คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13277/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกที่ดิน: ผลของคำพิพากษาคดีแพ่งผูกพันคดีอาญา และอายุความฟ้องร้อง
เดิมที่ดินพิพาทเคยเป็นของ จ. มาก่อน จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและถูก จ. ฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน หลังจากนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุด คำพิพากษาในคดีแพ่งย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทั้งจำเลยทั้งสามเบิกความยอมรับว่า จ. เคยฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่ดินพิพาท และยอมรับว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยทั้งสามและคดีถึงที่สุดแล้ว คำเบิกความของจำเลยทั้งสามเป็นการยอมรับอยู่ในตัวว่า ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดว่าที่ดินพิพาทเป็นของ จ. เมื่อ จ. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันบุกรุก ที่จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินคนละแปลงจึงขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยทั้งสามเอง ไม่อาจรับฟังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13083/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบริการประกันชีวิตขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังกล่าวต่อไปนี้... (7) จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท" และมาตรา 93 บัญญัติว่า "บริษัทใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 33 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่องให้ปรับอีกไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่" การที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้สรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนหาลูกค้า และทำหน้าที่เป็นผู้บริหารงานขายให้แก่โจทก์ โดยโจทก์จ่ายเงินเป็นค่าจ้างหรือค่าตอบแทนล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก่อน จึงขัดต่อบทกฎหมายมาตราดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11994/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวจากการปลอมและใช้เอกสารสิทธิเพื่อบังคับให้ส่งมอบที่ดิน ศาลฎีกายกประเด็นความสงบเรียบร้อยและแก้ไขโทษ
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันปลอมสัญญากู้และสัญญาซื้อขาย แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารดังกล่าวไปเป็นหลักฐานฟ้องโจทก์ก็ด้วยเจตนาที่จะบังคับให้โจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อได้ว่าการกรอกข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวทำในคราวเดียวกัน แม้จะเขียนวันที่คนละวันก็ตาม ส่วนการใช้เอกสารทั้งสองฉบับของจำเลยที่ 1 ก็ใช้ในคราวเดียวกัน และการปลอมเอกสารสิทธิทั้งสองฉบับดังกล่าวก็เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบกันด้วยเจตนาเดียวคือบังคับตามสัญญาซื้อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดกรรมเดียว การที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม 2 ฉบับ เป็นความผิด 2 กระทง และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานปลอมเอกสารสิทธิ 2 กระทง จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, ครอบครองปรปักษ์, และการซื้อที่ดินโดยสุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและอำนาจฟ้องของบริษัทบริหารสินทรัพย์ การรับผิดในเบี้ยปรับจากการประมูลทอดตลาด
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคาร ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคาร ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคาร ท. ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคาร ท. โจทก์ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคาร ท. หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว ... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคาร ท. อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน
หนังสือสัญญาซื้อขายระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8415/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนทรัพย์สินจากการฉ้อโกง: จำเลยต้องชดใช้เงินที่ได้จากการฉ้อโกงให้ครบถ้วน แม้ทรัพย์สินจะไม่ได้สูญเสียไปโดยตรง
จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันฉ้อโกงเงิน 2,000,000 บาท ไปจากโจทก์ร่วม ทรัพย์สิน 47 รายการ คิดเป็นเงิน 473,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 กับพวกได้มาจากการนำเงินที่ฉ้อโกงโจทก์ร่วมไปซื้อมาไว้ในครอบครองไม่ใช่ทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจคืนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วมได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ได้คืนทรัพย์สิน 47 รายการ ให้แก่โจทก์ร่วม แต่มิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินในจำนวนเท่ากับราคาทรัพย์สิน 47 รายการ ให้แก่โจทก์ร่วมด้วยเป็นการไม่ชอบ เพราะจะทำให้โจทก์ร่วมได้รับเงินที่โจทก์ร่วมสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 กับพวกคืนจากจำเลยที่ 2 กับพวกไม่ครบถ้วน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7183/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากละเมิด: การรู้ถึงการละเมิดและตัวผู้กระทำผิดเป็นจุดเริ่มต้นนับอายุความ
โจทก์ทั้งสองได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 1 ขอให้โจทก์ทั้งสองชำระหนี้ตามหนังสือดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนั้น วันเวลาที่โจทก์ที่ 2 ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 น่าจะอยู่ภายในเดือนมกราคม 2538 นอกจากนี้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดฐานใช้หนังสือค้ำประกันปลอม นั้น ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2548 ว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม ให้ยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้จึงมิได้มีมูลอันเป็นความผิดที่มีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา การใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และ ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคท้าย กล่าวคือ โจทก์ทั้งสองต้องฟ้องจำเลยทั้งสี่ภายใน 1 ปี นับแต่เดือนมกราคม 2538 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 จึงเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองที่นำมาฟ้องคดีนี้จึงขาดอายุความแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประชาชนผู้อื่นต่อพนักงานสอบสวนเป็นความผิดอาญา
ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานหลอกลวงเจ้าหนี้ โดยการขายฝากและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับคดี ถือเป็นกรรมเดียว
โจทก์เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ย.1062/2550 ของศาลแพ่ง จำเลยจดทะเบียนขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 121938 ตำบลดอนช้าง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ของจำเลยให้แก่ ร. ต่อมาจำเลยตกลงกับ ร. ว่าให้จำเลยขายที่ดินแล้วนำเงินที่ได้มามอบให้แก่ ร. เป็นสินไถ่ จึงมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. ในวันเดียวกัน แล้วนำเงินที่ได้มอบให้แก่ ร. ดังนี้ การกระทำของจำเลยสำเร็จเป็นความผิดนับแต่ขายฝากที่ดินให้แก่ ร. เพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ แม้ต่อมาจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกลับมาเป็นของจำเลยก่อนโอนขายให้แก่ ว. แล้วมอบเงินที่ได้เป็นสินไถ่ให้แก่ ร. ไม่ว่าจำเลยได้รับส่วนต่างจากเงินค่าขายที่ดินหรือไม่ ก็เป็นการกระทำเพื่อให้การขายที่ดินสำเร็จตามข้อตกลงเท่านั้น ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยกลับเป็นความผิดขึ้นใหม่อีกกรรมหนึ่งแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3434-3440/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเลยควบคุมความปลอดภัยท่าเทียบเรือทำให้เกิดเหตุจมน้ำ เสียชีวิตและบาดเจ็บ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชดใช้
จำเลยที่ 3 เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำและทางระบายน้ำ การขนส่ง การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้ามและที่จอดรถ การควบคุมความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการอนามัยในโรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่น ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 มาตรา 89 (3) (6) (8) (9) และ (20) แม้จะให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนเช่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบท่าเทียบเรือให้แก่จำเลยที่ 3 ก็ตาม จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรวมทั้งควบคุมความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนผู้มาใช้ท่าเทียบเรือและโป๊ะเทียบเรือ ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมาย การปิดป้ายประกาศไว้เพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจป้องกันและควบคุมประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้บริการเรือด่วนไม่ให้ลงไปอยู่บนโป๊ะเทียบเรือได้ จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจอ้างการปิดป้ายประกาศดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดได้
of 17