คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 63 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4019/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สมคบกันเพื่อจำหน่ายยาเสพติด การครอบครองเพื่อจำหน่าย และการส่งมอบระหว่างผู้กระทำผิด
จำเลยกับ ป. ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์โต้ตอบกัน เนื่องจาก ศ. ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ป. ที่บ้านจำเลย แต่ ป. ไม่ทราบว่าจำเลยซุกซ่อนไว้ที่ใด บ่งชี้ว่า ป. ทราบดีว่าจำเลยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ภายในบ้านและ ป. ต้องการนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ ศ. ซึ่งจำเลยก็ประสงค์ให้ ป. นำเมทแอมเฟตามีนที่เก็บไว้ไปจำหน่ายให้แก่ ศ. เช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ส่วนการที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ป. เสพที่บ้านจำเลยและให้ ป.จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อไปด้วย จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย เพราะคำว่า จำหน่าย ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3662/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท ปลอมเอกสารราชการ-ใช้เอกสารราชการปลอม-แจ้งความเท็จเพื่อออกบัตรประชาชน
จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 1 ว่าจำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 จดข้อความเท็จลงในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร.6) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และเป็นเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่น เพื่อย้ายชื่อผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 6 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร และนำชื่อย้ายเข้าบ้านเลขที่ 3/2 หมู่ที่ 3 ตำบลเนินทราย อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด แล้วจำเลยลงลายมือชื่อปลอมเป็นผู้เสียหายที่ 2 ในเอกสารราชการดังกล่าว ต่อมาจำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้เสียหายที่ 3 ว่า จำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 ได้ตรวจบัตรประจำตัวประชาชนของตนเองปรากฏว่าสูญหาย/ถูกทำลาย เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 3 จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าวลงในบันทึกการรับแจ้งเอกสารเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชนสูญหายหรือถูกทำลาย (บ.ป.7) อันเป็นเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน จากนั้นจำเลยกับ ย. ร่วมกันยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ต่อผู้เสียหายที่ 3 และผู้เสียหายที่ 4 โดยใช้บันทึกคำให้การรับรองบุคคลเอกสารราชการอันเป็นเท็จอันเกิดจากการกระทำความผิดของ ย. ประกอบคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่ หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) โดยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยเป็นผู้เสียหายที่ 2 จนทำให้ผู้เสียหายที่ 3 หลงเชื่อออกบัตรประจำตัวประชาชนให้จำเลย เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันโดยมีเจตนาเดียว คือ เพื่อให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันเพียงพอแม้ผู้ค้ำประกันลาออก ไม่ถือเป็นผิดสัญญา
ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ การประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 2 แล้วยังมีผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 3 อีกด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ ประกอบด้วยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 4 รวม 4 แปลง จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายในวงเงิน รวมหลักประกันมีมูลค่ามากกว่าหนี้คงเหลือและดอกเบี้ย ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดหาผู้ค้ำประกันคนใหม่มาแทนจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัย: ความคุ้มครองภัยลมพายุ และการรับผิดของบริษัทประกันภัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 สัญญาประกันภัยเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอคำสนองต้องตรงกันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วย กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันความเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า กรมธรรม์ประกันภัย หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัยจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่าทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์ และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกันอันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ และกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุก็ควรโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักประกันเพียงพอ แม้ผู้ค้ำประกันลาออก ผู้กู้ไม่ต้องหาหลักประกันเพิ่ม ศาลยกฟ้อง
ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ การประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 7 แล้ว ยังมีผู้ค้ำประกันที่เป็นพนักงานของโจทก์อีก 5 คนด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท รวม 5 คน คิดเป็นมูลค่า 150,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายในวงเงินรวมหลักประกันมีมูลค่ามากกว่าหนี้คงเหลือและดอกเบี้ย ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการมีส่วนได้เสียในการประกาศขายทอดตลาด: ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดตามคำพิพากษาตามยอม และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อาจทำให้ความรับผิดตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงเพราะหากขายทอดตลาดได้ในราคาสูงก็อาจเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมได้สิ้นเชิงหรือคงเหลือหนี้ค้างชำระจำนวนน้อยลงอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง ด้วยก็ตาม แต่การเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือโดยส่วน เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยทำให้ความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ตามคำพิพากษายอมลดลงเท่านั้น ส่วนความรับผิดท้ายสุดเป็นความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามยอมด้วยกันตามมาตรา 296 แห่ง ป.พ.พ.นั้น ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยกันเองภายหลังลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ การขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จะได้ราคาทอดตลาดมากน้อยเพียงใด จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกันซึ่งเป็นความรับผิดโดยตรงแต่ประการใด จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบด้วย กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 409/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อาจทำได้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุต่างจากศาลชั้นต้น โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 220
แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุคนละเหตุกัน คู่ความก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตรวจรับงานที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์โดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162(4)
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการตรวจการจ้าง จัดทำเอกสารและลงลายมือชื่อทำการตรวจรับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว งวดที่ 10 และ 11 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 อันเป็นการรับรองเป็นหลักฐาน ซึ่งข้อเท็จจริงอันเป็นเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จเป็นความผิดตามป.อ. มาตรา 157, 162 (4) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับพร้อมกัน โดยถือเอาคำฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 3 ในฐานะกรรมการตรวจการจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารตรวจรับงานโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน เป็นการกระทำความผิด และความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จและจะเป็นความผิดต่อเมื่อเจ้าพนักงานผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองในเอกสารดังกล่าว ตราบใดที่เจ้าพนักงานผู้นั้นยังไม่ได้ลงลายมือรับรองเอกสารแล้วความผิดยังไม่เกิดขึ้น สัญญาโครงการก่อสร้างถนน คสล. สายบวงสรวง - น้ำร้อน กำหนดอายุโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จวันที่ 8 มิถุนายน 2551 จึงไม่ใช่วันกระทำความผิด เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารตรวจรับงาน ส่วนจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ทำหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 10 และ 11 เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2551 หลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาตามสัญญาแล้วก็ไม่มีผลทำให้เกิดการกระทำความผิดในวันที่ 8 มิถุนายน 2551 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับรองในใบตรวจรับงานจ้างเหมาว่า จำเลยที่ 6 ทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จ และได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 จึงอยู่ภายในอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
หนังสือส่งงานก่อสร้างว่า จำเลยที่ 6 ได้ทำงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายเสร็จสิ้นวันที่ 13 มิถุนายน 2551 เป็นความเท็จ ซึ่งความจริงงานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่างานงวดที่ 10 งวดที่ 11 และงวดสุดท้ายที่จำเลยที่ 6 ทำหนังสือส่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างต้องไม่รับตรวจงานจ้างดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กลับทำใบรับงานจ้างเหมาว่าผู้รับจ้างทำงานงวดที่ 10 และ 11 ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามแบบรูปรายละเอียดและข้อกำหนดในสัญญาจ้างแล้วเสร็จและได้ส่งมอบงานถูกต้องเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2551 จึงเห็นสมควรจ่ายเงินให้ผู้รับจ้างตามสัญญา ตามใบตรวจรับงานจ้างเหมา จึงเป็นการทำเอกสารในฐานะคณะกรรมการตรวจการจ้างรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าพนักงาน จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 83 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานจึงมีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 162 (4) (เดิม) และมาตรา 157 (เดิม) ประกอบมาตรา 86
of 7