คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญไชย ธนาพันธุ์สิน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำพิพากษาให้สอดคล้องกับเหตุผล - ค่าขาดราคาเช่าซื้อรถยนต์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าค่าเช่าซื้อรถได้รวมดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้าตามระยะเวลาค่างวดเช่าซื้อมิใช่มีแต่ราคารถเพียงอย่างเดียว จึงเอาค่าเช่าซื้อค้างชำระมาเป็นเกณฑ์เรียกราคารถพิพาทไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบว่ารถพิพาทที่แท้จริงมีราคาเท่าไร เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้เป็นเงิน 57,000 บาท ซึ่งสอดคล้องกับคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าขาดราคาเช่าซื้อจากการขายทอดตลาดเพียงแต่ศาลชั้นต้นลดจำนวนเงินที่โจทก์ขอมาลงเหลือ 57,000 บาท การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษานั้น จึงเป็นการขอแก้ไขเพื่อให้ถูกต้องตรงกับเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่กล่าวไว้ในคำพิพากษาและถือว่าเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย มิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม จึงชอบที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาด หรือข้อผิดหลงเช่นว่านั้นให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลไทยพิจารณาหย่าชาวต่างชาติ & การอุปการะเลี้ยงดูหลังการสมรส
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดุลพินิจศาลในการเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม: พิจารณาความสะดวกในการพิจารณาคดี
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่า ศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่า สมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดี หากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวเป็นคดีใหม่ต่างหากจากคดีนี้ได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียก ศ. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้รับผิดต่อโจทก์ เนื่องจาก ศ. เป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ตัวแทนทำไว้กับโจทก์ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าไม่สะดวกแก่การพิจารณาเพราะต้องตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นเดิม จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องว่ากล่าวกับ ศ. โดยเฉพาะ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องจึงเป็นดุลพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้นที่มีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย ไม่มีเหตุให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4246/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายฝากที่ดินโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้เป็นสินสมรส เพิกถอนนิติกรรมไม่ได้
ในกรณีที่สามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปโดยมิได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มี ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติหลักเกณฑ์ในการที่ฝ่ายที่ได้รับความเสียหายจะเพิกถอนนิติกรรมนั้นไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ไม่สามารถเพิกถอนได้หากได้ความว่าบุคคลภายนอกได้ทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ทั่วไปว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้แก่กรณีนี้ได้
เมื่อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารมหาชนที่เปิดเผยแก่บุคคลโดยทั่วไประบุว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก ย่อมทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มีผลให้เชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 2 สามารถทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ ส่วนข้อผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่อาจรับรู้ได้ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำนิติกรรมโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์ไม่อาจเพิกถอนได้