณหภูมิในขณะขนส่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2มอบตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำการขนส่งเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีเรือบรรทุกสินค้า จำเลยที่ 2เป็นผู้ว่าจ้างโดยมีข้อตกลงกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ว่าเป็นการส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องทำความเย็นภายในบรรจุลำไยสดจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงทราบดีว่าสินค้าภายในตู้เป็นผลไม้สดที่ต้องใช้ตู้ทำความเย็นเพื่อรักษาความสดของผลไม้ไว้ เหตุที่จำเลยที่ 3และที่ 4 อ้างว่าสินค้าลำไยพิพาทต้องเสียหายเป็นเพราะความบกพร่องของตู้คอนเทนเนอร์ ท่อน้ำยารั่ว ตู้ดังกล่าวจึงไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในตู้ได้ เจ้าหน้าที่เรือไม่อาจซ่อมแซมขณะเรือแล่นอยู่ในทะเลได้นั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการบุบสลายหรือเสียหายอันเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง ทั้งไม่ปรากฏว่าสินค้าต้องบุบสลายหรือเสียหายเพราะความผิดของผู้ขนส่งหรือผู้รับตราส่งแต่อย่างใด การขนส่งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งหลายคนหลายทอดจำเลยทั้งสี่จึงต้องรับผิดร่วมกันในการบุบสลายหรือเสียหายนั้นต่อโจทก์ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ผู้รับตราส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจ, อากรแสตมป์, อายุความ, และข้อยกเว้นความรับผิดในประกันภัย: ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
การที่จำเลยร่วมให้การว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมิได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมาย เป็นคำให้การที่อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ชัดแจ้งแล้ว คดีจึงมีประเด็นพิพาทด้วยว่าหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีซึ่งเป็นการมอบให้บุคคลเดียวกระทำการครั้งเดียว เพราะเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเดียว ที่หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท จึงครบถ้วนตามประมวลรัษฎากรแล้ว เมื่อจำเลยร่วมมิได้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าเสียหายจำเลยร่วมจะฎีกาปัญหาดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 แม้จำเลยที่ 1 จะขาดต่อใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เกินกว่า 180 วันในเวลาเกิดเหตุซึ่งจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรมประกันภัยข้อ 2.13 ก็ตาม แต่ตามข้อ 2.14 ระบุเป็นใจความว่าบริษัท (จำเลยร่วม) จะไม่ยกข้อ 2.13 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามข้อ 2.1 เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ต่อผู้เอาประกันภัยเพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัททันที ดังนั้นจำเลยร่วมไม่มีสิทธิที่จะยกเอาเหตุที่ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ขาดการต่ออายุดังกล่าวมาเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะตามข้อ 2.1 ได้แต่ยกขึ้นว่ากล่าวเอากับผู้เอาประกันภัย จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2130/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจ-การเป็นทนายความ-การเลื่อนคดี: ความชอบด้วยกฎหมายและข้อยกเว้น
หนังสือมอบอำนาจให้ ป. และ ท. ฟ้องคดีและกระทำการอย่างอื่นอีกหลายประการแทนโจทก์ เป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว ซึ่งตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร ข้อ 7(ข) โจทก์ซึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ฉบับละ 30 บาท โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจคนเดียวหรือหลายคน หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 30 บาท จึงครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคสองมิได้ห้ามผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นทนายความอยู่แล้วตั้งตนเองเป็นทนายความดำเนินคดีนั้นอีก ที่ ท. และ ป. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตั้ง ท. เป็นทนายความว่าคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เลื่อนการสืบพยานจำเลยปากหนึ่งไปถึง 4 นัดครั้งสุดท้ายจำเลยยื่นคำร้องระบุว่าหากไม่ได้ตัวพยานมาในนัดต่อไปจำเลยยอมให้ศาลตัดพยานได้ทันที ซึ่งทนายจำเลยก็แถลงรับไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันเดียวกันนั้นว่า หากนัดหน้าพยานไม่มาศาลไม่ว่าด้วยเหตุใด จำเลยไม่ติดใจสืบ ศาลชั้นต้นก็ได้ให้โอกาสจำเลยเป็นครั้งสุดท้าย โดยเลื่อนการสืบพยานจำเลยไปถึงวันนัดจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอีก อ้างว่าพยานติดคดีต้องเบิกความที่ศาลทั้งเช้า และบ่ายไม่อาจมาเบิกความที่ศาลในคดีนี้ได้ ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีโดยเห็นว่าจำเลยมีโอกาสนำตัวพยานมาสืบได้ จำเลยขอเลื่อนคดีมีลักษณะประวิงคดี จึงชอบแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2529 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างพนักงานป่วย: การเลิกจ้างเป็นธรรมเมื่อไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และการมอบอำนาจเลิกจ้างชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ป่วยเป็นโรคเบาหวานจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่พนักงานขับรถตามตำแหน่งได้ จำเลยไม่อาจคาดหมายได้ว่าโจทก์จะมีโอกาสหายจากโรคดังกล่าวหรือไม่ และไม่สามารถหางานอื่นที่เหมาะสมให้ได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่เลิกจ้างไม่เป็นธรรม
การที่ผู้อำนวยการของจำเลยออกคำสั่งมอบอำนาจให้ผู้จัดการเขตการเดินรถมีอำนาจดำเนินการในเขตการเดินรถที่รับผิดชอบ รวมทั้งมีอำนาจอนุมัติลาออก เลิกจ้าง ให้ออก ไล่ออกพนักงานหรือลูกจ้างในสังกัดได้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการแบ่งงานในหน้าที่ ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้อำนวยการของจำเลย เป็นคำสั่งในทางบริหารงาน มิใช่เป็นการมอบอำนาจโดยเฉพาะ และมิใช่เป็นการมอบอำนาจให้กระทำนิติกรรมอันหนึ่งอันใดอันพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร คำสั่งดังกล่าวซึ่งมิได้ปิดอากรแสตมป์จึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้จัดการเขตการเดินรถจึงมีอำนาจออกคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3266/2527

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแทน, ค่าชดเชย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, การเลิกจ้าง, ค่าพาหนะ: กรณีลูกจ้างทำร้ายลูกจ้างด้วยกัน
โจทก์มอบอำนาจให้ ม. ฟ้องคดีนี้แทนเพียงคดีเดียว แม้ใบมอบอำนาจจะระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาหรืออื่นๆ ได้ด้วยก็ตาม ถือว่าเป็นการมอบอำนาจให้กระทำการครั้งเดียวซึ่งตามประมวลรัษฎากรกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ 10 บาท เท่านั้น ม. ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีแทน ย่อมอยู่ในฐานะคู่ความจึงมีอำนาจเรียงหรือแต่งคำคู่ความได้ เพราะการเรียงหรือแต่งคำคู่ความไม่ใช่การว่าความอย่างทนายความ การที่โจทก์ชก น.นอกสถานที่ทำงานและนอกเวลาทำงาน เพราะมีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน ทำให้ น.มีบาดแผลเล็กน้อยนั้น เป็นเรื่องลูกจ้างทำร้ายกันเองไม่เกี่ยวกับกิจการของจำเลยโดยตรง จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อชื่อเสียงหรือทำลายเกียรติคุณของจำเลย ถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีร้ายแรงอันจำเลยจะมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และ ไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583ซึ่งจำเลยจะมีสิทธิมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีกด้วย ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าค่าพาหนะเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าพาหนะเป็นการฟ้องเรียกเงินอีกประเภทหนึ่งต่างหาก และจำนวนค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโจทก์ก็มิได้นำค่าพาหนะมารวมคำนวณด้วยจึงไม่ต้องนำค่าพาหนะมาเป็นฐานคำนวณจ่ายเงินดังกล่าว กรณีที่สินจ้างจ่ายกันในวันพฤหัสบดีเว้นหนึ่งวันพฤหัสบดีโดยวันอาทิตย์เป็นวันหยุด หนึ่งช่วงเวลาของการจ่ายค่าจ้างจึงเป็นเวลา 12 วัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3426/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์เนื่องจากขาดอากรแสตมป์ ทำให้ใช้เป็นหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้
ใบมอบอำนาจของโจทก์เป็นตราสารที่มีบุคคล 31 คน รวมทั้งโจทก์ 27 คนมอบอำนาจให้ ป. กระทำการแทนหลายอย่างคือ ร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดีอาญา ฟ้องหรือต่อสู้คดีอาญาฟ้องหรือต่อสู้คดีแพ่ง และกิจการอื่นอีกหลายประการโดยไม่จำกัดว่าเป็นกรณีเกี่ยวกับเรื่องใดโดยเฉพาะ ปิดอากรแสตมป์ 165 บาท ตราสารดังกล่าวเป็นตราสารมอบอำนาจทั่วไป ต้องปิดอากรแสตมป์ 10 บาท และผู้มอบอำนาจทั้งหมดมิใช่ผู้มีอำนาจร่วมกันในกิจการที่มอบอำนาจ แม้มอบอำนาจในตราสารฉบับเดียวกันก็ต้องคิดตามรายบุคคลตราสารฉบับนี้จึงต้องปิดอากรแสตมป์ 310 บาท เมื่อปิดมาเพียง 165 บาท จึงไม่บริบูรณ์ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
of 3