คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 63 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินจัดสรรที่เป็นที่ดินสาธารณูปโภคเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่สุจริตต้องคืนที่ดิน
จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
การที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33
การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนการบังคับคดีหลังได้รับชำระหนี้แล้ว และความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมการบังคับคดี
ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดี อันได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีเป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่ขอใช้บริการในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นเป็นผู้ชำระ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 292 (1) และ (5) ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด การที่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว โดยไม่ได้แถลงให้ชัดเจนว่าโจทก์ขอถอนการบังคับคดี ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังเกษียนสั่งว่า โจทก์แถลงผลการชำระหนี้ภายนอก แต่ยังไม่สละสิทธิการบังคับคดีก็ตาม แต่ตามคำแถลงของโจทก์ย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีจากทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ได้อีกต่อไป ซึ่งต้องถือว่าเป็นการที่โจทก์ขอถอนการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (7) เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์แถลงว่าจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 327 ด้วยการให้ผู้ร้องเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากโจทก์เนื่องด้วยมีการถอนการบังคับคดีนั่นเอง จึงเป็นกรณียึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. กับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง และมาตรา 169/2 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติบุคคลค้ำประกันเกินวัตถุประสงค์ สัญญาเป็นโมฆะ การให้สัตยาบันต้องทำหลังเกิดนิติกรรม
จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ไม่มีวัตถุประสงค์การค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้อื่น ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 66 ผู้แทนนิติบุคคลต้องกระทำกิจการหรือนิติกรรมภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจึงจะมีผลผูกพันนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้ำประกันหนี้ของผู้อื่นสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่องนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 3 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
การให้สัตยาบันแก่นิติกรรมที่นิติบุคคลกระทำนอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลเป็นการให้การรับรองนิติกรรมที่ไม่มีผลผูกพันให้มีผลผูกพันนิติบุคคลและบังคับกันได้ซึ่งอาจกระทำโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย โดยสภาพการให้สัตยาบันจึงต้องกระทำภายหลังที่ได้กระทำนิติกรรมนั้นแล้ว กรณีไม่อาจถือเอาการกระทำนิติกรรมนั้นเองเป็นการให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นในขณะเดียวกันได้ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นว่านิติกรรมที่อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลจะมีผลผูกพันนิติบุคคลนั้นทุกกรณี ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของกฎหมายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลให้แตกต่างไปจากบุคคลธรรมดา การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในสัญญาค้ำประกันจึงไม่เป็นการให้สัตยาบันแก่การค้ำประกัน สัญญาค้ำประกันจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายเบิกความเท็จ: ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงมีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4587/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญาเงินกู้, ดอกเบี้ยผิดนัด, เบี้ยปรับ, การปรับลดเบี้ยปรับ, และการคิดดอกเบี้ยตามประกาศกระทรวงการคลัง
แม้สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ชําระหนี้ไม่ตรงตามกำหนดเวลาและไม่ครบจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาตั้งแต่ปี 2560 หลายครั้ง แต่โจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหรือเรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดทันที โจทก์กลับรับชําระหนี้ไว้โดยไม่อิดเอื้อน ทั้งมีการงดคิดดอกเบี้ยผิดนัดระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2561 แสดงว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ถือเอากำหนดเวลาและจำนวนเงินที่ต้องชําระตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จำเลยที่ 1 จะตกเป็นผู้ผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้ให้คําเตือนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง เมื่อได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ชําระหนี้ให้แก่โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 จำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ให้แก่โจทก์อีก โจทก์จึงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ให้จำเลยทั้งสี่ชําระทั้งหนี้ภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือนั้นแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ครบกำหนดวันที่ 6 มิถุนายน 2561 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชําระ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดในวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จึงเป็นกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 19 ให้สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันเป็นไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง โดยมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันเพื่อให้ทราบถึงการผิดนัดนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2561 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้ชําระหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 จำเลยที่ 4 ได้รับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2561 จึงถือได้ว่า โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไปยังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด อันเป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 วรรคหนึ่ง แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชําระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดชําระต้นเงินและดอกเบี้ยรวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างชําระเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์ด้วย
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศของโจทก์ ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ ศาลย่อมไม่มีอำนาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้ แต่ส่วนที่สัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้กู้ผิดนัดชําระหนี้ ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ชําระหนี้ทั้งหมดคืนพร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราสูงสุดได้ทันทีนั้น มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด ดอกเบี้ยที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากศาลเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนก็มีอำนาจให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีจำนองหลังการล้มละลาย: เจ้าหนี้มีประกันต้องดำเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินหลังศาลมีคำสั่งอนุญาต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 (3) และมาตรา 24 บัญญัติห้ามมิให้ลูกหนี้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่จะได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 2 โดยเด็ดขาดแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ในมูลหนี้จำนองตามมาตรา 95 ประกอบมาตรา 22 การที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบให้จำเลยที่ 1 งดดำเนินการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ไปดำเนินการตามกฎหมายอื่น มีผลเป็นการสละสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 145 (3) ที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินในกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ต้องมีหน้าที่รวบรวมนำมาขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นเพื่อนำมาแบ่งแก่บรรดาเจ้าหนี้ และไม่มีอำนาจต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามมาตรา 22 (3) แทนจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงด้วยตนเอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 และเมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี โจทก์ย่อมร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับจำนองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงดังเช่นคดีแพ่งทั่วไป การที่ศาลล่างมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4459/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดกั้นการเข้าใช้บัญชีผู้บริโภคโดยไม่แจ้งเหตุผล เป็นการละเมิดสิทธิ และขัดต่อหลักสุจริตตาม พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า "ตลาดแบบตรง" ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
การนำหลัก "เสรีภาพในการทำสัญญา" มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12
การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3)
จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39
ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4458/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดกั้นการเข้าถึงบริการของผู้บริโภคโดยไม่แจ้งเหตุผล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาตัดสินให้คืนสิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภค
จำเลยประกอบธุรกิจในการทำตลาดสินค้าหรือบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยการสื่อสารข้อมูลบนแพลตฟอร์มในเว็บไซต์ของจำเลย เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่นโดยตรงต่อบุคคลทั่วไปในฐานะเป็นผู้บริโภคที่สมัครเข้ารับบริการในเว็บไซต์ของจำเลย ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากจำเลยและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายอื่น เข้าลักษณะตามนิยามศัพท์คำว่า "ตลาดแบบตรง" ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560
การนำหลัก "เสรีภาพในการทำสัญญา" มาใช้บังคับดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในขณะที่ฝ่ายผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่มีอำนาจเหนือจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ย่อมไม่อาจนำมาใช้ได้ในขณะที่ธุรกิจการค้าขายในสภาพสังคมและเศรษฐกิจมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12
การระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของผู้รับบริการโดยเป็นดุลพินิจฝ่ายเดียวของจำเลยโดยไม่จำต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเป็นหลักฐานให้หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลจำเลยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้มีโอกาสตรวจสอบความชอบและถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะที่ฝ่ายผู้รับบริการหากจะยกเลิกการรับบริการต้องบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้จำเลยทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน มีลักษณะเป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงที่ไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม และเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นสิทธิของผู้บริโภครายอื่นที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการและสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (1) (3)
จำเลยระงับการเข้าใช้บัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่านของโจทก์ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยมิได้แจ้งเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์ทราบล่วงหน้า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การเยียวยาให้โจทก์สามารถกลับไปเข้าถึงบัญชีของโจทก์ในเว็บไซต์ของจำเลยอยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้จำเลยกระทำการได้และเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งกว่าการเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหาย แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอดังกล่าวมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดวิธีการบังคับที่เหมาะสมได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 39
ค่าเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ตามจำนวนที่เห็นสมควรโดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่โจทก์ได้เสียไป รวมทั้งลักษณะและวิธีการดำเนินคดีของโจทก์ตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7
การกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 42 เป็นดุลพินิจของศาล เมื่อศาลได้กำหนดวิธีการบรรเทาความเสียหายอื่นให้แก่โจทก์อย่างเหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4179-4180/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกประชุมใหญ่เจ้าของอาคารชุด: กรอบระยะเวลาตาม พ.ร.บ.อาคารชุด และการใช้สิทธิเรียกประชุมของเจ้าของอาคารชุด
ขั้นตอนการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญและการออกหนังสือนัดประชุมตามมาตรา 42/2 (3) และมาตรา 42/3 พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 นอกจากคณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมแล้ว ระยะเวลาตามกฎหมายในการเรียกประชุมใหญ่ก็ต้องอยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมด้วย หากไม่สามารถออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่ได้โดยชอบตามมาตรา 42/3 ก็ไม่มีเหตุผลที่ผู้แทนเจ้าของร่วมอาคารชุดต้องรอให้ล่วงพ้นสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมการได้รับคำร้องขอจากเจ้าของร่วมก่อนจึงจะออกหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ ต่างจากกรณีที่ผู้ถือหุ้นร้องขอต่อกรรมการตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173, 1174 ขั้นตอนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 ขัดหรือแย้งกับ ป.พ.พ. จึงต้องใช้บังคับตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 42/2 และมาตรา 42/3 ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 4 ได้รับหนังสือร้องขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญจากผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2562 จึงต้องจัดส่งหนังสือเรียกประชุมให้เจ้าของร่วมอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 9 มีนาคม 2562 จึงจะเป็นการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบ การที่คณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ออกหนังสือเรียกประชุม ต่อมาวันที่ 13 มีนาคม 2562 ผู้คัดค้านที่ 1 มีหนังสือเรียกประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยชอบและต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ทั้งสองครั้งตามคำร้องขอของผู้ร้องทั้งห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3626/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนเกิน 5 ปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 ทำให้เงินตกเป็นของแผ่นดิน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 หมายถึงให้คู่ความหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับดำเนินการขอรับเงินดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดห้าปี หากไม่ดำเนินการขอรับไปภายในห้าปีนับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวยังคงค้างจ่ายอยู่ก็ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดทำระบบบัญชีการเงินต่าง ๆ ของศาลและการนําเงินส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2557 ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและสั่งคืนค่าขึ้นศาล 10,000 บาท แก่โจทก์ โดยทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์มาศาลจึงถือว่าทราบคำสั่งในวันดังกล่าวแล้ว ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2558 โจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจคืนและออกเช็คคืนค่าขึ้นศาลแล้ว แต่โจทก์ไม่มารับ แสดงว่าเงินค่าขึ้นศาลที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้คืนแก่โจทก์ยังค้างจ่ายอยู่ในศาล เมื่อโจทก์เพิ่งมาแถลงขอรับเงินดังกล่าวในวันที่ 27 ธันวาคม 2562 จึงพ้นกำหนด 5 ปี นับแต่คดีถึงที่สุด เงินดังกล่าวจึงตกเป็นของแผ่นดินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 345 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ดังนั้น หากนับระยะเวลาดังที่โจทก์อ้างว่าเมื่อศาลอนุญาตแล้วจะมารับเมื่อใดก็ได้ จะทำให้ระยะเวลาการรับเงินยืดเยื้อออกไปไม่สิ้นสุด ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตรานี้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ทนายโจทก์และในฐานะผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ยื่นคําแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกเอาเงินค้างจ่ายภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดและต้องเริ่มนับระยะเวลาสิทธิการเรียกเอาเงินค้างจ่ายนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินตามคำสั่งอนุญาตของศาลนั้น เป็นฎีกาข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 7