คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 19 วรรคสอง (ก)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8545/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์ของลูกจ้างและการปรับบทลงโทษ - การครอบครองทรัพย์ของนายจ้างชั่วคราว
เหตุเกิดขึ้นระหว่างตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยทั้งสองถูกจับกุมในท้องที่อำเภอสิเกา จึงเป็นกรณีเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฐานทำให้เสียทรัพย์กระทำในท้องที่ใด พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิเกา ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับจำเลยทั้งสองได้ย่อมเป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) และวรรคสอง (ก)
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมผู้เป็นนายจ้าง และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์คือน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วม โดยจำเลยทั้งสองเอาน้ำผสมลงในน้ำมันปาล์ม ทำให้ได้รับความเสียหาย เหตุเกิดระหว่างเส้นทางตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยเข้าใจได้แล้วว่าเหตุลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางจากตำบลนาเมืองเพชร อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ถึงเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ท้องที่ใดท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างเส้นทางดังกล่าว ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
จำเลยทั้งสองเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมจากอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ไปส่งแก่ลูกค้าที่เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยทั้งสองครอบครองน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมขณะเดินทางเป็นเพียงการครอบครองแทนโจทก์ร่วมไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น การครอบครองน้ำมันปาล์มโดยแท้จริงยังอยู่ที่โจทก์ร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองเอาน้ำมันปาล์มของโจทก์ร่วมไป จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 625/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจสอบสวนคดีอาญาหลายท้องที่: พนักงานสอบสวนท้องที่ที่จับกุมและทำการสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบ
จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน โดยความผิดตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) กระทำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) กระทำลงในท้องที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปาง พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่ จ. ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องของการร้องทุกข์และจับกุมจำเลยที่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยเหตุเกิดที่หมู่บ้าน ก. ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ดังนั้น แม้จะมีการจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมจำเลยสำหรับการกระทำผิดอาญาคนละกรรมกับคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เมื่อมีการจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง