คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุพจน์ ธำรงเวียงผึ้ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 30 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ข้อเท็จจริงใหม่ที่ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในทำนองเดียวกันว่าจำเลยทั้งสองเป็นเพียงลูกจ้างขายสินค้าให้แก่นายจ้างตามตลาดนัดทั่วไป ไม่มีเจตนาประกอบธุรกิจของจำเลยทั้งสองเอง จำเลยทั้งสองไม่รู้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2667/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าและรายการสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อวินิจฉัยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 แต่เครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 ถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 เครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอยู่ก่อนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 อยู่ในทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะนำมาเปรียบเทียบเพื่อวินิจฉัยปัญหาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเลขที่ ค 161910 จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่อีกต่อไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจึงไม่ชอบ
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์ มีลักษณะเป็นแถบเส้นในแนวนอน 3 เส้น เรียงซ้อนกันขึ้นไปด้านบน โดยเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นและเฉียงขึ้นทำมุมในระดับ 30 องศา คล้ายกับอักษรโรมัน ตัว "E" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นแถบเส้นทึบในแนวตั้ง 3 เส้น เรียงซ้อนต่อกันไปทางด้านข้างโดยทุกแถบเส้นจะเอียงมาทางด้านหน้าและเว้นระยะห่างของแต่ละเส้นคล้ายอักษรโรมัน ตัว "M" และมีคำว่า "Mahajak" อยู่ด้านล่างของแถบเส้น รูปลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอย่างชัดเจน ในส่วนของเสียงเรียกขานนั้น เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีคำว่า "Mahajak" ประกอบอยู่กับภาพประดิษฐ์ จึงออกเสียงเรียกขานได้ว่า มหาจักร ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น ปรากฏตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ในช่องคำอ่านและแปลภาษาต่างประเทศเพียงว่า อักษรโรมันสัญลักษณ์ตัว "อี" แปลไม่ได้ เป็นอักษรย่อส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทคือคำว่า "อีริคสัน" ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ได้ระบุเสียงเรียกขานไว้ แต่เนื่องจากนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเคยมีคำสั่งให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวเป็นเครื่องหมายชุดกับคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์ และโจทก์ดำเนินการตามคำสั่งแล้ว ปรากฏว่ารูปลักษณะเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนอื่น ๆ ของโจทก์เป็นภาพประดิษฐ์เช่นเดียวกับภาพประดิษฐ์ในคดีนี้ บางคำขอจดทะเบียนเป็นภาพประดิษฐ์ประกอบคำหรือชื่อ "ERICSSON" ดังนั้นจึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อาจเรียกขานได้ว่า อีริคสัน อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทโจทก์เช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าอื่น ๆ ของโจทก์ เสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น ประกอบกับรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น มีรายการเดียวคือ มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า ส่วนรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เฉพาะที่จำเลยอุทธรณ์คือ สายเคเบิลไฟฟ้า ลวดไฟฟ้า สายเคเบิลไฟฟ้าออพติก แม้เป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันแต่รายการสินค้าและลักษณะการใช้งานของสินค้าแตกต่างกันกล่าวคือ สินค้าตามรายการสินค้าของโจทก์เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้ามิใช่อุปกรณ์วัดกระแสไฟฟ้าดังเช่นสินค้าตามรายการสินค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้รับตราส่งตามใบตราส่งทางทะเลและผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาขนส่ง
ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกคู่ความเข้าสู่คดี: ตัวแทนต้องแสดงเหตุผลการไล่เบี้ยจากตัวการจึงจะเรียกได้
ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียง และความสุจริตของผู้ยื่นคำขอ
ขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นคือ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ใช้บังคับ แต่มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 บัญญัติว่า "บรรดา...คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ...ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้" การพิจารณาเรื่องเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่แก้ไขใหม่ มิใช่มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (11) (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังนั้น เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งตามประกาศดังกล่าว การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ได้แก่ (1) สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นจะต้องมีการจำหน่ายหรือมีการใช้ หรือมีการโฆษณาหรือได้มีการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใด ๆ อย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริต ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าของหรือผู้แทนหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายนั้นไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี (2) เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะการส่งเสริมการขายของบริษัท ซ. ที่โจทก์จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการขายของโจทก์เป็นไปอย่างจำกัด อีกทั้งโจทก์มิได้มีหลักฐานการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อสารมวลชนที่แสดงให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบถึงเครื่องหมายรูปประดิษฐ์ศีรษะซีซาร์สในวงกว้าง ประกอบกับพยานเอกสารกับวัตถุพยานเท่าที่ นาง ว. พยานโจทก์เบิกความถึงมีปริมาณเพียงเล็กน้อยยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการโฆษณาหรือมีการใช้เครื่องหมายหรือบริการดังกล่าวอย่างแพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในประเทศไทยเมื่อปี 2546 และยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2549 กับยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแล้วตั้งแต่ปี 2540 พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายล่าช้ากว่าจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการโดยไม่สุจริต เครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 8 (9) , (10) กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า - การใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์แล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประกอบด้วยรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะของสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อก ยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน ขาทั้งสี่ข้างล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ตรงกันจนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายได้อย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายกับการลอกเลียนกันมา คงมีข้อแตกต่างกันเพียงแต่ในรายละเอียดอื่นที่ไม่ใช่รูปสุนัข โดยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้มีเส้นตรงในแนวนอนลากผ่านด้านหลังขาทั้งสี่ช่วงล่างซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสุนัขยืนอยู่บนพื้นราบ แต่รูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของไม่มีเส้นตรงเช่นนั้นประกอบอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่างนี้ และแม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วยโดยที่เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่โจทก์กล่าวอ้างถึงไม่มีคำดังกล่าวประกอบหรือในบางครั้งก็มีคำว่า "MIRKA" ประกอบอยู่ด้วยอันเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาคส่วนรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบเหล่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีรูปลักษณะของรูปสุนัขซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อกในลักษณะที่คล้ายกับลอกเลียนกันมาดังกล่าว ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" ได้ ด้วยความคล้ายกันอย่างมากโดยคล้ายกับลอกเลียนกันมาของรูปสุนัขดังกล่าว ประกอบกับความเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นของรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าทั้งสองเช่นนี้ แม้จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของจำเลยไว้สำหรับใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าที่โจทก์ส่งมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์และของจำเลยต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทรายและกระดาษทรายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
โจทก์มีหลักฐานสำเนาหนังสือโต้ตอบ สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และสำเนาสัญญาตัวแทนจำหน่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และวัสดุที่ใช้ในการขัดถูในประเทศไทยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ในขณะที่จำเลยนอกจากจะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ผ่านตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าบริษัทที่จำเลยเคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการได้สั่งซื้อสินค้ากระดาษทรายของโจทก์มาจำหน่าย การที่โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้ากระดาษทรายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการขัดถูโดยใช้เครื่องหมายการค้า มาตั้งแต่ปี 2486 การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 และที่ 7 รวมทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและการที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า มาก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คงนำสืบเพียงว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยประกอบกิจการขายปลีกเครื่องมือช่างและเครื่องมือเกษตร รวมทั้งไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง กระดาษทราย และผ้าทราย แต่หลักฐานที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่มีลักษณะเป็นเอกสารที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โฆษณาสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาลงโฆษณา ส่วนพยานหลักฐานอื่นก็เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าอันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อกก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อก ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 แม้โจทก์จะยังไม่เคยนำสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่สินค้าที่โจทก์นำมาจำหน่ายในประเทศไทยและสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นแหล่งเดียว กับสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่จำเลยเริ่มยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค4208 อีกทั้งยังปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนดังกล่าวและที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าเครื่องมือช่างก่อสร้างจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกในปี 2535 กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยจงใจนำเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ที่พิพาทในคดีนี้ดีกว่าจำเลย กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ของจำเลย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง และเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จำเลยมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าววันที่ 15 มิถุนายน 2548 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 ส่วนระยะเวลาที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีของการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ไม่ใช่การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นคดีนี้ อีกทั้งจำเลยขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกและรายการเดิม แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน กรณีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกดีกว่าจำเลย การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับการใช้สินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องของจำเลย และนำสินค้านั้นออกขาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขของโจทก์กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องและสินค้าอื่นของจำเลย
รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะสินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าสุนัขพันธุ์บูลด็อก แต่รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นรูปที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ส่วนคำว่า "BULLDOG" ก็ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องโดยตรง จึงเป็นคำที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงอันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1969/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมดอายุความฟ้องเพิกถอนเครื่องหมายการค้า แม้มีสิทธิดีกว่าจำเลย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริตดัดแปลงลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปขอจดทะเบียน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า วันที่ 11 กันยายน 2546 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 29 มีนาคม 2553 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะมีสิทธิดีกว่าก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ต้องยื่นภายใน 15 วันนับจากวันที่ทราบเหตุสุดวิสัย และต้องระบุเหตุผลชัดเจน
จำเลยทั้งสองทราบว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยเหตุว่าตามคำร้องมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้า จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 โดยอธิบายเหตุแห่งการขาดนัดยื่นคำให้การและเหตุแห่งการที่ล่าช้า เพื่อให้คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง กรณีดังกล่าวมีผลเพียงทำให้จำเลยทั้งสองสามารถยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับที่สองได้โดยไม่ถือว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 หรือคำร้องฉบับที่สอง แม้จะมีเนื้อหาต่อเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับคำร้องฉบับแรก และจำเลยทั้งสองใช้ชื่อคำร้องว่าคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เพิ่มเติมก็ตาม แต่คำร้องฉบับที่สองก็คือคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่นั่นเอง และระยะเวลาการยื่นคำร้องต้องเป็นไปตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคหนึ่ง คือภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ หรือในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ค้นพบคำบังคับเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 จึงถือว่าวันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลงตั้งแต่ดังกล่าว และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำวันดังกล่าวมาใช้คำนวณระยะเวลา ดังนั้น เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 จึงพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง
คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง จะต้องกล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่คู่ความได้ขาดนัดยื่นคำให้การและข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล และเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้ากว่ากำหนดตามวรรคหนึ่ง แต่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอฉบับแรกวันที่ 8 ตุลาคม 2557 โดยคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งแต่เพียงเหตุที่จำเลยทั้งสองได้ขาดนัดยื่นคำให้การตามคำร้องขอข้อ 1 และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลว่าจำเลยทั้งสองมีทางชนะคดีโจทก์ตามคำร้องขอข้อ 2 เท่านั้น ส่วนเหตุแห่งการยื่นคำร้องขอล่าช้าจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองไม่อาจยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ข้างต้นโดยมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้อันจะทำให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง คำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ศาลจึงไม่อาจไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยทั้งสองฉบับแรกได้จนกว่าจำเลยทั้งสองจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยบรรยายชัดแจ้งซึ่งเหตุทั้งสามประการตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์และการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในคดีละเมิดลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่างานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือโต้แย้งลิขสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือพรหมญาณพยากรณ์อันเป็นงานวรรณกรรมและไพ่พรหมญาณ 1 ชุด มี 67 ใบ อันเป็นงานศิลปกรรม และในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยยังไม่ได้ให้การ จำเลยจึงยังไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือและไพ่ดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยนำไพ่อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปพิมพ์โฆษณาเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ โปรแกรมไลน์ และเว็บไซต์ยูทูบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์และเพื่อทางการค้าของจำเลย คดีโจทก์จึงมีมูลตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 69 และ ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15649-15650/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทุ่มตลาด: หลักเกณฑ์การหาส่วนเหลื่อมฯ, มูลค่าปกติ, การใช้ข้อมูลต้นทุน และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารที่มีความอ่อนไหว โดยแบ่งข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดเป็น 2 ประเภท คือ ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดโดยสาระและเนื้อหา ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความลับโดยสภาพ เช่น หากเปิดเผยแล้วจะเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญแก่คู่แข่ง หรือเปิดเผยแล้วจะเกิดผลเสียที่สำคัญต่อผู้ให้ข้อมูลหรือต่อบุคคลที่ให้ข้อมูลแก่ผู้ให้ข้อมูล (a person from whom that person acquired the information) กับข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารนั้นขอให้ปกปิด เมื่อข้อมูลข่าวสารในแบบคำขอให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดในกรณีนี้ ถือเป็นข้อมูลข่าวสารประเภทที่บริษัท บ. ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลขอให้ปกปิด จำเลยจึงตกอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 26 วรรคสอง ที่ว่า "ข้อมูลข่าวสารที่ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารขอให้ปกปิดนั้น การเปิดเผยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นั้นก่อน..." ทำให้จำเลยไม่อาจเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่บริษัท บ. ขอให้ปกปิดได้ การที่จำเลยปฏิบัติต่อข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวังตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.นี้ใน มาตรา 26 รวมทั้งให้สิทธิแก่ผู้มีส่วนได้เสียดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ข้อ 2 (3) จึงถือได้ว่าเจ้าหน้าที่จำเลยดำเนินการมาตรการที่เหมาะสมและตามควรแก่กรณีแล้ว ส่วนในเรื่องเหตุผลอันสมควรนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 6.5 แห่งความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้มาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้าด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 26 ซึ่งมิได้กำหนดในเรื่องเหตุผลอันสมควรไว้ แต่อย่างไรก็ดี เพื่อให้การพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดเป็นกระบวนการที่เป็นธรรม และเกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความลับของข้อมูลกับสิทธิในการรับรู้ข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายต่างๆ เจ้าหน้าที่จำเลยสมควรตรวจสอบด้วยว่าเหตุผลการปกปิดที่ผู้ให้ข้อมูลปกปิดรับฟังได้หรือไม่ เมื่อเนื้อหาข้อมูลข่าวสารที่บริษัท บ. ขอปกปิดนั้นมีข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท บ. รวมอยู่ด้วย จึงเห็นได้ชัดเจนว่าหากเปิดเผยแล้วกระทบต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทดังกล่าว ดังนั้นเจ้าหน้าที่จำเลยจึงพิจารณาถึงเหตุสมควรก่อนที่จะใช้ดุลพินิจเชื่อตามที่บริษัท บ. ชี้แจงแล้ว ส่วนมาตรา 30 เป็นขั้นตอนก่อนประกาศคำวินิจฉัย โดยกฎหมายให้โอกาสผู้มีส่วนได้เสียโต้แย้งก่อนมีการประกาศคำวินิจฉัยชั้นที่สุด จึงกำหนดหน้าที่ให้จำเลยแจ้งให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาหรืออีกนัยหนึ่งคือร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุด จำเลยได้ส่งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดให้แก่โจทก์แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์โต้แย้งร่างผลการไต่สวนชั้นที่สุดดังกล่าว แต่ในคดีนี้เป็นขั้นตอนการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียซึ่งหากพิจารณาจากความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) จะเห็นได้ว่ามาตรา 30 ดังกล่าวมีที่มาจากมาตรา 6.9 ของความตกลงดังกล่าว ส่วนเรื่องการตรวจดูข้อมูลของผู้มีส่วนได้เสียความตกลงดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 6.4
พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง จะไม่นำมาใช้กับกรณีที่คณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาด เนื่องจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 38 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 36 และมาตรา 37 วรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับคำสั่งทางปกครองที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง" ซึ่งในเรื่องการทุ่มตลาดมีกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ กำหนดรูปแบบของคำสั่งทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ เมื่อคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยเบื้องต้นหรือคำวินิจฉัยชั้นที่สุดเกี่ยวกับการไต่สวนการทุ่มตลาดแล้ว จำเลยจะออกประกาศแสดงรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาไต่สวนและเนื่องจากคำวินิจฉัยชั้นที่สุดของคณะกรรมการฯ ในคดีนี้ให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยจึงต้องประกาศรายละเอียดข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่คณะกรรมการฯ ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยมีรายการตามกฎหมายดังกล่าว ข้อ 1 (1) (ก) ถึง (จ) กับรายการที่เพิ่มเติมในข้อ 1 (2) เมื่อพิจารณาประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่องผลการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 แล้วปรากฏว่ามีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญที่ใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาผลการไต่สวนตลอดจนรายการครบถ้วนตามที่กำหนดกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ จึงฟังว่าประกาศดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จำเลยหรือคณะกรรมการฯ ต้องแจกแจ้งข้อเท็จจริงทุกอย่าง ที่ใช้เป็นข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนโดยละเอียด
ตามพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการเริ่มต้นกระบวนพิจารณาเมื่อบุคคลหรือคณะบุคคลตามมาตรา 33 ยื่นคำขอต่อกรมจำเลยเพื่อขอให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาด จำเลยต้องตรวจสอบรายละเอียดและพยานหลักฐาน แล้วเสนอคำขอต่อคณะกรรมการดังกล่าวเพื่อพิจารณาโดยคณะกรรมการฯ จะพิจารณาว่าคำขอมีมูลเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและความเสียหายหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าบุคคลและบุคคลตามมาตรา 3 เป็นเพียงผู้เริ่มกระบวนการพิจารณา แต่กระบวนพิจารณาต่อไปเป็นเรื่องของจำเลย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการด้านกฎหมายว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาดและดำเนินมาตรการป้องกันและตอบโต้ทางการค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2545 และของคณะกรรมการฯ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 มาตรา 73 ดังเห็นได้จากก่อนเริ่มการไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหาย คำขอต้องผ่านการพิจารณาของจำเลยและคณะกรรมการฯ ก่อน การไต่สวนการทุ่มตลาดและความเสียหายจึงมิได้ถูกจำกัดเฉพาะสินค้าที่ระบุในคำขอหรือตามเจตนารมณ์ของผู้ยื่นขอเท่านั้น จำเลยและคณะกรรมการฯ ดังกล่าวในฐานะผู้มีอำนาจ (the authorities) ย่อมสามารถประเมิน ทบทวน รวมทั้งพิจารณาว่าข้อเท็จจริงตามคำขอควรครอบคลุมถึงสินค้าใดบ้าง มิฉะนั้นอำนาจในการกำหนดขอบเขตจะกลายเป็นอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลผู้ยื่นคำขอ ทั้งที่การทุ่มตลาดมีผลถึงผู้บริโภค ประโยชน์สาธารณรัฐ และเศรษฐกิจโดยรวมด้วย มิใช่มีผลกระทบเฉพาะผู้ยื่นคำขอเท่านั้น ในเรื่องการกำหนดขอบเขตนี้ การวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ได้วินิจฉัยไว้ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยตามอำนาจของคณะกรรมการฯ ตาม พ.ร.บ.นี้ในมาตรา 73 โดยมิได้เป็นการใช้ดุลพินิจเกินกว่าขอบเขตแต่อย่างใด ประกอบกับการกำหนดขอบเขตการไต่สวนให้ครอบคลุมสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเพื่อป้องกันปัญหาการหลีกเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยวิธีการเปลี่ยนขนาดของสินค้าบล็อกแก้วชนิดใส ซึ่งจะทำให้การตอบโต้การทุ่มตลาดไม่สมประโยชน์และเป็นอันไร้ผลถือได้ว่าการวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติแล้ว นอกจากนี้ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 4 คำว่า "สินค้าชนิดเดียวกัน" หมายความว่า "สินค้าที่มีคุณสมบัติเหมือนกันทุกประการกับสินค้าที่ถูกพิจารณา แต่ในกรณีที่ไม่มีสินค้าดังกล่าวให้หมายความว่าสินค้าที่คล้ายคลึงกันอย่างมากกับสินค้าดังกล่าว" นิยามดังกล่าวบัญญัติไว้กว้างๆ มิได้กำหนดรายละเอียดในการพิจารณาเอาไว้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป ดังนั้น ในการพิจารณาสินค้าชนิดเดียวกัน จำเลยใช้องค์ประกอบทั้งหกประการประกอบกัน ในเรื่องพิกัดอัตราศุลกากรซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น เป็นระบบจัดแบ่งสินค้าตามประเภทโดยมีเลขรหัสกำกับ หรือ "Harmonized System" แม้โดยหลักจะใช้เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีศุลกากร แต่ยังมีประโยชน์ในการเก็บสถิติทางการค้าระหว่างประเทศ และช่วยแยกแยะความเหมือนและแตกต่างของสินค้าได้ และโดยสภาพย่อมทดแทนกันได้ สำหรับขนาดและลวดลายของบล็อกแก้วชนิดใสเป็นเรื่องกลยุทธ์ทางการตลาดที่ต้องการทำให้สินค้าครอบคลุมความต้องการและรสนิยมที่แตกต่างกันของผู้บริโภค โดยใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ของผู้บริโภคว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสมีความแตกต่างกัน ทั้งที่สินค้าบล็อกแก้วชนิดใสไม่มีคุณลักษณะแตกต่างกันในสาระสำคัญในแง่ของประโยชน์ใช้สอย ถือได้ว่าสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสทุกขนาดเป็นสินค้าชนิดเดียวกัน ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ การกำหนดมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด จึงไม่ต้องจำกัดเฉพาะสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสขนาด 190 x 190 x 80 มิลลิเมตร และขนาด 190 x 190 x 100 มิลลิเมตร เท่านั้น
ในการหามูลค่าปกติเมื่อได้ราคาขายภายในประเทศผู้ส่งออก ตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่งแล้ว ต้องพิจารณาว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตตามวรรคสามด้วย จะเห็นได้ว่าการตัดราคาส่งออกบางจำนวนออกไปอาจทำให้ราคาส่งออกโดยวิธีถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักเกิดความคลาดเคลื่อนได้ นอกจากนี้เมื่อคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดแล้ว ปรากฏว่าราคาส่งออกต่ำกว่ามูลค่าปกติประมาณร้อยละ 9 วิธีการคำนวณของจำเลยจึงมีความแม่นยำกว่า การคำนวณของจำเลยจึงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 15 และมาตรา 14 กล่าวคือใช้วิธีการตามมาตรา 15 วรรคสาม ประกอบวรรคหนึ่ง ในการหามูลค่าปกติและใช้วิธีการตามมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ในการหาราคาส่งออก จากนั้นใช้วิธีเปรียบเทียบที่เรียกว่าวิธีเปรียบเทียบระหว่างมูลค่าปกติถั่วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักกับราคาส่งออกถั่วเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก (weighted average - to - weighted average) ตามมาตรา 18 วรรคสอง (1) เพื่อหาส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด ส่วนเรื่องความเสียหายต้องพิจารณาเป็น 2 ส่วนคือ ความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน และความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน (causal link between dumped imports and material injury) เรื่องความเสียหายอย่างสำคัญเกิดแก่อุตสาหกรรมภายในตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 19 (1) ต้องมีพยานหลักฐานโดยตรงสนับสนุนเกี่ยวกับความเสียหายอย่างสำคัญที่เกิดแก่อุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดโดยมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้แก่ (1) ปริมาณของสินค้าทุ่มตลาดและผลของการทุ่มตลาดที่มีต่อราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในประเทศ และ (2) ผลกระทบของการทุ่มตลาดนั้นที่มีต่ออุตสาหกรรมภายใน เมื่อพิสูจน์ได้ว่ามีความเสียหายเนื่องจากปริมาณของสินค้าทุ่มตลาด และการทุ่มตลาดมีผลต่อราคาของสินค้าชนิดเดียวกันในตลาดภายในประเทศตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว การที่เจ้าหน้าที่จำเลยพิจารณาความเสียหายจากปัจจัยทั้งสิบห้าประการดังกล่าวสอดคล้องกับความตกลงด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 (Agreement on lmplement of Article VI of the General Agreement on Tariffs and Trade 1994) มาตรา 3.4 การพิจารณาของจำเลยจึงมีความน่าเชื่อถือ ทั้งการพิจารณาข้อมูลในเรื่องการทุ่มตลาดเป็นการพิจารณาในภาพรวมเรื่องปริมาณของสินค้าทุ่มตลาด โดยพิจารณาจากสินค้าบล็อกแก้วชนิดใสจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียทุกรายเพียงแต่มีบริษัท พ. ซึ่งเป็นผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกจากประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซียเพียงบริษัทเดียวที่ตอบแบบสอบถาม สำหรับเรื่องผลกระทบของการทุ่มตลาดต่ออุตสาหกรรมภายในโดยพิจารณาผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศที่มีผลผลิตรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตภายในประเทศ ดังนั้นการที่จำเลยได้รับข้อมูลจากบริษัททั้งสองซึ่งครอบคลุมปัจจัยต่างๆ เพียงพอที่จะใช้ในการพิจารณาผลกระทบแล้ว แม้บริษัท บ. อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาข้อมูลแต่อย่างใด
สำหรับการพิจารณาความเสียหายในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในนั้น พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 21 เมื่อเทียบเคียงกับความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.5 แล้วจะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของบทบัญญัติมาตรานี้คือการพิจารณาปัจจัยที่ทราบทั้งหมด (ซึ่งรวมถึงปัจจัยที่มีการหยิบยกขึ้นในระหว่างการไต่สวน) นอกเหนือจากการทุ่มตลาด (any known factors other than dumped imports) แต่ให้พิจารณาเฉพาะปัจจัยที่ก่อความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในในเวลาเดียวกันกับการทุ่มตลาด และความเสียหายจากปัจจัยอื่นนั้นต้องไม่ถือว่าเกิดจากการทุ่มตลาด (the injuries caused by these other factors must not be attributed to the dumped imports) โดยการฟื้นฟูกิจการของบริษัท บ. ย่อมเกี่ยวกับสถานะของอุตสาหกรรมภายใน (the state of the industry) ซึ่งเป็นเรื่องต้องใช้พิจารณาตาม พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) และปัจจัย 15 ประการ ที่จำเลยพิจารณาครอบคลุมการดำเนินงานของบริษัทดังกล่าวระหว่างที่ฟื้นฟูกิจการอยู่แล้ว โดยมีความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.4 เป็นบทบัญญัติในเรื่องผลกระทบของการทุ่มตลาดที่มีต่ออุตสาหกรรมภายใน ซึ่งใช้พิจารณาว่ามีความเสียหายอย่างสำคัญเกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือไม่ และเทียบเคียงได้กับ พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (2) นอกจากนี้ยังปรากฏว่ากระทรวงพาณิชย์นำข้อความในมาตรา 3.4 แห่งความตกลงนี้ไปบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงพาณิชย์กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมภายในจากการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พ.ศ.2545 โดยข้อความตอนท้ายของมาตราดังกล่าวที่ว่า "This list is not exhaustive, nor can one or several of these factors necessarily give decisive guidance." บัญญัติไว้ในข้อ 2 วรรคท้าย ว่า "ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นยังไม่ครอบคลุมทุกอย่าง และปัจจัยหนึ่งหรือหลายปัจจัยที่กล่าวนี้ ไม่ถือเป็นข้อพิจารณาที่ตายตัว" ส่วนเรื่องความสัมพันธ์สินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในเป็นกรณีของพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ มาตรา 21 หรือเทียบเคียงได้กับ มาตรา 3.5 แห่งความตกลงว่าด้วยการซึ่งให้มีผลซึ่งบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 ดังนั้น การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอ้างกฎกระทรวงพาณิชย์ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อุตสาหกรรมภายในจากการทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน พ.ศ.2545 ข้อ 2 วรรคท้าย กับความตกลงว่าด้วยการทำให้มีผลซึ่งบังคับใช้ซึ่งมาตรา 6 แห่งความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า ค.ศ.1994 มาตรา 3.4 ในการพิจารณาความสัมพันธ์สินค้าทุ่มตลาดกับความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในจึงไม่ถูกต้อง
of 3