คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมยศ เข็มทอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 297 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14113/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ: คำพิพากษาตามยอมผูกพันคู่ความ แม้ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148
ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13857-13858/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งระหว่างพิจารณาคดี และการฎีกาที่ไม่ชัดเจนโต้แย้งเหตุผลคำสั่ง
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยแล้วถือว่าคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเรียกให้จำเลยนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควร จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 226 (1) ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นการไม่ชอบ จำเลยฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 เกี่ยวกับการงดการบังคับคดีโดยอ้างเพียงว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าจำเลยต้องปฏิบัติอย่างไร เช่นนี้ฎีกาของจำเลยจึงมิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13008/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยการใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ถูกต้องหลายเดือน ถือเป็นกรรมเดียว
จำเลยทั้งสองร่วมกันนำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปลงรายการในรายงานภาษีซื้อแต่ละคราวในเดือนเดียวกัน แล้วนำไปใช้ในการเครดิตภาษีก็โดยมีเจตนาและจุดประสงค์อย่างเดียวกันคือเพื่อจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีนั้น ๆ จึงถือว่าการกระทำตามฟ้องในแต่ละเดือนภาษีเป็นการกระทำกรรมเดียวกันอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อจำเลยทั้งสองกระทำการในลักษณะดังกล่าวรวม 7 เดือนภาษี จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งสองเพียง 7 กรรม ตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12758/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีทรัพย์สินจำนองหลังมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์: สิทธิเจ้าหนี้มีประกัน & อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดี
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (2) บัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวในการเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น แม้ทรัพย์สินนั้นจะอยู่ในระหว่างการบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ยังต้องปฏิบัติตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เว้นแต่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 110 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 112 ทั้งนี้ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาแบ่งเฉลี่ยให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเสมอภาคตามส่วน แต่อำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันตามมาตรา 110 วรรคท้าย
คดีนี้หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2546 และมีคำพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 แล้ว ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับทรัพย์จำนอง หรือมอบหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้แทน หรือเจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือสอบถามไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ยึดไว้อันถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย แต่กลับปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองในคดีนี้ต่อไปในวันที่ 8 มิถุนายน 2548 และเพิ่งมามีคำสั่งในคำร้องของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2551 ว่าให้สอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งเป็นการสอบถามภายหลังจากที่ดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปแล้ว จึงมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองไปตามอำนาจหน้าที่ของตนในการบังคับคดีแพ่ง ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 2 การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่เป็นการขายทอดตลาดในคดีล้มละลายอันเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือถือได้ว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ ประกอบกับทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการชำระหนี้แก่โจทก์เดิม แม้ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ย่อมไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์เดิมในฐานะเจ้าหนี้มีประกันในการที่จะบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์จำนองฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายดังที่ศาลล่างวินิจฉัย โจทก์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีนี้ได้ โดยหาจำต้องไปยื่นคำร้องในคดีล้มละลายดังที่ผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12628/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขข้อความในเอกสาร การนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสาร และผลผูกพันตามข้อความที่แก้ไข
การยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์ทั้งสามจึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้น หมายถึงการนำสืบพยานบุคคลถึงข้อความอื่นให้แตกต่างไปจากข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอกสารนั้น แต่ที่โจทก์ทั้งสามนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสารหมาย จ.11 นั้น เป็นการนำสืบถึงความมีอยู่จริงของข้อความที่ปรากฏอยู่แล้วในเอกสาร มิใช่นำสืบข้อความอื่นที่แตกต่างไปจากข้อความในเอกสารจึงมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ส. บุตรจำเลยเป็นผู้เขียนข้อความทั้งหมดลงในเอกสารหมาย จ.11 แม้ข้อความตามหมายเหตุในเอกสารดังกล่าวจะมิได้มีอยู่ในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ทั้งสามโต้แย้งว่าไม่ตรงกับความจริงเพราะเงิน 130,000 บาท มิใช่เงินตอบแทนจดทะเบียนภาระจำยอม แต่เป็นเงินที่จำเลยต้องดำเนินการโอนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยก็ให้ ส. เขียนข้อความหมายเหตุไว้ว่าจำเลยจะยกทางให้เป็นทางสาธารณะภายใน 1 ปี จึงถือว่าข้อความตามหมายเหตุนั้นมีอยู่ในขณะที่จำเลยจัดทำเอกสารหมาย จ.11 ก่อนที่จำเลยจะส่งมอบให้โจทก์ทั้งสามเก็บรักษาไว้ กรณีจึงมิใช่การเพิ่มเติมข้อความในภายหลังที่จำเลยจะต้องลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วย จำเลยจึงมีความผูกพันต่อโจทก์ทั้งสามที่จะต้องจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณะตามข้อความในหมายเหตุเอกสารหมาย จ.11

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10970/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องหลังฟื้นฟูกิจการ: สิทธิเรียกร้องก่อนฟื้นฟูกิจการต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โจทก์อ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ส่งมอบงานที่จำเลยว่าจ้างให้จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม 2542 เท่ากับโจทก์อ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยชำระสินจ้างได้ตั้งแต่วันส่งมอบงานที่ทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 ถือว่าสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของโจทก์ และจำเลยไม่ได้รับว่าเป็นหนี้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ทำแผนหรือผู้บริหารแผนของโจทก์ที่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นโดยวิธีทวงหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/39 โจทก์โดยผู้บริหารแผนจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง หากศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้นไม่ถูกต้อง ก็ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10904/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่ากระแสไฟฟ้า: องค์การบริหารส่วนตำบลให้บริการสาธารณูปโภค ไม่ถือเป็นการค้า
จำเลยทั้งสามซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ไปเพื่อดำเนินการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรของประชาชนในท้องถิ่น การดำเนินการของจำเลยทั้งสามจึงมุ่งเน้นในการให้บริการสาธารณูปโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่อยู่ในข้อยกเว้นของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10820/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์ของ กกต. ชอบด้วยกฎหมาย แม้ข้อความหลอกลวงมิได้ปรากฏในหนังสือร้องเรียนแรกเริ่ม แต่ได้จากการไต่สวน
แม้ ป. จะไม่ได้กล่าวถึงข้อความที่ว่า "เราชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรค ช. ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 ว. เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ." ในหนังสือร้องเรียน แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อความดังกล่าวจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ตามบันทึกถ้อยคำของ อ. ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนราธิวาสต้องส่งสำนวนและความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ตามข้อ 31 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย จึงเท่ากับว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งได้วินิจฉัยข้อความที่ว่า "เราชาวนราฯ ผู้สนับสนุนพรรค ช. ขอส่งรองประธานสาขาพรรค เขต 1 ว. เบอร์ 1 เขต 4 เป็นสมาชิก อบจ." ที่ปรากฏจากการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน กกต. จว. นราธิวาส ว่า เป็นข้อความที่แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส จูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ตนเองด้วยวิธีการหลอกลวง ให้เข้าใจผิดว่าตนเป็นผู้สมัครของพรรค ช. ตามหนังสือร้องเรียนของ ป. แล้ว ดังนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยตามข้อ 36 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2546 การแจ้งความร้องทุกข์ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10664/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อขาย: ผู้ซื้อไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินไถ่ถอนจำนอง จำเลยไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายซึ่งมีข้อตกลงว่า จำเลยตกลงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้โจทก์ โดยโจทก์จะต้องไปชำระเงินที่ยังค้างชำระตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเพื่อไถ่ถอนจำนองแก่ธนาคาร อ. ก่อน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏจากคำเบิกความโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ชำระเงินที่ยังค้างชำระและไถ่ถอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากธนาคาร อ. กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงในหนังสือสัญญาจะซื้อขายให้ถูกต้อง โจทก์จะขอบังคับจำเลยให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทแก่ตนมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10399/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขยายระยะเวลาวางเงินซื้อทรัพย์ทอดตลาด: สัญญาผูกพัน, เหตุสุดวิสัย, เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจจำกัด
ตามสัญญาซื้อขายระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับผู้ร้อง ข้อ 2.3 กำหนดว่า ผู้ร้องจะนำเงินค่าซื้อทรัพย์ที่ค้างชำระมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อเป็นต้นไป ในกรณีที่ผู้ร้องไม่สามารถชำระเงินส่วนที่ค้างชำระได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยระบุเหตุผลและความจำเป็น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขยายให้อีกตามที่เห็นสมควรทั้งนี้ไม่เกิน 3 เดือน และไม่ว่ากรณีใดๆ จะไม่มีการขยายระยะเวลาวางเงินให้อีก แสดงว่าหากผู้ร้องไม่สามารถชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ที่เหลือภายในกำหนด 15 วัน ผู้ร้องสามารถขอขยายระยะเวลาวางเงินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขยายให้ได้ไม่เกิน 3 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือและเจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินไป 3 เดือน แล้วตามสัญญา เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมไม่มีอำนาจจะขยายระยะเวลาวางเงินออกไปได้อีก จึงเป็นคำสั่งที่เป็นไปตามสัญญาซื้อขายและไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์โดยยื่นคำร้องเมื่อเลยกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องได้ต้องเป็นกรณีมีเหตุสุดวิสัย ที่ผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์มีราคาสูง ผู้ร้องอยู่ระหว่างขอสินเชื่อธนาคาร จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าซื้อทรัพย์ได้
of 30