คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/14 (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีรับขนของทางทะเล: การเรียกจำเลยร่วมและการสะดุดหยุดของอายุความ
ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 46 สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการเสียหายแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเล ถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าที่รับขนตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2543 แต่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเรียกจำเลยร่วม (ผู้ขนส่งอื่น) เข้ามาในคดีนี้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์จึงขอเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าแม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 (ผู้ขนส่ง) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2544 ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดอายุความดังกล่าวก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีเพื่อให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ก็หาทำให้อายุความสำหรับจำเลยร่วมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ไม่ เพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อเป็นคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ และกำหนดอายุความสำหรับจำเลยร่วมต้องถือตามวันที่โจทก์ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีซึ่งเป็นวันเริ่มต้นคดีเพื่อให้จำเลยร่วมชำระหนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์มีคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง คดีโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงขาดอายุความตามมาตรา 46 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาในคดีล้มละลาย: การฟ้องล้มละลายสะดุดอายุความ และการขอรับชำระหนี้
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้ทั้งสองกับ ส.ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ และโจทก์นำเอาหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ลูกหนี้ทั้งสองล้มละลายเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องลูกหนี้ทั้งสองให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้ตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เข้าสวมสิทธิของโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษานี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2542 จึงเป็นการขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความสะดุดหยุดลง หนี้ตามคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้จึงไม่ขาดอายุความ ไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 94(1) กรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจะนำเอาระยะเวลาบังคับคดี 10 ปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้หาได้ไม่
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษา ในการอุทธรณ์หรือฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลในอัตราเดียวกับค่ายื่นคำขอชำระหนี้คือ ให้คิดฉบับละ 25 บาทตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 179(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7093/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดร่วมรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่ล้มละลาย แม้จะไม่มีหนี้ส่วนตัว
ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ซึ่งได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างได้ ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 และเนื่องจากผู้คัดค้านต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. โดยไม่จำกัดจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2) ดังนั้น ผู้คัดค้านจึงไม่อาจต่อสู้คดีหรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. หรือพิสูจน์ว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านเด็ดขาดโดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เด็ดขาดแต่ยกฟ้องผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้ผู้คัดค้าน ล้มละลาย คดีถึงที่สุด ต่อมาศาลพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 89 ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยทั้งสองกรณีดังกล่าวจึงอาศัยเหตุต่างกัน การที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องดังกล่าวจึงมิใช่ฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์ยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. เป็นคดีล้มละลายภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง ย่อมมีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ดังนั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างดังกล่าวซึ่งเป็นวิธีจัดการเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของห้างนั้นชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชอบ แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี นับแต่คดีแพ่งถึงที่สุดก็ตาม คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวก็ไม่ขาดอายุความเพราะกรณีมิใช่หนี้สินส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ผู้คัดค้านจะอ้างอายุความดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7093/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดร่วมรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน และการฟ้องล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.และห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว ได้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามห้างได้ เนื่องจากผู้คัดค้านต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070,1077(2) ผู้คัดค้านจึงไม่อาจต่อสู้คดีหรือนำสืบว่าตนมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. หรือพิสูจน์ว่าตนมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
เดิมโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านเด็ดขาด โดยอ้างว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. และผู้คัดค้านมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของห้างเด็ดขาด แต่ยกฟ้องผู้คัดค้านโดยวินิจฉัยว่ามีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้ผู้คัดค้านล้มละลาย ต่อมาศาลพิพากษาให้ห้างดังกล่าวล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 89 ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาจมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้บุคคลซึ่งนำสืบได้ว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนนั้นล้มละลายได้ โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นใหม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดหรือไม่ ประเด็นที่วินิจฉัยจึงอาศัยเหตุต่างกัน การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องดังกล่าวจึงมิใช่ฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153
เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้คัดค้านร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ป. ชำระหนี้แก่โจทก์และโจทก์ยื่นฟ้องห้างดังกล่าวเป็นคดีล้มละลาย ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดเวลา10 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง ย่อมมีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ก็ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างซึ่งเป็นวิธีจัดการเพื่อรวบรวมทรัพย์สินของห้างชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของห้างตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยชอบ คำร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่ขาดอายุความ
กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ร้องขอให้ผู้คัดค้านล้มละลายในฐานะเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด เมื่อห้างถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วศาลย่อมมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของผู้คัดค้านซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดเด็ดขาดแล้วพิพากษาให้ล้มละลายตามห้างนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 89 โดยไม่จำต้องวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6928/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ตามคำพิพากษาและการฟ้องล้มละลาย การฟ้องคดีล้มละลายภายในอายุความทำให้อายุความสะดุดหยุดลง
หนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 เมื่อโจทก์นำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาย่อมมีผลเป็นการฟ้องคดีเพื่อชำระหนี้อย่างหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ อันทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีไม่ใช่เรื่องการบังคับคดีจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มาใช้บังคับ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6282/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของลูกหนี้ร่วม: การไม่มีสิทธิเรียกร้องโดยตรงและการขาดสภาพเจ้าหนี้
โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ขนส่งอื่น เมื่อสินค้าเปียกน้ำเสียหายในระหว่างการขนส่งของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งอย่างลูกหนี้ร่วมตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 45 ซึ่งหมายความว่าโจทก์และจำเลยต่างมีฐานะเป็นลูกหนี้ด้วยกัน โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ ประกอบกับโจทก์ยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้รับตราส่งหรือผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาท โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิจากบุคคลดังกล่าวซึ่งเป็นเจ้าหนี้ แม้โจทก์จะทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และจำเลยปฏิเสธก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ผู้ที่จะฟ้องเพื่อตั้งหลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องเพื่อให้อายุความสะดุดหยุดลงเนื่องจากหนี้จะขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(2) จะต้องเป็นเจ้าหนี้ โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้จำเลยและไม่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5596/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความในคดีล้มละลาย: การฟ้องร้องและการขอรับชำระหนี้จากคำพิพากษาถึงที่สุด
การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเป็นการนำเอาสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่มาใช้บังคับแก่ลูกหนี้ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ.บรรพ 1 ลักษณะ 6
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2529 ให้ลูกหนี้กับพวกร่วมกันชำระเงินแก่เจ้าหนี้ สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้มีต่อลูกหนี้จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ.มาตรา 193/32 เจ้าหนี้นำเอาหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี เจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องได้ และมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2) และทำให้ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้น ไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในขณะที่อายุความยังสะดุดหยุดลงจึงไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 (1)กรณีนี้มิใช่เป็นการที่เจ้าหนี้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษา จึงนำเอาระยะเวลาการบังคับคดี 10 ปี ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 มาปรับใช้แก่กรณีนี้ไม่ได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ตามคำพิพากษาเพียงใด แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัย แต่ศาลฎีกาเห็นว่าเพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก่อน
เจ้าหนี้ฎีกาเฉพาะมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลฎีกาเพียง 25 บาท ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 179 (2) วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3198/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องแย้ง: การฟ้องแย้งต้องยึดระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่รู้เหตุละเมิด แม้คดีหลักจะทำให้ระยะเวลาสะดุดหยุด
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม มิได้บังคับให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การแต่ให้จำเลยเลือกฟ้องแย้งมาในคำให้การหรือจะฟ้องเป็นคดีใหม่ก็ได้ การฟ้องคดีของโจทก์ที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จไปโดยประการอื่นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2) เป็นผลเฉพาะโจทก์ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้ฟ้องแย้งด้วย เมื่อจำเลยฟ้องแย้งพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยรู้ถึงเหตุแห่งการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงขาดอายุความ
อุทธรณ์ของจำเลยมีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะเรื่องอายุความซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย จำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับอุทธรณ์ข้อเท็จจริง จึงยุติไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และมีปัญหาชั้นอุทธรณ์เพียงว่าฟ้องแย้งขาดอายุความหรือไม่เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องล้มละลาย: เริ่มนับใหม่เมื่อฟ้องคดี แม้ไม่สามารถบังคับคดีได้
โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็น มูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับตาม คำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 มาบังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกให้ล้มละลายโดย อาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยกับพวกล้มละลายได้ และย่อมมีผลเท่ากับเป็น การฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(2) กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงต้องเริ่มนับอายุความโดยเริ่มนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงคือ ถัดจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 50,000บาท และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามมาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7268/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องล้มละลายสะดุดหยุดเมื่อมีการฟ้องคดีเรียกหนี้ตามคำพิพากษา แม้เวลาผ่านไป 10 ปี
การที่โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดซึ่งมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตา 193/32มาเป็นมูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาย่อมมีผลเท่ากับเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ อันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามป.พ.พ.มาตรา 193/14 (2)
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และการที่การฟ้องคดีนี้มีผลทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดสะดุดหยุดลง ระยะเวลาภายหลังจากนั้นจึงไม่นับเข้าเป็นอายุความด้วย กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 271 มาใช้บังคับ
เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษามีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาท และจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้อีกซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามมาตรา 14แม้ต่อมาในระหว่างการพิจารณาและก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดจะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาแล้วก็ตาม ก็หามีผลต่อคดีไม่ ส่วนที่โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันในชั้นคำขอรับชำระหนี้
of 4