คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 690/2552 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาฝึกอบรม-การทำงานชดใช้: ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมและภาระที่เกินความคาดหมาย
สำหรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในขอบเขตซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 บัญญัติไว้ และศาลแรงงานกลางได้ลดอัตราให้เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปีแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ ส่วนข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ มิฉะนั้นต้องเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้คืน ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนทำสัญญาจำเลยที่ 1 ทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งนักบินอยู่แล้วและปรากฏตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่า หากจำเลยที่ 1 ไม่ผ่านการฝึกอบรมตามสัญญาให้ทุนฝึกอบรมต่างประเทศ จำเลยที่ 1 จะไม่สามารถทำหน้าที่ขับเครื่องบิน 737-200 ที่โจทก์นำมาใช้ในสายการบินของโจทก์ได้ แสดงว่าการฝึกอบรมมีผลทำให้จำเลยที่ 1 มีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัทอื่นเพราะไม่ต้องลงทุนส่งคนไปฝึกอบรม ข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์มิฉะนั้นต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนและเสียเบี้ยปรับจึงเป็นข้อห้ามที่มีลักษณะเพื่อปกป้องกิจการของโจทก์ไม่ให้สูญเสียพนักงานที่อุตส่าห์ลงทุนส่งไปฝึกอบรมจนมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินตามกฎระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการบินของกรมการบินพาณิชย์ จึงเป็นข้อตกลงที่สามารถกระทำได้ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 โดยมุ่งหวังที่จะได้พนักงานที่มีคุณสมบัติตามที่โจทก์ต้องการไว้ทำงานกับโจทก์ และจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการฝึกอบรมโดยมีคุณวุฒิในการขับเครื่องบินเพิ่มขึ้น ทั้งจำเลยที่ 1 สามารถจะเลือกเอาได้ว่าจะกลับมาทำงานกับโจทก์หรือชดใช้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมคืนให้โจทก์พร้อมทั้งเสียเบี้ยปรับ 3 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้คืน ข้อกำหนดเบี้ยปรับดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ แต่โจทก์ส่งจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมเพียง 14 วัน (รวมทั้งวันเดินทาง 2 วัน) โดยประมาณการค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไว้ 300,000 บาท และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของจำเลยที่ 1 ไปเพียง 223,871.70 บาท ข้อกำหนดที่ให้จำเลยที่ 1 ต้องกลับมาทำงานกับโจทก์ในตำแหน่งและหน้าที่ที่โจทก์กำหนดเป็นเวลาถึง 3 ปี จึงเป็นข้อกำหนดที่ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับภาระมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติ จึงให้มีผลบังคับได้เพียง 1 ปี เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5978/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัท แม้มิเจตนาแก่นายจ้าง แต่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและสร้างความเสียหาย
หลังจากจำเลยมีคำสั่งห้ามไม่ให้ปล่อยเงินกู้นอกระบบในบริษัทจำเลยแล้ว โจทก์ยังฝ่าฝืนปล่อยเงินกู้นอกระบบให้ลูกจ้างของจำเลยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ซึ่งแม้จะมิใช่เป็นการกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง แต่ก็เป็นการกระทำความผิดอาญาในระหว่างการทำงาน ทั้งยังเป็นการเอาเปรียบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานส่งผลกระทบต่อกำลังใจในการทำงาน ย่อมทำให้กิจการของจำเลยได้รับความเสียหาย การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยในกรณีร้ายแรง และเป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดงานงดจ้างชอบด้วยกฎหมายเมื่อเจรจาข้อเรียกร้องไม่เป็นผล แม้มีการลงชื่อในบันทึกข้อตกลงบางส่วน
การที่สหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง ต่อโจทก์(นายจ้าง)หลายข้อ แต่ผู้แทนโจทก์ยินยอมตกลงตามข้อเรียกร้องเพียง 2 ข้อ ตามที่พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยในครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้แทนสหภาพแรงงานฟาร์-อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ มิได้ยอมรับ ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีการเจรจาตกลงเกี่ยวกับข้อเรียกร้องอื่น ๆ ที่เหลือต่อไปอีก ฉะนั้น การเจรจาตกลงกันในวันที่ 28 มีนาคม 2544 จึงสิ้นสุด โดยที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาในวันที่ 29 มีนาคม 2544 ผู้แทนโจทก์ไม่ไปเจรจาตามนัด และไม่มีการเจรจาตกลงกันในวันดังกล่าว การที่ผู้แทนสหภาพแรงงาน ฟาร์ - อีสต์ การ์เมนท์ เท็กซ์ไทล์ ไปลงชื่อในบันทึกข้อตกลงตามที่ผู้แทนโจทก์ได้ตกลงไว้ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 นั้น ไม่มีผลทำให้ข้อตกลงที่สิ้นผลไปแล้ว กลับมามีผลได้อีก จึงต้องถือว่าข้อพิพาทแรงงานตามข้อเรียกร้องดังกล่าวยังเป็นข้อที่ตกลงกันไม่ได้ การใช้สิทธิแจ้งปิดงานงดจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง