คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ม. 233

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11727/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตุลาการมีอิสระในการพิจารณาคดี การฟ้องละเมิดจากคำสั่งศาลต้องเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือมิชอบ
โจทก์ทั้งสามยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม โดยยืนยันมาในคำฟ้องว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีปกครอง ซึ่งแสดงถึงเจตนาของโจทก์ทั้งสามว่าไม่มีความประสงค์ที่จะนำคดีนี้ไปฟ้องที่ศาลปกครอง และการพิจารณาวินิจฉัยคดีตลอดจนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางโดยจำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการใช้อำนาจตุลาการมิใช่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลปกครองกลางดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่งทางปกครองซึ่งไม่เข้ากรณีคดีพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (1) ถึง (6) คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 271 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ทั้งสามฟ้องคดีนี้ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 233 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 1 บททั่วไป บัญญัติว่า "การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายและในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์" ทั้งยังมีบทบัญญัติในส่วนเดียวกัน มาตรา 249 รับรองอำนาจอิสระในการทำหน้าที่ของศาลด้วย ดังนี้
"ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น
การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ
การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดีจะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี
การโยกย้ายผู้พิพากษาและตุลาการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้พิพากษาและตุลาการนั้น จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นการโยกย้ายตามวาระตามที่กฎหมายบัญญัติ เป็นการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น เป็นกรณีที่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือตกเป็นจำเลยในคดีอาญา"
ตามบทบัญญัติในมาตรา 233 และมาตรา 249 ดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบมาตรา 277 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติหมวด 8 ศาล ส่วนที่ 4 ศาลปกครอง ที่บัญญัติว่า "การแต่งตั้งและการให้ตุลาการในศาลปกครองพ้นจากตำแหน่ง ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองตามที่กฎหมายบัญญัติก่อน แล้วจึงนำความกราบบังคมทูล" ย่อมมีนัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประสงค์ที่จะปกป้องคุ้มครองผู้พิพากษาและตุลาการในศาลทั้งหลายรวมทั้งตุลาการศาลปกครองให้สามารถทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้อย่างมีอิสระ ปราศจากการแทรกแซงครอบงำของบุคคล องค์กร หรืออำนาจอื่นใดทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถดำรงสถานะของความเป็นกลางในการทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคดีอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความในคดีได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นเพื่อให้ผู้พิพากษาและตุลาการสามารถทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้อย่างเป็นอิสระไม่ต้องกังวลหวั่นเกรงว่าจะต้องรับผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็เพื่อปกป้องผู้พิพากษาและตุลาการผู้ทำหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้รอดพ้นจากการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายของผู้ที่อาจเสียประโยชน์จากคำตัดสินชี้ขาดของศาล ดังนั้น อำนาจในการวินิจฉัยประเด็นปัญหาแห่งคดีจึงเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาหรือตุลาการ บุคคลใดจะฟ้องร้องให้ผู้พิพากษาหรือตุลาการรับผิดจากการใช้อำนาจทางตุลาการไม่ได้ เว้นแต่การใช้อำนาจดังกล่าวจะเป็นการใช้อำนาจโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่เท่านั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามในคดีนี้ โจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ในฐานะตุลาการศาลปกครองกลางพิจารณาออกคำสั่งและวินิจฉัยประเด็นแห่งคดีโดยทุจริตหรือโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพียงแต่กล่าวอ้างว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยทั้งสี่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะก่อนมีคำสั่งจำหน่ายคดี จำเลยทั้งสี่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยซึ่งเป็นการขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 132 โดยชัดแจ้งเท่านั้น อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ทั้งสามไม่พอใจและไม่เห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสามจะใช้สิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อตรวจสอบทบทวนแก้ไขให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งสามต่อไปได้ ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 73 ประกอบ มาตรา 11 (4) ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ตามที่โจทก์ทั้งสามบรรยายมาในฟ้องจึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามไม่ ชอบที่ศาลฎีกาจะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสามได้ในชั้นตรวจคำฟ้องโดยไม่จำต้องมีคำสั่งรับฟ้องไว้ก่อน ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสาม ประกอบมาตรา 131 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10660/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลยุติธรรมในการวินิจฉัยการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และการยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์
ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้" และมาตรา 211 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ" ดังนี้แม้อำนาจในการสั่งรับหรือไม่รับคำโต้แย้งของคู่ความตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวไว้พิจารณาจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยว่าคำโต้แย้งของคู่ความเข้าหลักเกณฑ์ที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรมหาใช่ว่าเมื่อคู่ความมีคำโต้แย้งอย่างไรแล้ว ศาลยุติธรรมจะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยทุกกรณีไม่ คดีนี้จำเลยฎีกาว่า ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคหนึ่งและวรรคสาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2549 มาตรา 3 บังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 264, 272 ประกอบมาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ใช้บังคับไม่ได้ตามมาตรา 6 ซึ่งข้อฎีกาของจำเลยล้วนแต่อ้างว่าการตีความของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้งดการบังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้นเนื่องจากยังไม่มีการบังคับคดีและจำเลยมิได้ยื่นฟ้องโจทก์ เป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกัน ไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 293 ไม่เป็นธรรมแก่คู่ความ เป็นการตีความที่คับแคบขัดต่อพระราชดำริการตีความและการใช้กฎหมายที่ประสงค์จะให้ตีความอย่างอะลุ่มอล่วย ให้เกิดความสุขในบ้านเมือง ทั้งการอ้างว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 2, 4, 29, 30, 233 ก็ไม่ชัดแจ้งว่าขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตราต่างๆ ดังกล่าวอย่างไร บทบัญญัติดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่กระทำให้บุคคลไม่มีความเสมอกันในกฎหมายหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไม่เท่าเทียมกัน ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไร ป.วิ.พ. มาตรา 293 เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการงดการบังคับคดีเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 โดยมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะของดการบังคับคดีโดยมีสิทธิหักกลบลบหนี้กับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และแม้จะได้ความตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 วรรคหนึ่ง กฎหมายก็ให้อำนาจศาลที่จะให้งดการบังคับคดีหรือไม่ เมื่อกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ในมาตรา 293 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงได้ยกคำร้องของจำเลย คำโต้แย้งของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 264 แม้ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยคดีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 จะได้ยกเลิกและไม่มีศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยก็ตาม ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและต้องรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว