คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาที่ต้องยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ และการแยกกรรมความผิดฐานรวบรวมเมล็ดพันธุ์
แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยรวบรวมขายเมล็ดพันธุ์พืชชนิดข้าวเปลือกเจ้าซึ่งเสื่อมคุณภาพ ให้แก่ผู้ใด เมื่อใด สถานที่ใด จำนวนและราคาเท่าไร ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้องก็สามารถเข้าใจข้อหาได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
จำเลยฎีกาว่าไม่ได้ติดฉลากวันสิ้นอายุการใช้ทำพันธุ์เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่ผ่านการทดสอบความงอก และจำเลยไม่ได้เตรียมเมล็ดพันธุ์พืชไว้จำหน่ายหรือได้จำหน่ายให้แก่ผู้ใด เป็นฎีกาในทำนองปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ฎีกาดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 4 ซึ่งไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาจึงเป็นการไม่ชอบ
ความผิดฐานเป็นผู้รับใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าโดยไม่ระบุเดือนและปีที่รวบรวม เดือนและปีที่สิ้นอายุการใช้เพาะปลูกหรือใช้ทำพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 มาตรา 22 (2) และความผิดฐานรวบรวมเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพตามมาตรา 36 มีเจตนากระทำความผิดที่แตกต่างกัน จึงเป็นคนละกรรมกัน แม้จำเลยยังไม่ได้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่รวบรวม ก็ไม่ทำให้เป็นความผิดกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมและการฟ้องคดีอาญา: การจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายและการหมดอายุคดี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 บัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิด โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 การที่จำเลยถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดตัวผู้เสียหายในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสาร การเป็นผู้ถือหุ้น/กรรมการทำให้เป็นผู้เสียหายได้
ศาลชั้นต้นเพียงแต่หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่าหากข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์กล่าวหา ผู้เสียหายก็คือบริษัท ก. ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัทยังถือไม่ได้ว่าเป็นผู้เสียหาย อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ก.ย่อมเป็นผู้เสียหายจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 และป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และมาตรา 194
หากข้อเท็จจริงได้ความว่ามีการกระทำผิดตามฟ้อง ฐานปลอมและใช้เอกสารรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น คำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดรายงานจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและหรือมติพิเศษ บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทบริษัทตลอดทั้งบรรดาผู้ถือหุ้นและกรรมการย่อมได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการกระทำนั้นจึงเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4449/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องฐานจัดให้มีการเล่นการพนัน และขอบเขตการพิพากษาเกินคำขอ
แม้ในบันทึกการฟ้องด้วยวาจาของโจทก์จะบรรยายถึงฐานความผิดของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 รับเป็นเจ้าบ้านฯ อันเป็นการใช้คำอย่างย่อโดยละข้อความที่จะตามมาเสีย แต่ในเอกสารฉบับเดียวกันนั่นเองเมื่อกล่าวถึงฐานความผิดของจำเลยที่ 1 ก็บรรยายโดยใช้คำเต็มว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านจัดให้มีการเล่นและเมื่อศาลชั้นต้นได้บันทึกใจความแห่งฟ้องไว้เป็นหลักฐาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 19 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าสำนักผู้จัดให้มีการเล่นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน จึงย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 นั่นเองคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพ การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นการพนันจึงมิใช่เป็นเรื่องพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพฤติการณ์ในการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ไม่ร้ายแรงนัก จึงมีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษให้จำเลยที่ 1 และคุมความประพฤติไว้ กรณีเช่นว่านี้เป็นเหตุในลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2โดยรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนัน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเป็นผู้ร่วมเล่นการพนันอีกฐานหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้พิพากษาแก้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3879/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพผิดในชั้นศาล และอำนาจฟ้องของโจทก์ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร
โจทก์ฟ้องด้วยวาจาขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 27, 45 จำเลยให้การรับสารภาพว่า กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โดยมิได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยในความผิดฐานอื่น มิใช่ข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง และกรณีไม่มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าพนักงานสอบสวนมิได้สอบสวนจำเลยในข้อหาที่โจทก์ฟ้องหรือไม่
แม้ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะแนบสำเนาเอกสารบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหา คำให้การของผู้ต้องหา รวมทั้งสำเนาหนังสือของสำนักงานเขตที่แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลย ในความผิดฐานไม่ไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของจำเลย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รับราชการทหารพ.ศ.2497 มาตรา 25 และ 44 มากับคำฟ้องฎีกา แต่ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวไม่เพียงพอให้วินิจฉัยว่า พนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนจำเลยในความผิดที่โจทก์ฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 27, 45จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาต่อศาลแขวง จำเลยให้การรับสารภาพผิดต่อศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงต่อศาลว่าจำเลยมิได้กระทำผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลยจึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์หรือพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยในความผิดฐานอื่นนอกเหนือไปจากคำฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3224/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ กรณีคดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลแขวงวินิจฉัยว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ในการซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ขายให้แก่จำเลย แต่มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.มาตรา 456 โจทก์ไม่อาจฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายได้ พิพากษายกฟ้อง และคดีต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าการสั่งจ่ายเช็คพิพาทของจำเลยเป็นการชำระหนี้การซื้อขายที่ดินที่ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นฟังมา โดยศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงนั้นผิดต่อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (3)(ก) ประกอบกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ. 2499 มาตรา 4 จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงขัดต่อ ป.วิ.อ.มาตรา194 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวงและความชอบด้วยกฎหมายในการฟ้องคดีอาญา
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ศาลแขวงโดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิและร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าว ขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา265 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาทซึ่งข้อหาดังกล่าวเกินอำนาจพิจารณาของศาลแขวง กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 7การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 264 และ 268 ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 265 ก็ไม่ทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์เปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบกพร่องคำฟ้องคดีอาญา: จำเป็นต้องแนบระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอเงินบำเหน็จ
ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 71การที่ศาลจะสั่งให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำต้องพิจารณาจากระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดขึ้นระเบียบดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง รัฐมนตรีได้ออกระเบียบไว้หรือไม่ มีเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จไว้อย่างไร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาให้ศาลทราบหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาด้วย เพื่อที่ศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จโดยถูกต้อง เมื่อโจทก์มิได้แนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบ ศาลจึงไม่อาจที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จได้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเป็นเรื่องสำคัญมีผลเท่ากับลงโทษทางอาญาแก่จำเลย เพราะหากจำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ให้บังคับชำระเช่นเดียวกับการบังคับชำระค่าปรับในคดีอาญาโจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบระเบียบดังกล่าวคือข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499 ปัญหาเรื่องข้อบกพร่องของคำฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลย่อมยกขึ้นมาพิพากษาให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลยกเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จขึ้นมาพิพากษา จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2541 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาส่งตัวผู้ต้องหาให้อัยการเพื่อฟ้องคดีในศาลแขวง และผลของการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเกินกำหนด
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงพ.ศ.2499 มาตรา 7 ที่บัญญัติให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับไปยังพนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับนั้น เป็นบทบัญญัติเพื่อมิให้การดำเนินคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวงต้องล่าช้าและทำให้ผู้ต้องหาต้องถูกควบคุมตัวไว้นานเกินสมควรแก่เหตุและความจำเป็น คดีนี้นอกจากผู้ร้องจะได้ขออายัดตัวผู้ต้องหาต่อพนักงาน-สอบสวนในคดีอื่นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2540 แล้ว และในวันเดียวกันผู้ร้องยังได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ต้องหา แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา รวมทั้งได้สอบคำให้การผู้ต้องหาไว้ด้วย ดังนี้ กรณีหาใช่เป็นกรณีที่ผู้ร้องขออายัดตัวผู้ต้องหาแต่เพียงอย่างเดียวไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้จับผู้ต้องหาแล้ว หรือผู้ต้องหาถูกจับแล้วตั้งแต่นั้น แม้ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวอยู่ในคดีอื่น และพนักงานสอบสวนในคดีนี้เพิ่งได้ตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในภายหลัง โดยผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวไปในคดีนี้ ก็คงมีผลแต่เพียงทำให้ผู้ร้องมิต้องยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499มาตรา 8 เท่านั้น แต่ผู้ร้องยังมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาให้ทันภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับดังกล่าว และถ้าไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ผู้ร้องก็จะต้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่อศาลต่อไป เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอผัดฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหาถูกจับศาลจึงไม่อาจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไปได้ ชอบที่ศาลจะสั่งยกคำร้องขอผัดฟ้องของผู้ร้องเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำพิพากษาศาลแขวง และข้อจำกัดในการฎีกาประเด็นที่เคยให้การรับสารภาพ
แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงด้านหลังรายงานกระบวนพิจารณาของศาลจะใช้ถ้อยคำสั้น ๆ ว่า "จำเลยมีความผิดตามฟ้อง" ซึ่งลำพังเพียงเท่านี้ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยมีความผิดมาตราใดก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 21 บัญญัติให้ศาลแขวงดำเนินการพิจารณาโดยเร็ว คำสั่งหรือคำพิพากษาจะกระทำด้วยวาจาก็ได้ แต่ให้ทำบันทึกไว้พอได้ใจความ อีกทั้งตามบันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์และบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 20ของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2539 ล้วนมีข้อความกล่าวไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือสลากกินรวบ ตาม พ.ร.บ.การพนันพ.ศ.2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 จึงถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้พอได้ใจความ ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 21 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยเป็นเพียงผู้รับส่วนแบ่งจากยอดขายร้อยละ 25 จำเลยมิได้เป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ตามฟ้องโจทก์นั้น เมื่อฎีกาข้อนี้ของจำเลยขัดกับที่จำเลยให้การรับสารภาพไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษแม้ว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่ากรณีมีเหตุสมควรก็มีอำนาจวินิจฉัยปัญหานี้ให้ได้
of 6