พบผลลัพธ์ทั้งหมด 297 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10279/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลขยายเวลาอุทธรณ์: ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แม้เกิดจากความผิดพลาดของทนาย
ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2552 อ้างว่าทนายจำเลยหลงผิดว่าได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลก่อนวันที่ 30 กันยายน 2552 อันเป็นวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ และเข้าใจผิดว่าวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์เป็นวันที่ 1 ตุลาคม 2552 คำร้องดังกล่าวนั้นมิใช่เป็นการขอขยายระยะเวลาโดยอ้างว่ามีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่เป็นการขออนุญาตให้ศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปตามกฎหมาย จึงเป็นดุลพินิจที่ศาลชั้นต้นจะพิจารณา เมื่อศาลชั้นต้นเห็นควรให้โอกาสจำเลยและอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2552 จึงชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10061/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การครอบครองปรปักษ์ต้องสงบต่อเนื่อง หากเจ้าของที่ดินโต้แย้งสิทธิ การครอบครองนั้นไม่สมบูรณ์
การจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองนั้น นอกจากจะต้องครอบครองโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีแล้ว ยังจะต้องได้ความว่าเป็นการครอบครองไว้โดยสงบอีกด้วย การร้องทุกข์และนำเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตรวจสอบแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปเสียจากที่ดิน ย่อมมีผลให้การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยถูกโต้แย้ง ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการครอบครองโดยสงบที่จะนำระยะเวลาการครอบครองไปรวมเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9993-9995/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าซื้อเลิกแล้ว การนำเช็คที่ออกไว้ก่อนหน้านั้นไปเรียกเก็บเงินยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค
เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งหมดส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วมถือว่าสัญญาเช่าซื้อทุกฉบับเลิกกันตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือนับแต่วันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันอีกต่อไป และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธินำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายล่วงหน้าเพื่อชำระค่าเช่าซื้อคงเหลือไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9422/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงโทษคดีขายวัตถุออกฤทธิ์ฯ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ฯ ที่ไม่ลดโทษต่ำกว่าขั้นต่ำ แม้จำเลยให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
ความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยให้จำคุก 5 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำที่สุดตามกฎหมายสำหรับความผิดนั้น ทั้งยังลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน เนื่องจากมีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 อันเป็นการลดโทษมากที่สุดที่จะลดได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ทั้ง พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ไม่มีบทบัญญัติให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ในกรณีที่จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะลงโทษจำเลยให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9408/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัล แม้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวก่อนหน้านี้ ก็เป็นความผิดตามกฎหมาย
แม้ว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยจะมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันมาก่อนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อในวันเกิดเหตุจำเลยเข้ามาโอบกอดโจทก์ร่วมถูกหน้าอก ท้อง และแขนของโจทก์ร่วมโดยโจทก์ร่วมมิได้ยินยอมและดิ้นรนขัดขืน ทั้งยังกระทำต่อหน้าบุคคลอื่น ย่อมเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายต่อหน้าธารกำนัลแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9276/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย: ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุ จำเลยป้องกันตนเองและผู้อื่นจากการถูกทำร้าย จึงไม่มีความผิดฐานฆ่า
ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุและวิ่งไล่ทำร้าย ร. จากโรงลิเกจนไปถึงที่เกิดเหตุ แล้วใช้มีดฟันแขน ร. ได้รับบาดเจ็บและเตะถีบ ร. จนล้มลงแล้วใช้อาวุธปืนจ่อ ร. พร้อมจะยิงและพูดว่ามึงตายอันเป็นการหมายเอาชีวิต ร. นับว่าเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายใกล้จะถึงจำเลยได้ห้ามปรามแล้ว แต่ผู้ตายไม่เชื่อฟัง ในสถานการณ์เช่นนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในทันทีทันใดจึงเป็นการยับยั้งการกระทำของผู้ตาย และป้องกันชีวิต ร. ทั้งจำเลยยิงปืนเพียงนัดเดียว ถือได้ว่าจำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงหาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ส. มารดาผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ตลอดจนไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงหาต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 449 วรรคหนึ่ง การที่ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ส. มารดาผู้ตายย่อมไม่มีสิทธิดำเนินคดีแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ตลอดจนไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8310/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์: ศาลชั้นต้นมีอำนาจวินิจฉัยพฤติการณ์พิเศษ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยซ้ำ
คำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นคำร้องขอขยายเวลาในกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ได้ และได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ออกไปตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นการปฏิบัติไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจศาลชั้นต้นในการดำเนินการอนุญาตเช่นนั้นได้ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงต้องยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยลำพังได้ว่าไม่มีพฤติการณ์พิเศษที่จะสั่งให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นภายในกำหนดระยะเวลา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องรับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่เพิกถอนการยึดทรัพย์แทนเจ้าพนักงานบังคับคดี หากไม่ได้โต้แย้งการยึดตั้งแต่แรก
การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดห้องชุดของจำเลยเพื่อนำออกขายทอดตลาด หากจำเลยเห็นว่าเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวเกินกรณีจำเป็นแก่การบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จำเลยชอบที่จะโต้แย้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นให้วินิจฉัยว่าการยึดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำร้องขอถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวและศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพราะไม่มีพยานมาไต่สวน จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยซึ่งไม่ได้โต้แย้งการยึดและมีคำขอให้เพิกถอนการยึดมาตั้งแต่ต้น จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งยกคำร้องแทนเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8124/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: กำหนด 10 ปีนับจากคดีอาญาถึงที่สุด แม้ผู้เสียหายไม่ได้ร่วมฟ้อง
ประเด็นในคดีอาญาและคดีแพ่งนี้เป็นประเด็นเดียวกันว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือไม่ กรณีจึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่พนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เมื่อคดีอาญาถึงที่สุดแล้วโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยก่อนที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาดังกล่าวก็ตาม เพราะบทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสาม มิได้บัญญัติให้ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7899/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแบ่งกรรมสิทธิ์รวม: ศาลต้องสืบราคาบ้านตามตกลงก่อนมิใช่ขายทอดตลาด
โจทก์และจำเลยแถลงรับกันว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านพิพาท และตกลงกันได้แล้วว่าจะแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยให้บ้านพิพาทตกเป็นของจำเลย แล้วชำระราคาบ้านพิพาทให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งตามฟ้อง คงมีปัญหาเฉพาะเรื่องราคาบ้านพิพาทซึ่งจำเลยยังไม่ยอมรับราคาตามที่โจทก์ฟ้อง กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1364 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและพิพากษาให้นำบ้านพิพาทออกขายโดยประมูลราคากันระหว่างโจทก์และจำเลย หากไม่สามารถตกลงกันได้ให้นำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละครึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการแบ่งกรณีเจ้าของรวมไม่ตกลงกันว่าจะแบ่งทรัพย์สินอย่างไร จึงไม่ชอบ แม้จำเลยจะไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานก็ตาม แต่กรณีเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาให้ได้ความจริงตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ มิใช่ประเด็นที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานและจำเลยมิได้คัดค้านไว้ จึงเห็นควรให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นดังกล่าวใหม่