คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิชัย นิลทองคำ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 16 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6877/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่มิชอบของพนักงานสอบสวนภายใต้กฎหมาย ป.ป.ช. และประมวลกฎหมายอาญา
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากมีประกาศ เมื่อปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจที่จะเลือกใช้ช่องทางตามประกาศดังกล่าวแก่คดีของจำเลยหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 8 ยังกำหนดว่า บรรดาบทบัญญัติใดของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ดังนั้น การดำเนินการตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวจึงมิได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องของจำเลยแล้วมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย
การยึดรถกระบะของกลางตลอดจนการคืนล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม (เดิม), 131 ส่วนเรื่องการเก็บรักษา ดูแล หรือพิจารณาสั่งคืนของกลาง แม้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยลำพังก็ตาม ก็หาทำให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหมดสิ้นไป จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถกระบะของกลางโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14123/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการขายทอดตลาด: ศาลอุทธรณ์อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องกรรมสิทธิ์และเจ้าพนักงานบังคับคดีละเมิดกฎหมาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพราะเหตุเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งวันขายทอดตลาดทรัพย์ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำฟ้องขอให้โจทก์และจำเลยคดีนี้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่งแล้ว ครั้นระหว่างการพิจารณาศาลอุทธรณ์ คดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งถึงที่สุด และเป็นข้อเท็จจริงที่ผูกพันคู่ความในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน และปัญหาว่าการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ ซึ่งมิใช่ทรัพย์ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กับทั้งเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจรับฟังข้อเท็จจริงตามสำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทในอีกคดีหนึ่ง แล้วพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว นอกจากนี้ คดีนี้ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงไม่ต้องเรียกผู้ซื้อทรัพย์เข้ามาเป็นคู่ความเพราะมิได้บังคับต่อบุคคลภายนอก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14066/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการสอบสวนวินัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งและการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย ป.ป.ช.
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดกระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี บทบัญญัติดังกล่าวบังคับเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดวินัยเท่านั้นที่ให้ถือตามรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้บังคับในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยังคงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2542 ข้อ 76 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้เลขาธิการหรือประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี และ ( 2 ) กำหนดว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการ ดังนั้น แม้คณะกรรมการสอบสวนวินัยรายงานการสอบสวนโจทก์ว่าเห็นควรยุติเรื่องและจำเลยที่ 1 เห็นชอบ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งและลงโทษโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ต่อไปได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13896/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อาคารชุด ทรัพย์ส่วนกลาง การจดทะเบียนจำนองและภาระจำยอม ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าอาคารชุดมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง จำเลยไม่มีสิทธิจดทะเบียน
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า "ทรัพย์ส่วนกลาง" หมายความว่า ส่วนของอาคารที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม และมาตรา 15 บัญญัติว่า ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
(1) ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด
(2) ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
(3) โครงสร้างและสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคงและเพื่อการป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด
(4) อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
(5) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
(6) สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด
(7) ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
เมื่ออาคารจอดรถ อาคารสโมสร สระว่ายน้ำ รั้ว ถนนภายในโครงการและสนามเด็กเล่นหรือสวนหย่อมทรัพย์พิพาทล้วนมิได้ตั้งอยู่บนที่ดินที่ตั้งอาคารชุดโจทก์ทั้งห้า และไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับอาคารชุดโจทก์ทั้งห้า ดังนั้น ทรัพย์พิพาทจะเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์ทั้งห้าหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของห้องชุด หรือเพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุดหรือไม่ จำเลยที่ 1 ขายโครงการอาคารชุดโดยโฆษณาว่าจะจัดให้มีอาคารจอดรถ อาคารสโมสร สระว่ายน้ำ รั้ว ถนนภายในโครงการและสนามเด็กเล่นหรือสวนหย่อม เพื่อให้เจ้าของใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในสัญญาซื้อขายห้องชุดระบุว่า ผู้ซื้อมีสิทธิเป็นสมาชิกตลอดชีพของศูนย์สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยห้องออกกำลังกาย ห้องอบไอน้ำ สนามเทนนิสและอื่น ๆ ต่อมาเมื่อเจ้าของร่วมได้เข้าใช้ประโยชน์ร่วมกันในทรัพย์พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ยังยินยอมให้โจทก์ทั้งห้าจัดการดูแลทรัพย์พิพาทในลักษณะทรัพย์ส่วนกลาง กับยอมให้โจทก์ทั้งห้านำเงินที่เจ้าของร่วมชำระเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางไปบำรุงรักษาทรัพย์พิพาทเช่นนี้ จะเห็นได้จากการโฆษณาขายโครงการอาคารชุด สภาพและที่ตั้งของทรัพย์พิพาท ลักษณะและประโยชน์ในการใช้สอยของทรัพย์พิพาทและการจัดการดูแลบำรุงรักษาโดยโจทก์ทั้งห้า ทรัพย์พิพาทจึงถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์ทั้งห้าตามฟ้องโดยผลของกฎหมายดังกล่าวข้างต้นที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารชุดจะมิได้ระบุว่าทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ส่วนกลาง หรือแม้จำเลยที่ 1 มิได้แสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์พิพาทให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางก็ตาม เมื่อทรัพย์พิพาทตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางโดยผลของกฎหมาย เจ้าของห้องชุดจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์พิพาทตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทรัพย์พิพาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธินำทรัพย์พิพาทไปจดทะเบียนจำนองหรือภาระจำยอมแก่บุคคลอื่นรวมถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะรับจดทะเบียนไว้โดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13825/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท: เจ้าหนี้คำพิพากษาไร้สิทธิคัดค้าน
ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสซึ่งผู้ร้องกับ ส. ร่วมกันซื้อมาระหว่างเป็นสามีภริยา ผู้ร้องกับ ส. จดทะเบียนหย่ากัน โดยผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนั้นตลอดมาและได้ยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทในส่วนของ ส. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของ ส. ดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของ ส. ในคดีอื่นไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคดีนี้ จึงไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดีเพื่อขอรับความรับรอง หรือคุ้มครองว่าตนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และผู้ร้องไม่สมควรได้สิทธิครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านจึงไม่อาจคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ได้ อีกทั้งคำคัดค้านนั้นได้ยื่นเข้ามาภายหลังที่คดีถึงที่สุดไปแล้ว แม้ผู้คัดค้านอ้างว่าตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง แต่ผลของการคัดค้านโดยการร้องสอดตามมาตรา 57 (1) ผู้คัดค้านจะต้องเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง โดยผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ ส่วนผู้คัดค้านมีฐานะเป็นจำเลย ผู้คัดค้านจึงต้องเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังได้กล่าวเพื่อจะได้ใช้สิทธินั้นคัดค้านว่าผู้ร้องมิได้ครอบครองปรปักษ์ เมื่อผู้คัดค้านมิได้อยู่ในฐานะใดฐานะหนึ่งตามเงื่อนไขที่มาตรา 57 (1) บัญญัติ จึงชอบที่ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการตามสิทธิส่วนของตนในคดีอื่น มิใช่โดยการยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13598/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจ บสท. ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและการขายทอดตลาด ไม่ขัดเจตนารมณ์กฎหมาย แม้มีการสวมสิทธิ
จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบัน การเงินด้วยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 การที่จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นทรัพย์จำนองของโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 76 ที่บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ และมาตรา 82 บัญญัติว่า การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้ จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 76 อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่ พ.ร.ก. นี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขายทอดตลาด ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน หรือในกรณีศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นเพียงการให้อำนาจจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะคู่ความหรือดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ด้วย ไม่ใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.ก. นี้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้มากกว่าการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. จึงหาใช่บทบังคับว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. เท่านั้น จำเลยที่ 1 มีอำนาจขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีอื่นตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ตามมาตรา 74 และ 76

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12268/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานผลิตและขายปุ๋ยโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริง: ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด
ความผิดฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน ฐานร่วมกันขายปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันขายปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้าแต่ไม่นำมาขึ้นทะเบียน กับฐานร่วมกันโฆษณาขายปุ๋ยเคมีที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นปุ๋ยที่ได้มาตรฐานเหล่านี้ ลักษณะของความผิดและการกระทำความผิดในแต่ละข้อหาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ และบางข้อหาเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง และถึงแม้ปุ๋ยอินทรีย์ตามคำฟ้องข้อ 2 และ 3 บางส่วน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์จำนวนเดียวกัน แต่คำฟ้องข้อ 3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องว่ามีปุ๋ยอินทรีย์จำนวนหนึ่งจำนวนเท่าใดไม่ปรากฏแน่ชัดซึ่งเป็นปุ๋ยคนละจำนวนกับคำฟ้องข้อ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ส่วนเจตนาและความมุ่งหมายเดียวกันเพื่อนำออกจำหน่ายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เป็นเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ของกลางที่ได้มาจากการกระทำความผิด มิใช่เจตนาในการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10166/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทุจริต: การใช้บทบัญญัติกฎหมายที่บัญญัติขึ้นใหม่ย้อนหลังไม่ได้ ละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 32 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งใช้บังคับในวันฟ้องคดีนี้ มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติเช่นเดียวกันว่า "บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดไม่ได้" บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 แม้ไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับโทษจะลงแก่ผู้กระทำความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษทางอาญาซึ่งเกี่ยวพันกับบทกำหนดโทษ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 74/1 ที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ ย่อมทำให้ระยะเวลาที่บุคคลอาจต้องรับโทษอาญาเพิ่มขึ้นหรือหนักกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติเช่นมาตรา 74/1 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิด อันเป็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ หาใช่เป็นการสนับสนุนผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องรับโทษ การใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 74/1 บังคับแก่คดีนี้ จะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9620/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชัดแจ้ง – การฎีกาที่ไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และประเด็นฟ้องแย้งที่ไม่ได้ฎีกา
ฎีกาของจำเลยไม่ได้โต้แย้งเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และที่ถูกควรเป็นเช่นไร เพียงแต่คัดลอกข้อความบางส่วนมาจากอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8651/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอุทลุม: อำนาจฟ้องบุพการี & ความผิดฐานจัดการทรัพย์มรดกโดยมิชอบ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 บัญญัติว่า "ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญามิได้ แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทของผู้นั้นร้องขอ อัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้" เช่นนี้ แม้โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายและมีสิทธิเรียกร้องในอันที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจัดการแบ่งมรดกให้โจทก์ทั้งสามตามสิทธิในทางแพ่งได้ก็ตาม แต่ที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 เพื่อที่จะให้จำเลยที่ 1 ได้รับโทษในทางอาญานั้น ย่อมเท่ากับเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามในทางอาญาเป็นส่วนตัว เพราะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลที่ได้กระทำผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวและต้องรับโทษในทางอาญาย่อมต้องรับโทษเป็นการส่วนตัว เนื่องจากสภาพบังคับในทางอาญาสำหรับความผิดตามฟ้องไม่มีการรับโทษในฐานะที่เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเช่นความรับผิดในฐานะผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง คดีระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นคดีอุทลุม ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562 โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 โอนที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ บ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูจำเลยที่ 1 ในการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของ บ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้เตรียมเอกสารและจัดหาทนายความแก่จำเลยที่ 1 และวันที่ไปโอนทรัพย์มรดกของ บ. ที่สำนักงานที่ดินนั้น จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนด้วยตนเองจนแล้วเสร็จ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันโดยสมคบกันมาก่อน โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลที่อาจเกิดขึ้นร่วมกัน มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดเพียงลำพัง แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการได้เพราะจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับโอนทรัพย์มรดกของ บ. มิได้กระทำในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้อื่นตามคำสั่งศาล คงลงโทษได้เพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 86
of 2