คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 91/5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3617/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายที่ดินติดจำนอง ต้องประเมินราคาตามมูลค่าที่แท้จริงรวมภาระจำนอง
แม้หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ จะจัดให้มีเหตุผลของการประเมินไว้เพียงว่า โจทก์มีรายรับจากการขายที่ดินพิพาท โดยมิได้มีการยื่นแบบและชำระภาษีไว้ เจ้าพนักงานจึงประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย โดยมิได้จัดให้มีข้อกฎหมายที่อ้างอิง รวมทั้งข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจก็ตาม แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือเรื่องขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินซึ่งได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณา และข้อสนับสนุนการใช้ดุลพินิจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโจทก์ทั้งสามก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ จำเลยมิได้ให้เหตุผลในการนำคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 มาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินธุรกิจเฉพาะแก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยต้องใช้คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.57/2538 ที่มีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ทั้งสามทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วน การที่หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะระบุถึงคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ก็เป็นการอ้างเหตุผลในการประเมินไปตามคำสั่งฉบับนี้อันเป็นการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองที่ประเมินภาษีโจทก์ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่งแล้ว
พฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสามรับโอนที่ดินพิพาทมาจากบิดาแล้วโอนให้แก่บริษัท ว. ซึ่งโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ซื้อหุ้นเพื่อนำไปประกอบกิจการอาคารชุด ทำการโอนภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท เป็นการโอนไปเพื่อแสวงหากำไรทางการค้า จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการค้าหรือกำไร (ฉบับที่ 244) มาตรา 3 (6) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น
ป.รัษฎากร มาตรา 91/5 ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) รายรับจากการประกอบกิจการคือ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมาตรา 91/1 (1) บัญญัติความหมายของรายรับว่า เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการ และให้ความหมายของมูลค่าไว้ใน มาตรา 91/1 (2) ว่าหมายถึง ราคาตลาดของทรัพย์สินฯ ยังให้ความหมายของราคาตลาดไว้ใน มาตรา 91/1 (3) ว่าราคาที่ซื้อขายกันหรือที่คิดค่าบริการกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสามโอนที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ว. เป็นการโอนที่ดินพิพาทได้จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ที่บริษัทมีต่อบริษัท อ. เป็นการขายที่ดินโดยติดภาระจำนอง ภาระจำนองย่อมตกติดไปกับตัวทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสองและโจทก์ทั้งสามไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานว่าที่ดินที่โอนไปมีราคาซื้อขายกันจริงในขณะโอนเป็นเงินเท่าใด มีเหตุเชื่อว่าผู้รับโอนคิดหักราคาที่ต้องชำระแก่ผู้โอนตามมูลค่าแห่งภาระจำนองที่ตนเองต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า ราคาที่ดินที่ควรซื้อขายกันจริงขณะนั้นสำหรับกรณีการขายใดติดจำนองมีราคาตามที่ผู้โอนกับผู้รับโอนชำระกันรวมกับจำนวนเงินอย่างน้อยตามวงเงินจำนองด้วย กรณีของโจทก์ทั้งสามไม่ต้องด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ
เมื่อโจทก์ทั้งสามเข้าชื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแล้วย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 วรรคสอง ที่ให้นำบทนิยามคำว่า คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลตามมาตรา 77/1 มาใช้บังคับ ซึ่งให้หมายความถึง กิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5941/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: เงินมัดจำซื้อขายที่ดินที่ไม่เข้าลักษณะเป็นรายได้ หากคืนเงินให้ผู้ซื้อ
โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากองค์การรถไฟฟ้ามหานครอันเป็นรายรับจากการขายที่ดินที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรประกอบพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษีรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้นตามมาตรา 91/5 (6)
ฐานภาษีสำหรับการประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร คือรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนปัญหาที่ว่าเมื่อใดจึงถือว่ามีรายรับอันทำให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น มาตรา 91/8 (เดิม) วรรคสอง ให้คำนวณตามวิธีการ หลักเกณฑ์และการปฏิบัติทางบัญชี ซึ่งโจทก์มีสิทธิเลือก เมื่อโจทก์เลือกปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดแล้ว ให้ถือปฏิบัติเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันตลอดไปเว้นแต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้เปลี่ยนแปลงได้ เมื่อโจทก์ไม่เคยรับรู้รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามวิธีการ หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติทางบัญชีเป็นอย่างอื่นมาก่อน โจทก์ย่อมมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 26 ทั้งการที่โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนโดยนำรายรับทั้งหมดรับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสอดคล้องกับที่โจทก์อ้างว่าใช้หลักเกณฑ์รับรู้รายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อโจทก์โอนความเสี่ยงและผลประโยชน์ที่มีนัยสำคัญให้แก่ผู้ซื้อแล้ว จึงถือว่าโจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามมาตรา 91/8 วรรคสอง แล้ว
ตามข้อตกลงการวางเงินมัดจำราคาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ท. แม้จะเรียกเงินจำนวน 500,000,000 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ท. ว่าเป็น "มัดจำ" แต่เนื้อหาสาระแห่งข้อตกลงในข้อ 2 และข้อ 3 เพียงแต่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเจรจาตกลงกันในสาระสำคัญและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินรวม 9 โฉนดตามที่ระบุไว้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2542 เท่านั้นและในข้อ 3 ได้ระบุถึงผลของการที่คู่สัญญาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นเพียงว่าให้โจทก์คืนเงินมัดจำดังกล่าวแก่บริษัท ท. มิได้มีข้อตกลงให้ริบหรือส่งคืนเงินมัดจำ จึงมิใช่เงินที่บริษัท ท. ให้ไว้แก่โจทก์เมื่อเข้าทำสัญญาเพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้นที่จะเป็นมัดจำตามป.พ.พ. มาตรา 377 อีกทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวได้ตกลงยกเว้นหลักการเกี่ยวกับผลของมัดจำที่มาตรา 378 (1) ถึง (3) กำหนดให้ส่งคืนหรือให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยความในข้อ 3.2 ได้ระบุว่าหากคู่สัญญาไม่สามารถเจรจาตกลงกันเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินได้ภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2542 โจทก์ตกลงคืนเงินมัดจำทั้งหมดให้แก่บริษัท ท. ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2542 โจทก์ก็ได้คืนเงินดังกล่าวให้แก่บริษัท ท. ไปแล้วประกอบกับโจทก์รับรู้รายได้เพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์โดยเลือกปฏิบัติที่จะเสียภาษีโดยคำนวณฐานภาษีขณะที่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 26 กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มีรายรับจากเงินมัดจำที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10889/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี หากเป็นการโอนให้บุตรโดยเสน่หา ไม่ต้องเสียภาษี
บทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาไม่ใช่บทบัญญัติของกฎหมายในความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และ 264 วรรคหนึ่ง ศาลภาษีอากรจึงไม่ต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกฤษฎีกาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
มาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติว่าการขายอสังหาริมทรัพย์กรณีใดเป็นการขายที่เข้าลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไร แต่ได้บัญญัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ให้ถือว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ลักษณะใดบ้างที่ถือเป็นการขายในทางค้าหรือหากำไรตามที่มาตรา 91/2(6) ให้อำนาจไว้ พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 91/2(6) ทั้งมิได้ขัดต่อมาตรา 91/1(1) กับ มาตรา 91/5(6) เพราะมาตรา 91/1(1) เป็นบทบัญญัติกำหนดความหมายของคำว่า "รายรับ" ส่วนมาตรา 91/5(6) ก็เป็นบทบัญญัติกำหนดฐานภาษีเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา มิใช่ว่าจะเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไปพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 จึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การที่โจทก์ได้ที่ดินมาแล้วจดทะเบียนให้ที่ดินนั้นแก่ จ. บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ไปในวันเดียวกัน แม้จะถือว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1(4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อผู้ที่โจทก์โอนที่ดินให้โดยเสน่หาเป็นบุตรโจทก์ การโอนที่ดินดังกล่าวจึงไม่ใช่กรณีที่ทำเป็นทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้ง ๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่ต้องชำระ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นแต่ไม่เกินกว่าจำนวนเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรดังกล่าวจนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161(พ.ศ. 2526) ข้อ 1(2) และข้อ 1 วรรคท้าย เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินค่าภาษีอากรดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 และฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากเงินภาษีที่ต้องคืนดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิรับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544เป็นต้นไปจนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนเงินค่าภาษีที่ได้รับคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตรายได้จากการขายที่ดินและอาคาร: สัญญาพัฒนาที่ดินและการเสียภาษี
ตามหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. จำกัด มีข้อความระบุแต่เพียงว่าให้บริษัท ส. จำกัด จำหน่าย ที่ดินของโจทก์ให้แก่บุคคลทั่วไปได้โดยให้ทำการจำหน่ายเป็นแปลงย่อย ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าโจทก์ว่าจ้างให้ บริษัท ส. จำกัด ก่อสร้างอาคารให้แก่โจทก์ แต่กลับปรากฏข้อความว่าบรรดาค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคภายในบริเวณที่ดินของโจทก์นั้น บริษัท ส. จำกัด เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น อีกทั้งตามปกติแล้วสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารจะต้องมีแบบแปลน รายละเอียดเกี่ยวกับการก่อสร้างรวมทั้งสินจ้างด้วย จึงจะเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ถึงแม้ในหนังสือสัญญาจะมีข้อความบางตอนว่าโจทก์ตกลงให้บริษัท ส. จำกัด รับเหมาก่อสร้างและ จัดจำหน่าย แต่ผู้เดียวก็ตามจะฟังว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของไม่ได้
โจทก์มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาคารที่ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์เลยไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง ทำโครงการขาย หรือรับเงินจากผู้ซื้อ โจทก์เพียงแต่มอบอำนาจให้พนักงานของบริษัท ส. จำกัด ไปโอนที่ดินและอาคารที่ปลูกอยู่บน ที่ดินของโจทก์ให้แก่ผู้ซื้อเท่านั้น และบริษัท ส. จำกัด ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนรายรับจากการขายอาคารต่อ เจ้าพนักงานของจำเลยในนามของบริษัท ส. จำกัด แล้ว เมื่อโจทก์ตกลงให้บริษัท ส. จำกัด เข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินและจำหน่ายที่ดินแทนโจทก์ โดยบริษัท ส. จำกัด ได้รับผลประโยชน์จากการขายอาคารที่ปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ และผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากสัญญาดังกล่าว คือสามารถขายที่ดินได้ในราคาที่โจทก์กำหนดโดยไม่ต้องลงทุนเท่านั้น บริษัท ส. จำกัด จะขายอาคารแล้วมีผลกำไรหรือขาดทุนก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ ดังนั้น รายรับจากการขายอาคารบนที่ดินของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นรายรับจากการประกอบกิจการของบริษัท ส. จำกัด มิใช่รายรับของโจทก์ โจทก์คงมีรายรับจากการขายที่ดินเพียงอย่างเดียวเป็นเงิน 9,336,000 บาท โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในปี 2537 จากยอดรายรับดังกล่าว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับซึ่งคำนวณจากราคาที่ดินและอาคารรวมกันจึงไม่ชอบ