พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เมื่อประกาศที่ฟ้องเพิกถอนหมดอายุ และการชุมนุมยุติแล้ว
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 กับห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 พร้อมบริวารรบกวนการชุมนุมของโจทก์ทั้งสองกับพวก โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกประกาศตามคำฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ก็เพื่อที่โจทก์ทั้งสองกับพวกจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไปได้โดยไม่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ขัดขวางการชุมนุมทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะเกิดเหตุ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 ที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนั้นได้สิ้นผลไปตามกำหนดระยะเวลาที่ประกาศมีผลใช้บังคับ และโจทก์ทั้งสองกับพวกได้ยุติการชุมนุมทางการเมืองแล้ว หากโจทก์ทั้งสองหรือบุคคลใดที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสองถูกดำเนินคดีอาญา ก็ยังคงยกข้อต่อสู้ในคดีอาญาว่าประกาศของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ และศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคดีอาญานั้นก็ต้องวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำของจำเลยในคดีอาญาว่าเป็นความผิดหรือไม่ โดยโจทก์ในคดีอาญามีหน้าที่ต้องนำสืบให้ได้ความว่าประกาศตามคำฟ้องชอบด้วยกฎหมายและจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้กระทำความผิดด้วย ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนประกาศของจำเลยที่ 1 และประกาศของจำเลยที่ 3 กับห้ามมิให้รบกวนการชุมนุมของโจทก์ทั้งสองกับพวกโดยมิได้มีคำขอให้บังคับแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้กระทำการหรือไม่กระทำการอื่นใดอีก การที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ ศาลจึงชอบที่จะใช้ดุลพินิจสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6425/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคัดค้านเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องอ้างเหตุขัดต่อกฎหมาย ไม่ใช่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา
คำร้องคัดค้านการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยอ้างว่าการดำเนินการเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 39, 197, 212 ประกอบมาตรา 211 เป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับการกระทำของโจทก์ที่ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับชำระค่าปรับ จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ศาลจะต้องส่งคำร้องคัดค้านของจำเลยที่ 1 ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15873/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความชอบธรรมของกฎหมาย เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่อาจฎีกาได้
การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การส่งคำโต้แย้งของคู่ความเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คู่ความขอให้ส่งไปได้เฉพาะในประเด็นว่า บทบัญญัติหรือเนื้อความของกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ตามคำร้องของจำเลยเป็นการโต้แย้งกระบวนการตรากฎหมายว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 154 ซึ่งมาตราดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่จำเลยหยิบยกเป็นประเด็นโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ต้องส่งคำโต้แย้งของจำเลยเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 211 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม ต้องถือว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลยุติธรรมในการวินิจฉัยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และการยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว