คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พฤติการณ์รื้อค้นหาทรัพย์สินในเคหสถานโดยไม่มีเจตนาลักทรัพย์ ถือเป็นความพยายามลักทรัพย์ได้
โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2187/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ต้องมีการโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้ผู้อื่น
ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ต้องปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ โดยผู้กระทำต้องรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ และย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์ ซ่อนเร้นทรัพย์ หรือโอนทรัพย์ของลูกหนี้ไปให้แก่ผู้อื่น เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันโอนชื่อที่ดินของ บ. จาก บ. เป็นผู้รับโอนประเภทมรดกใส่ชื่อจำเลยทั้งสอง ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองรับโอนที่ดินซึ่งเป็นมรดกของ บ. ที่ตกทอดแก่จำเลยทั้งสองในฐานะที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้รับมรดกของ บ. เท่านั้น ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้กองมรดกของ บ. ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว เมื่อคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้ระบุว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันโอนที่ดินของ บ. ซึ่งเป็นลูกหนี้โจทก์ไปให้แก่ผู้อื่น จึงเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อต่อสู้คดี ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
การใช้สิทธิอุทธรณ์เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย เนื้อหาในฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ทนายความผู้เรียงอุทธรณ์ เป็นการดำเนินการเพื่อต่อสู้คดีของจำเลยที่ 2 เพื่อให้พ้นความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาลเพื่อประโยชน์แก่คดีของตน จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 331

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 359/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและหลอกลวงเพื่อเรียกเงิน แม้ศาลล่างไม่ปรับบทมาตรา 157 ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทได้
จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงิน และมีการวางฎีกาเบิกจ่ายเงินให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. แล้วก่อนที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเงินจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 149 แต่การที่จำเลยทั้งสองตรวจรับงานโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นคอนกรีตเสริมเหล็กบ้านหนองบัวเงินเรียบร้อยแล้วกลับมาหลอกลวงผู้เสียหายว่ายังไม่ได้ตรวจรับงานดังกล่าวเพื่อเรียกเงินจากผู้เสียหาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 157 มาด้วย และศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 แต่ไม่ปรับบทมาตราดังกล่าวโดยเห็นว่าเมื่อเป็นความผิดซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่เป็นความผิดบททั่วไปอีก เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะแล้ว ที่ถูกต้องระบุว่าไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก ดังนั้น ในกรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจปรับบทให้ถูกต้องและลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ได้ แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยที่โจทก์มิได้ฎีกาในทำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21074/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันสุขภาพไม่ใช่ประกันวินาศภัย ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยฐานละเมิดได้
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประกันสุขภาพของโจทก์ไม่เป็นการประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แต่เป็นการประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ไป ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของโจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสามได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ได้จ่ายไปแทนจากจำเลยทั้งสามซ้ำซ้อนอีกนั้น ไม่ชอบเนื่องจากตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 5 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ บริษัท หมายความว่า บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้ และหมายความรวมถึง สาขาของบริษัทประกันชีวิตต่างประเทศที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 19 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า "ประกันชีวิต" หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเช่นเดียวกัน นอกจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) บริษัทและมาตรา ๓๓ บัญญัติว่า ห้ามมิให้บริษัทกระทำการดังต่อไปนี้ (1) ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ดังนั้น บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด จึงไม่อาจประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยได้ การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนโจทก์ จึงฟังได้ว่าเป็นการจ่ายตามข้อตกลงในสัญญาประกันสุขภาพอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิตซึ่งเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับจากบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ตามสัญญา โดยไม่เกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยทั้งสามผู้ต้องรับผิดฐานละเมิด โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20898/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการขอริบทรัพย์สินในคดียาเสพติด ผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกำหนด 1 ปี นับจากวันศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใด ๆ ก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่ถ้ามีเหตุสมควรแสดงได้ว่าไม่สามารถยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จะยื่นคำร้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ เว้นแต่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง" ซึ่งเท่ากับว่าอย่างช้าที่สุด ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
คดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 จึงเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความ ตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินตามคำร้องได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบทรัพย์สินตามคำร้องของผู้ร้องมานั้นจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20400/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจร้องทุกข์ในคดีอาญา: ผู้เสียหายจากการลงทุนร่วมที่เสียหายจากยักยอก
คดีนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเข้าร่วมลงทุนกับจำเลยในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลชั้นต้น โดยนำเงินของ ว. มาทยอยมอบให้จำเลยเพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกัน และตกลงกันว่าจำเลยจะแบ่งผลประโยชน์ที่ได้รับจากเงินที่จำเลยนำมาลงทุนเป็น 3 ส่วน จำเลยได้ 1 ส่วน โจทก์ร่วมและ ว. ได้คนละส่วน โดยโจทก์ร่วมต้องนำเงินที่ลงทุนดังกล่าวไปคืนให้แก่ ว. ด้วย เห็นว่า แม้เงินที่โจทก์ร่วมนำไปลงทุนกับจำเลยเป็นเงินของ ว. ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมก็ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมผลประโยชน์ไปคืนให้แก่ ว. ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้นำเงินของ ว. ไปหาผลประโยชน์จากการร่วมลงทุนกับจำเลยและต้องรับผิดชอบต่อ ว. ในจำนวนเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมิใช่เป็นตัวแทนของ ว. ที่มีหน้าที่นำเงินของ ว. ไปมอบให้แก่จำเลย ซึ่งเมื่อมอบเงินแล้วความรับผิดชอบในเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ร่วมในฐานะตัวแทนก็หมดไป ดังนี้ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในจำนวนเงินที่ ว. มอบให้โจทก์ร่วมไปหาผลประโยชน์เพราะการกระทำผิดยักยอกของจำเลย โจทก์ร่วมในฐานะที่เป็นผู้นำเงินของ ว. ไปหาผลประโยชน์ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์ร่วมจึงมีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และโจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20134/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยมิชอบ ต้องระบุความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การบรรยายฟ้องไม่ชัดเจนทำให้ฟ้องไม่ครบองค์ประกอบ
องค์ประกอบความผิดฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 269/5 มีว่า "ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ด้วย แต่ฟ้องโจทก์มิได้มีข้อความดังกล่าว และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอดก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19299/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ไม่กระทบอำนาจสอบสวนเดิม และการพิจารณาคดีตามกฎหมายที่ใช้บังคับ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกร้องทุกข์หรือกล่าวโทษอันเนื่องมาจากได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อหน้าที่ในการยุติธรรมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเท่านั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ จึงไม่มีผลกระทบกระเทือนต่ออำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน คดีนี้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องการกระทำความผิดของจำเลยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ดังนั้น ในการพิจารณาการกระทำความผิดของจำเลย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงต้องพิจารณาตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 ที่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไปได้ แม้ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีผลย้อนหลัง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18346/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกทรัพย์คืนและการบังคับคดี กรณีไม่ใช่การฉ้อฉล แต่เป็นการขอให้โอนทรัพย์สิน
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่ ห. กับ ส. สมคบกันโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ และขอให้เพิกถอนสัญญาระหว่าง ห. กับ ส. และจำเลยเสีย คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย เพราะโจทก์มีคำขอ ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ด้วย หาใช่เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใดที่ทำขึ้นอันเป็นการให้โจทก์เสียเปรียบไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องขอเรียกทรัพย์คืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
of 17