คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิชัย เอื้ออังคณากุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 337 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15456/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสถานะกรรมการและผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ย้อนสำนวน
กรณีได้ความว่าในคดีเดิมที่ อ. เป็นโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 คดีนี้เป็นโจทก์ที่ 2 กับพวก รวม 6 คน ฟ้องโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานเป็นจำเลยที่ 1 และฟ้องจำเลยที่ 1 คดีนี้ ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 ขณะนั้น เป็นจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนคำสั่งที่ 3/2549 ที่ให้ อ. กับพวก พ้นจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 2212 - 2217/2550 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาว่าคำสั่งที่ 3/2549 ขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 จึงถือว่า อ. กับพวก คงเป็นสมาชิกของโจทก์ที่ 1 และให้ ร. จัดให้มีการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ภายในกำหนด 45 วัน โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีดังกล่าวต่อศาลฎีกาอ้างเหตุว่าศาลแรงงานกลางยังรับฟังข้อเท็จจริงไม่ยุติจึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบและคำสั่งศาลแรงงานกลางที่ให้ ร. จัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เป็นคำพิพากษาที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3099 - 3104/2554 ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางและย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงมีผลเท่ากับว่าคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ ร. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกานั้นด้วย เมื่อการจัดการเลือกตั้งกรรมการของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ได้ถูกยกและสิ้นผลผูกพันไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีเดิมจึงผูกพันในผลคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ที่ 2 จึงมิใช่กรรมการของโจทก์ที่ 1 ที่จะมีอำนาจดำเนินกิจการหรือเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ 1 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกโดยชอบมาตั้งแต่แรกตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 100 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ขณะโจทก์ทั้งสองฟ้องคดี โจทก์ที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการของโจทก์ที่ 1 และในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายเสียแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15403/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การหักเงินค่าจ้าง และดอกเบี้ยจากค่าจ้างค้างจ่าย
(จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 แต่ร้านเปิดดำเนินกิจการในวันที่ 21 มกราคม 2549 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548) โจทก์และคณะบุคคลแมสคอตโดยจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงว่า โจทก์จะนำสิทธิในวันหยุดพักผ่อน วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันหยุดประจำสัปดาห์ของโจทก์มาใช้หยุดในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุง หากโจทก์ใช้วันหยุดเกินสิทธิ คณะบุคคลแมสคอตขอสงวนสิทธิไม่จ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว และโจทก์ลงลายมือชื่อรับทราบและยินดีให้ความร่วมมือในเอกสารดังกล่าว แต่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า "ค่าจ้าง" ให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งวันหยุดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวล้วนเป็นวันหยุดที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแม้ลูกจ้างจะมิได้ทำงานทั้งสิ้น นอกจากนี้การมอบหมายงานหรือการสั่งให้ลูกจ้างทำงานเป็นสิทธิของนายจ้าง การที่นายจ้างไม่อาจมอบหมายงานหรือสั่งงานให้ลูกจ้างทำ ทั้งที่ลูกจ้างมีความพร้อมที่จะทำงานให้แก่นายจ้างนั้นนายจ้างจึงยังต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ตกลงจ้างกัน นายจ้างจะยกขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีงานให้ลูกจ้างทำจึงไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองให้โจทก์หยุดงานในระหว่างที่ร้านปิดปรับปรุงอันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่มีงานให้โจทก์ทำ มิใช่โจทก์ไม่สามารถทำงานให้แก่จำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำค่าจ้างที่จ่ายให้แก่โจทก์ ในช่วงนหยุดดังกล่าวมาหักกับค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับหลังจากร้านเปิดดำเนินการแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงทำสัญญาจ้างมีกำหนด 2 ปี แต่จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ทำให้โจทก์สูญเสียโอกาสในการทำงานกับผู้อื่นและได้รับความเสียหาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันที่สัญญาจ้างครบกำหนด คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายจากการปฏิบัติผิดสัญญาโดยบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดแล้ว ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่าในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้าง ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างภายใน 3 วัน นับแต่วันเลิกจ้าง ดังนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ภายในวันที่ 21 มีนาคม 2549 จำเลยทั้งสองไม่จ่ายภายในเวลาดังกล่าวจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2549 เป็นต้นไป ไม่มีบทกฎหมายใดให้จำเลยทั้งสองต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทันทีเมื่อเลิกจ้าง จำเลยทั้งสองต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดคือวันทวงถาม ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองจ่ายในวันใด ต้องถือวันฟ้องเป็นวันทวงถาม จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยจากต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงสามารถหยิบยกแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15401/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านย้อนหลังตามข้อบังคับกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ.2548 แม้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อบังคับสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2533 (ข้อบังคับเดิม) ข้อ 15 (1) มีข้อความว่า "ในกรณีที่ผู้ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อบ้านหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้ผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับนี้ ตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (1) ตนเอง และสามีหรือภริยา ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น" เป็นการกำหนดให้การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านจะต้องอยู่ในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่ เบิกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามบัญชีอัตราค่าเช่าบ้านท้ายข้อบังคับ โดยตนเองและสามีหรือภริยาได้ทำการผ่อนชำระอยู่เพียงหลังเดียวในท้องที่นั้น แต่ในข้อบังคับใหม่ ข้อ 15 (1) กำหนดว่า "ในกรณีที่พนักงานซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามข้อบังคับนี้ ได้เช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ตามหลักเกณฑ์ที่ผู้อำนวยการกำหนดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงในบ้านนั้น ให้พนักงานผู้นั้นมีสิทธินำหลักฐานการชำระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวมาเบิกค่าเช่าบ้านได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนและอย่างสูงไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการกำหนดตาม ข้อ 6 ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ตนเองหรือคู่สมรส ได้ทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้น จะเบิกจ่ายได้เพียงหลังเดียว" ตามข้อบังคับใหม่นี้มิได้กำหนดให้ต้องเป็นการเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระราคาบ้านเฉพาะในท้องที่ที่ไปประจำสำนักงานใหม่เท่านั้น แต่กำหนดให้เป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติงานประจำสำนักงานใหม่ได้ด้วย โดยเปลี่ยนแปลงให้ตนเองหรือคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งทำการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านในท้องที่นั้นสามารถจะเบิกจ่ายค่าเช่าบ้านได้เพียงหลังเดียว
โจทก์เคยร่วมกับสามีกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. สาขาตรัง ในโครงการสินเชื่อเคหะสงเคราะห์เพื่อก่อสร้างบ้านพักเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันมาก่อน แม้ต่อมาสามีโจทก์แต่เพียงผู้เดียวได้กู้เงินจากธนาคาร ก. สาขาตรัง ตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า เพื่อใช้สิทธิในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายลดลง ซึ่งหากเป็นการกู้เงินตามสัญญาใหม่ที่มีจำนวนเงินไม่สูงกว่าจำนวนหนี้เดิมก็จะเป็นการชำระหนี้ราคาบ้านที่ค้างชำระอยู่เดิมนั่นเอง และแม้สามีโจทก์จะเป็นผู้กู้เงินตามสัญญาใหม่แต่เพียงผู้เดียว บ้านที่ปลูกสร้างขึ้นดังกล่าวโดยอาศัยเงินกู้นั้นก็เป็นสินสมรสของโจทก์ด้วย และนอกจากโจทก์จะต้องรับผิดชำระหนี้ที่สามีโจทก์ได้กู้ยืมตามโครงการเคหะสงเคราะห์และสวัสดิการแก่พนักงานการไฟฟ้า ของธนาคาร ก. สาขาตรัง ดังกล่าว เพราะเป็นหนี้ร่วมแล้ว โจทก์ยังต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ดังกล่าวด้วย ดังนั้นไม่ว่าสามีโจทก์หรือโจทก์จะเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงินเอง สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน โจทก์จึงมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อชำระค่าผ่อนชำระเงินกู้ดังกล่าวได้ตามเงื่อนไขของข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (ข้อบังคับใหม่) ข้อบังคับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายและเป็นคุณกับโจทก์
ระเบียบสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2550 ข้อ 21 ส่วนที่กำหนดให้เบิกจ่ายย้อนหลังได้ไม่เกินวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 เป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณและลูกจ้างมิได้ยินยอม จึงไม่สามารถใช้เพื่อตัดสิทธิของโจทก์ให้ลดน้อยลงจากสิทธิที่โจทก์มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านเพื่อผ่อนชำระเงินกู้เพื่อชำระราคาบ้านที่ค้างชำระย้อนหลังได้ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ตามข้อบังคับคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ว่าด้วยค่าเช่าบ้าน พ.ศ.2548 ข้อ 15 (1) แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15400/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ต้องเป็นไปตามระเบียบ หากไม่ชอบด้วยระเบียบ สิทธิในการปรับขึ้นเงินเดือนย่อมไม่มี
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2547 ที่เห็นชอบให้กำหนดขอบเขตสภาพการจ้างเกี่ยวกับการเงินตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้เองเมื่อคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจให้ความเห็นชอบแล้ว เป็นเพียงการให้อำนาจคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งในการปรับปรุงค่าจ้าง การกำหนดอัตราค่าจ้างแรกบรรจุ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำขั้นสูงของลูกจ้างทุกตำแหน่งเท่านั้น หาได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจไม่ ดังนั้นโรงงานยาสูบโดยคณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจึงไม่อาจอ้างมติคณะรัฐมนตรีมามีมติและคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนให้โจทก์ทั้งแปดร้อยหกเป็นกรณีพิเศษ คนละ 1 ขั้นได้ การเลื่อนขั้นเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงต้องตกอยู่ภายใต้ระเบียบโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานยาสูบ พ.ศ.2520 ซึ่งกำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปีให้เลื่อนตั้งแต่วันที่ 1 ของเดือนแรกของปีที่ได้เลื่อน อันได้แก่วันที่ 1 ตุลาคมของปีงบประมาณภายใต้วงเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนที่ได้รับอนุมัติไว้ในแต่ละปี ดังนั้น คำสั่งที่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ทั้งแปดร้อยหกคนละ 1 ขั้น ให้มีผลในวันที่ 7 เมษายน 2547 จึงขัดต่อระเบียบดังกล่าว ย่อมไม่มีผลใช้บังคับ แม้คณะกรรมการอำนวยการโรงงานยาสูบจะมีคำสั่งให้ปรับเงินเดือนของโจทก์ทั้งแปดร้อยหกไปแล้วอันอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกมากกว่าก็ตาม แต่สภาพการจ้างที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าซึ่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพลการนั้นต้องเป็นสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นโดยชอบเท่านั้น เมื่อคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งแปดร้อยหกไม่ชอบตามระเบียบข้างต้น โจทก์ทั้งแปดร้อยหกจึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าว: กิจการที่ไม่แสวงหากำไรได้รับการยกเว้นตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ทั้งคดีนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในคดีเพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ ข้อบังคับของโจทก์แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่าเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ อาทิ เพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค ดูแลรักษาความปลอดภัย การจราจร ความสะอาด จัดการดูแลรักษาและซ่อมแซมบรรดาทรัพย์สินส่วนกลาง อันเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับงานบัญชีและการเงินจะกำหนดให้โจทก์สามารถจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะรายเดือนที่เรียกเก็บจากสมาชิกหมู่บ้าน รายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสร แต่รายได้ที่โจทก์ได้รับมาก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในระเบียบ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินรายได้ที่หามาได้นั้นมาจัดสรรหรือแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน การที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกเช่าสิทธิในสโมสรของโจทก์ หารายได้ก็เป็นไปเพื่อการจัดการดูแล บำรุงรักษาสโมสรซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กรณีจึงมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่โจทก์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15348/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างข้าราชการระดับสูงที่ไม่เป็นธรรม ต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้บริหารและผลกระทบต่อองค์กร
แม้ศาลแรงงานกลางจะรับฟังข้อเท็จจริงว่า สาเหตุที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จะไม่ใช่เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการทำงานถึงขนาดต้องเลิกจ้างก็ตาม แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์เป็นเพราะโจทก์ขาดวุฒิภาวะในการเป็นผู้บริหารระดับสูง ใช้อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้เพื่อนร่วมงานไม่อาจทำงานร่วมกับโจทก์ได้ ศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่า มีพนักงานในแผนกของโจทก์ 2 คน ในจำนวน 4 คนลาออก เพราะไม่สามารถทนร่วมงานกับโจทก์ได้ เมื่อโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงของจำเลยที่ 1 คุณสมบัติในการเป็นผู้บริหารและความสามารถในการบังคับบัญชาบริหารจัดการภายในองค์กรจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ การที่โจทก์ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเลิกจ้างโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นไปโดยมีเจตนากลั่นแกล้ง จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15347/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการนัดหยุดงานของลูกจ้าง แม้ลงลายมือชื่อข้อเรียกร้องไม่พร้อมกัน การปฏิเสธของนายจ้างไม่กระทบสิทธิ
แม้ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์จะมิได้ร่วมลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อภายหลังจากฝ่ายลูกจ้างแจ้งข้อเรียกร้อง ฝ่ายโจทก์กับฝ่ายลูกจ้างมีการเจรจากันตามกฎหมายแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนกระทั่งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้ามาดำเนินการไกล่เกลี่ย แสดงว่ากระบวนการเจรจาต่อรองตามบทบัญญัติของกฎหมายยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งเมื่อไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดห้ามมิให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การที่ผู้กล่าวหาลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องเพิ่มเติมในระหว่างกระบวนการใช้สิทธิตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จึงถือว่าผู้กล่าวหาเป็นผู้ลงลายมือชื่อในข้อเรียกร้องด้วยแล้ว การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมรับ ไม่มีผลทำให้ผู้กล่าวหาไม่อาจใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เมื่อผู้กล่าวหา เป็นผู้เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องจึงร่วมนัดหยุดงานตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติรับรองไว้ได้ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการผละงานหรือละทิ้งหน้าที่ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งประกันสังคมต้องยื่นต่อคณะกรรมการอุทธรณ์โดยตรง ไม่สามารถยื่นผ่านรัฐมนตรีได้
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 85 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายจ้าง ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดซึ่งไม่พอใจในคำสั่งของเลขาธิการหรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้เว้นแต่เป็นคำสั่งตามมาตรา 50 ให้มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว ทั้งมาตรา 87 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการอุทธรณ์มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยื่นตามมาตรา 85 โดยวรรคสามบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั้น ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย แต่ถ้าไม่นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นที่สุด บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งมอบให้คณะกรรมการอุทธรณ์อีกทางหนึ่งไม่ที่ศาลแรงงานภาค 4 วินิจฉัยว่า หนังสือที่โจทก์ทำถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เป็นการยื่นอุทธรณ์คำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม มาตรา 85 โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายในสามสิบวันก่อน เมื่อคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว ถ้าผู้อุทธรณ์ไม่พอใจให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ตามมาตรา 87 โจทก์ไม่ดำเนินการตามขั้นตอน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15117-15120/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของนายจ้าง และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงาน ให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานดังกล่าว จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมากถึง 2,852,559.82 บาท แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิม ๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสามและการเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15117-15120/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบจนเกิดความเสียหาย ถือเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควร
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลยปฏิบัติงานฝ่ายพัสดุที่โรงงานหลังคาเหล็ก จำเลยมีขั้นตอนการดำเนินงานให้พนักงานฝ่ายพัสดุปฏิบัติตามเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับจำเลย การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงาน จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมาก แม้สาเหตุที่พัสดุขาดหายไปอาจเกิดจากการทุจริตของผู้อื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยก็ย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้พัสดุสูญหายได้ง่ายขึ้น และหากโจทก์ทั้งสามปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลยอย่างเคร่งครัดแล้วพัสดุอาจจะไม่ขาดหายก็ได้ทั้งการที่โจทก์ทั้งสามยังยึดติดกับการปฏิบัติอย่างเดิมๆ เช่นเคยปฏิบัติมาก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสามไม่นำพาต่อระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมอันจะทำให้การบริหารจัดการงานของนายจ้างไม่สามารถดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามแม้จะไม่ปรากฏว่ากระทำโดยทุจริต แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) และเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามตามมาตรา 119 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามมาตรา 67 ทั้งการกระทำของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวยังเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามเนื่องจากโจทก์ทั้งสามไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการดำเนินงานของจำเลย จนทำให้พัสดุขาดหายไปคิดเป็นเงินจำนวนมาก อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีที่ร้ายแรง และเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลสมควรเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
of 34