คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 40 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10100/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งระงับ/แก้ไขก่อนรื้อถอน การออกคำสั่งล่าช้า/ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ไม่อาจออกหมายจับกักขังได้
เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบว่ามีการก่อสร้างอาคารผิดจากแบบแปลน ผู้ร้องชอบที่จะออกคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (1) และ 41 แต่ผู้ร้องกลับปล่อยให้มีการก่อสร้างไปจนกระทั่งเห็นว่าเป็นกรณีไม่อาจแก้ไขให้ถูกต้องได้จึงมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42 จากนั้นจึงมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างในภายหลัง การออกคำสั่งของผู้ร้องจึงไม่เหมาะควรแก่ระยะเวลา และไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย กรณีจึงยังไม่มีเหตุอันควรที่จะออกหมายจับผู้คัดค้านผู้ก่อสร้างอาคารมากักขังไว้ตามมาตรา 43 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6788/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเรื่องวิธีการชำระค่าปรับ และพิพากษาว่าความผิดฐานก่อสร้างอาคารกับยึดครองที่ดินเป็นคนละกรรม
จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ทราบว่าจะชำระค่าปรับอย่างไรต่อศาลเพราะคำว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นหมายความว่าอย่างไร ถึงจะถือว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นที่เป็นวันครบกำหนดชำระเงินต่อศาลที่จะคิดเป็นจำนวนเงินชำระค่าปรับได้นั้น ปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาถึงวิธีการบังคับคดีของศาลชั้นต้น ซึ่งเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วโจทก์จะเป็นผู้ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดี โดยจำเลยสามารถที่จะทราบถึงวิธีการที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้อยู่แล้ว หาจำต้องฎีกาไม่ เป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามฎีกา
ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันกับความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจกำหนดโทษในความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตได้อีกเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1870/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมอาคาร: ความผิดฐานดัดแปลงอาคารต้องเป็นไปตามเงื่อนไขรื้อถอน ไม่ใช่โทษทางอาญาโดยตรง
กรณีที่จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 67 กำหนดโทษไว้นั้น จะต้องเป็นกรณีฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) และคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในส่วนใด ๆ ของอาคารตามมาตรา 40 (2) ส่วนกรณีตามมาตรา 40 (3) นั้น เป็นเรื่องที่กฎหมายให้อำนาจเจ้าพนักงานพิจารณาเพื่อที่จะมีคำสั่งตามมาตรา 41 หรือมาตรา 42 ต่อไปภายหลังจากที่เจ้าพนักงานได้มีคำสั่งระงับการก่อสร้างตามมาตรา 40 (1) ไปแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ในที่ใดว่า หากฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตามมาตรา 41 ที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องแล้วจะต้องได้รับโทษทางอาญา คงบัญญัติเป็นเงื่อนไขไว้ในมาตรา 42 ว่าถ้าเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 41 ก็ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารนั้น ซึ่งหากเจ้าของอาคารฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนอาคารนี้โดยมิได้รื้อถอนภายในกำหนดก็จะมีโทษตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 ทวิ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา 40 (3) จึงไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายรองรับเป็นการลงโทษโดยมิชอบ กรณีจึงต้องยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ให้ขออนุญาตดัดแปลงอาคารให้ถูกต้องเสีย ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225