คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมศักดิ์ ภัทรสุมันต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 65 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินก่อนสมรส: สินส่วนตัว/มรดก, การจัดการมรดก, การปิดบังทรัพย์มรดก
การนำสืบพยานบุคคลถึงความเป็นมาอันแท้จริงของสัญญาซื้อขายที่ดินว่าเพราะเหตุใดจึงมีชื่อจำเลยเป็นผู้รับโอน ไม่ใช่การนำสืบเพื่อบังคับตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
การที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้เงินซื้อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ ก่อนจดทะเบียนสมรสและช่วยกันผ่อนชำระหนี้ธนาคารเข้าลักษณะเป็นหุ้นส่วนกันมาแต่เดิม แต่การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไม่ปรากฏว่ามีการตกลงกันเป็นอย่างอื่น จึงเป็นการถือกรรมสิทธิ์รวมของผู้ตายกับจำเลยคนละครึ่ง ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายกับจำเลยมีอยู่ก่อนสมรส จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยฝ่ายละครึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ส่วนการที่ผู้ตายกับจำเลยร่วมกันกู้ยืมเงินในการซื้อตอนแรกก่อนสมรส โดยนำที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ไปจำนองเป็นประกันหนี้ แล้วมีการผ่อนชำระหนี้เรื่อยมาจนมีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองมาเป็นชื่อผู้ตายกับจำเลยภายหลังจดทะเบียนสมรสนั้น เป็นเพียงขั้นตอนการชำระหนี้ของผู้ตายกับจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายกับจำเลยมาก่อนสมรสต้องกลายเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมทาวน์เฮาส์จึงเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายครึ่งหนึ่ง
ไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายใดบัญญัติให้คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกจะต้องระบุถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งหมด การที่จำเลยยื่นคำร้องขอโดยไม่ได้ระบุที่ดินอีก 5 แปลง ไว้ในบัญชีทรัพย์มรดก ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดก อันเป็นเหตุให้จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1186/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ด้วยวิธีปิดหมายต้องรอ 15 วันก่อนมีคำสั่งขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยยื่นคำร้องว่า การส่งหมายของพนักงานเดินหมายด้วยวิธีปิดหมาย กฎหมายกำหนดให้ระยะเวลามากขึ้นเพิ่มเติมออกไปอีก 15 วัน เมื่อเจ้าพนักงานส่งหมายเรียกคดีมโนสาเร่ให้แก่จำเลยโดยวิธีการปิดหมายวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 กรณีจึงต้องให้ระยะเวลาแก่จำเลยสามารถยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2556 แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 ตามที่ระบุในหมายเรียก ศาลมีคำสั่งให้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยให้โจทก์นำพยานเข้าสืบไปฝ่ายเดียว และรอฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าว เท่ากับจำเลยอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมหรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการส่งคำคู่ความ จึงเป็นการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 มิใช่คำร้องเพื่อขอใช้สิทธิ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 ตรี จัตวา และเบญจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรง การลงมติไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่เป็นความผิด ม.157
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้นเองโดยมิชอบด้วยเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต ถ้าไม่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ขณะเกิดเหตุอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 30 จำเลยทั้งหกมีอำนาจตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายตามมาตรา 13 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมิได้กำหนดให้จำเลยทั้งหกในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่จำเลยทั้งหกมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชลบุรีแล้วมีมติว่า ให้ส่งตัวโจทก์คืนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและให้แต่งตั้งหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนคนใหม่แทนโจทก์ จำเลยทั้งหกกระทำไปโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ทั้งไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ทำหนังสือขอส่งตัวโจทก์คืนไปยังเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการมีคำสั่งเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวอย่างไร การที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็เป็นเวลาตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2548 ก่อนที่จะมีมติดังกล่าว ส่วนที่โจทก์ได้รับคำสั่งให้ช่วยราชการต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามคำสั่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยไม่ปรากฏว่าการมีคำสั่งดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการลงมติของจำเลยทั้งหกที่ให้ส่งตัวโจทก์คืน การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จึงหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18869/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการประชุมใหญ่สหกรณ์ การปลดกรรมการ และการกระทำละเมิดต่อสหกรณ์
จำเลยที่ 1 กับพวกเห็นว่าคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 บริหารงานสหกรณ์โจทก์บกพร่องและทุจริต อาจสร้างความเสียหายให้แก่สหกรณ์โจทก์อย่างมาก กรณีมีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 กับพวกเชื่อว่าสามารถดำเนินการประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 แล้วมีมติให้ปลดคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 ออกและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดใหม่ ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ซึ่งเป็นวันเปิดทำการสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไม่สามารถเข้าไปในที่ทำการสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ จำเลยที่ 1 กับพวกไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและเชิญเจ้าพนักงานตำรวจมาเป็นสักขีพยานตัดลูกกุญแจเพื่อเข้าไปทำงานในสำนักงานของสหกรณ์โจทก์ตามปกติ ประกอบกับวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 นายทะเบียนสหกรณ์วินิจฉัยว่า การเรียกและจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีของฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับ ทำให้มติที่ออกมาไม่มีผลบังคับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์โจทก์ชุดที่ 38 เข้าดำเนินการสหกรณ์โจทก์ต่อไป จำเลยที่ 1 กับพวกก็ยอมปฏิบัติตาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งยี่สิบกระทำโดยประสงค์ต่อผลให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยทั้งยี่สิบกระทำไปโดยมีเจตนาเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์และปกป้องมิให้สหกรณ์โจทก์ได้รับความเสียหายต่อไป จึงมิใช่เป็นการจงใจหรือกลั่นแกล้งที่จะให้สหกรณ์โจทก์เกิดความเสียหาย จำเลยทั้งยี่สิบจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18803/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดินหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยทราบดีว่าที่ดินเป็นของโจทก์จึงมีเจตนาบุกรุก
ศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อปี 2547 โดยวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความรวมทั้งโจทก์ด้วย และเมื่อเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์ อันเป็นคุณแก่โจทก์จึงอาจใช้ยันจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีดังกล่าวได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกนั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับ จ. เป็นจำเลยต่อศาลแขวงอุบลราชธานี จึงมิใช่กรณียังไม่เป็นที่ยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ต่อมาเมื่อปี 2551 จำเลยที่ 1 กับ จ. ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทของโจทก์จนศาลพิพากษาลงโทษและให้ออกไปจากที่ดินพิพาท จากนั้นปี 2552 จำเลยทั้งสองยังเข้าไปในที่ดินพิพาทอีกจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนากระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินพิพาทแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18162/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีหมิ่นประมาทของนิติบุคคล: วิทยาลัยฯ เป็นผู้เสียหายโดยตรง
วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17905/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การบังคับใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลัง และการนับระยะเวลาหลบหนี
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ดังนี้ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 74/1 ประกอบมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติว่าจำเลยมีความผิดอาญา จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี จึงมีอายุความสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 เกินกว่าสิบห้าปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17401/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับ เพราะไม่ขออนุญาตฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบโดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 เมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง กล่าวคือไม่ขออนุญาตศาลฎีกาให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16352/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมแปลงเอกสารและรอยตรา, การฉ้อโกง, และการลงโทษกรรมเดียว
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ศาลล่างทั้งสองจึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วม การที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 7,655,000 บาท แก่โจทก์ร่วมจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 43 แล้ว
ความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานและฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้น อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 251 และ 252 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันปลอมขึ้นซึ่งรอยตราของทบวงการเมืองหรือเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 251 ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันใช้รอยตราที่ทำปลอมขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 252 จึงต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 251 แต่กระทงเดียวตาม ป.อ. มาตรา 263
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารสัญญาที่จะออกหนังสืออนุญาตการทำงานสำหรับชาวต่างชาติ ปลอมเอกสารการอนุญาตให้คนหางานเดินทางเข้าไปในสาธารณรัฐโปแลนด์ (วีซ่า) ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐโปแลนด์ ปลอมหนังสือของกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ถึง กรมการจัดหางาน ปลอมรอยตราประทับของสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอร์ซอ ขึ้น แล้วนำรอยตราปลอมที่ทำขึ้นดังกล่าวไปใช้ประทับลงในเอกสารหนังสือความต้องการลูกจ้าง หนังสือมอบอำนาจ และหนังสือสัญญาจ้างแรงงานของบริษัท ซ. จากนั้นนำเอกสารปลอม เอกสารราชการปลอม และเอกสารที่มีรอยตราปลอมดังกล่าวไปแสดงแก่โจทก์ร่วม เป็นการกระทำที่ล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือหลอกลวงโจทก์ร่วมให้หลงเชื่อแล้วจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการเพื่อจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 251 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161-16162/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์โดยใช้เอกสารปลอม: เจตนาทุจริตตั้งแต่ต้นเป็นลักทรัพย์ ไม่ใช่ฉ้อโกง
การที่ ท. พนักงานขายของผู้เสียหายส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสือ ส.ป.ก. 4 - 01 ข ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหาย เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่เป็นความผิดหลายกรรม
of 7