พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประปา: ผู้ขายบ้านยังคงรับผิดชอบค่าน้ำแม้จะขายไปแล้ว หากยังมิได้บอกเลิกสัญญา
สัญญาการใช้น้ำประปาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาที่ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่คู่สัญญาที่พึงปฏิบัติตอบแทนซึ่งกันและกันทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ในด้านของจำเลยย่อมมีสิทธิใช้สอยน้ำประปาของโจทก์ ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีหน้าที่ต้องชำระค่าน้ำประปาตอบแทนให้แก่โจทก์ด้วย ส่วนโจทก์ย่อมมีหน้าที่จ่ายน้ำประปาให้จำเลยได้ใช้สอยและมีสิทธิได้รับชำระเงินค่าน้ำประปาตามสัญญาจากจำเลยเช่นกัน สัญญาการใช้น้ำประปาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง ซึ่งคู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ต่อกันหรือต่างเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ เมื่อสัญญาการใช้น้ำประปาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีหนี้ค่าน้ำประปาค้างชำระตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าไม่มีมูลหนี้หรือจำนวนหนี้ไม่ถูกต้อง ทั้งนับตั้งแต่โจทก์อนุมัติและติดตั้งมาตรวัดน้ำประปาพร้อมทั้งจ่ายน้ำประปาให้แก่จำเลย จำเลยไม่เคยแจ้งบอกเลิกการใช้น้ำประปาหรือแจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำประปาแก่บุคคลอื่นให้โจทก์ทราบ จำเลยจึงยังคงเป็นผู้ใช้น้ำตามเงื่อนไขการใช้น้ำประปาแนบท้ายสัญญา และเป็นคู่สัญญาซึ่งต้องผูกพันรับผิดชอบชำระค่าน้ำประปาที่ใช้ไปในบ้านหลังดังกล่าวนั้น แม้จำเลยจะให้การกล่าวแก้เพื่อปัดความรับผิดว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ใช้น้ำประปาจากโจทก์ เนื่องจากจำเลยขายบ้านพร้อมที่ดินที่ใช้น้ำประปาให้แก่ พ. เข้าครอบครองตั้งแต่ปี 2556 แล้วก็ตาม แต่เมื่อสัญญาการใช้น้ำประปา และเงื่อนไขการใช้น้ำประปาแนบท้ายสัญญาการใช้น้ำประปาส่วนภูมิภาค มิได้มีข้อตกลงให้สัญญาเลิกกันเพราะเหตุแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ในสถานที่ซึ่งใช้น้ำประปา ดังนั้น ตราบใดที่จำเลยมิได้บอกเลิกการใช้น้ำประปา หากมีผู้อื่นครอบครองสถานที่ใช้น้ำประปาก็ยังถือว่าจำเลยและผู้ครอบครองเป็นผู้ต้องรับผิดชอบชำระค่าน้ำประปาแก่โจทก์ เมื่อสัญญาการใช้น้ำประปาระหว่างโจทก์กับจำเลยมีหนี้ค่าน้ำประปาค้างชำระตามฟ้อง ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ชำระหนี้ตามมูลหนี้ที่ยังค้างอยู่ดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 194
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3317/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายห้องชุด, การขยายเวลาโอนกรรมสิทธิ์, เบี้ยปรับ, การสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับ
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความจึงอาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยชนะคดีก็ตามแต่ในส่วนที่วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาฟังไม่ขึ้น จำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาได้ แม้จำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้โต้แย้งโดยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา คดีในชั้นอุทธรณ์จึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
จำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลา จำเลยจึงผิดสัญญาข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย
จำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลา จำเลยจึงผิดสัญญาข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า "ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้" เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หลักประกันเพียงพอแม้ผู้ค้ำประกันลาออก ไม่ถือเป็นผิดสัญญา
ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ การประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 2 แล้วยังมีผู้ค้ำประกันคือจำเลยที่ 3 อีกด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ ประกอบด้วยที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 และที่ 4 รวม 4 แปลง จดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายในวงเงิน รวมหลักประกันมีมูลค่ามากกว่าหนี้คงเหลือและดอกเบี้ย ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ลาออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดหาผู้ค้ำประกันคนใหม่มาแทนจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอย - การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย
แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาโครงการก่อสร้างอาคารชุดของจำเลยเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป จะมีแผนผังโครงการ แสดงภาพจำลองโครงการและทางพิพาทเข้าออกโครงการ ทางพิพาทมีรูปต้นไม้เป็นแนวยาวข้างทาง ลักษณะเป็นถนนเข้าออกโครงการ และตามภาพถ่ายแสดงให้เห็นการสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยถนนเข้าโครงการ ซึ่งจำเลยก็รับว่าจำเลยปรับถมดินก่อสร้างถนนเข้าออกระหว่างโครงการกับถนนราษฎร์บูรณะ ปลูกต้นไม้ตลอดแนวถนน ก่อสร้างป้อมยามรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าถนนเข้าโครงการและขึ้นป้ายโฆษณาให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมโครงการ ทางพิพาทจึงเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ดังนั้น แผ่นพับโครงการของจำเลยเป็นการโฆษณาของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจทำให้ผู้จะซื้อห้องชุดซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยว่า จำเลยจะมอบทางพิพาทเป็นถนนเข้าออกโครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันให้ผู้จะซื้อห้องชุดเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้จะซื้อเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย จึงถือว่าแผ่นพับโฆษณาโครงการของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระหว่างผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11
แต่เมื่อพื้นที่โครงการอยู่ในเขตผังเมืองประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่ดินประเภท ย.6 (สีส้ม) จำเลยจึงต้องยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์และแก้ไขแผนผังโครงการใหม่ จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญในการประกอบธุรกิจจำต้องศึกษาและตรวจสอบข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะดำเนินการโฆษณาและก่อสร้างอาคารชุด การที่จำเลยโฆษณาขายอาคารชุดก่อนการดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จำเลยหลอกลวงปิดบังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นถนนในพื้นที่โครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ส่วนที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมีข้อสัญญาว่า ผู้จะขายสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังโครงการ...ทรัพย์ส่วนกลางได้ตามความเหมาะสม โดยผู้จะซื้อตกลงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาของผู้จะขายแต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ภายหลังจากมีผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังของโครงการที่เกินสมควรและไม่เป็นธรรมต่อผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยที่หวังจะได้ทางพิพาทเป็นพื้นที่ในโครงการเป็นทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้อาศัยในอาคารชุด จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นอ้างปฏิเสธความรับผิดของจำเลยได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับโจทก์ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยก่อนที่จำเลยปรับเปลี่ยนแผนผังโครงการ
แต่เมื่อพื้นที่โครงการอยู่ในเขตผังเมืองประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางที่ดินประเภท ย.6 (สีส้ม) จำเลยจึงต้องยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์และแก้ไขแผนผังโครงการใหม่ จำเลยเป็นผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก่อสร้างอาคารชุดขนาดใหญ่ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญในการประกอบธุรกิจจำต้องศึกษาและตรวจสอบข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับของทางราชการที่เกี่ยวข้องเสียก่อนที่จะดำเนินการโฆษณาและก่อสร้างอาคารชุด การที่จำเลยโฆษณาขายอาคารชุดก่อนการดำเนินการดังกล่าว ถือได้ว่าขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด จำเลยหลอกลวงปิดบังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นถนนในพื้นที่โครงการอันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ส่วนที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดมีข้อสัญญาว่า ผู้จะขายสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังโครงการ...ทรัพย์ส่วนกลางได้ตามความเหมาะสม โดยผู้จะซื้อตกลงไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญาของผู้จะขายแต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยยกทางพิพาทให้เป็นถนนสาธารณประโยชน์ภายหลังจากมีผู้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลย เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแผนผังของโครงการที่เกินสมควรและไม่เป็นธรรมต่อผู้จะซื้อห้องชุดกับจำเลยที่หวังจะได้ทางพิพาทเป็นพื้นที่ในโครงการเป็นทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของผู้อาศัยในอาคารชุด จำเลยจึงไม่อาจยกข้อสัญญาดังกล่าวขึ้นอ้างปฏิเสธความรับผิดของจำเลยได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับโจทก์ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับจำเลยก่อนที่จำเลยปรับเปลี่ยนแผนผังโครงการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3312/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประกันภัย: ความคุ้มครองภัยลมพายุ และการรับผิดของบริษัทประกันภัย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 สัญญาประกันภัยเป็นนิติกรรมสองฝ่ายที่คู่สัญญามีคำเสนอคำสนองต้องตรงกันที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงจะชำระเบี้ยประกันภัยด้วย กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบของสัญญาไว้ ส่วนตารางกรมธรรม์ประกันภัยเป็นเพียงหลักฐานการรับประกันที่ผู้รับประกันภัยออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อแสดงว่าตนได้เข้ารับประกันความเสี่ยงภัยนั้นไว้แล้ว หาใช่เป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองในนามของโจทก์ตามใบคำขอเอาประกันภัย ซึ่งในข้อ 12 ระบุความคุ้มครองภัยเพิ่มพิเศษรวมถึงลมพายุไว้ด้วย และต่อมาจำเลยที่ 2 ออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ได้ให้คำจำกัดความคำว่า กรมธรรม์ประกันภัย หมายความรวมถึง ใบคำขอเอาประกันด้วย ดังนั้น ใบคำขอเอาประกันภัยจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัย นอกจากนี้ยังปรากฏข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยว่าทำสัญญาประกันภัยวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 พิจารณารับประกันวินาศภัยในทรัพย์ที่เอาประกันภัยของโจทก์ และถือว่าเป็นวันที่คำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 2 ตรงกันอันเป็นวันที่สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และจำเลยที่ 2 ไม่ได้แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการพิจารณารับประกันภัยของผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ในการสืบพยานต่อศาลชั้นต้นทั้งที่ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 2 และไม่ยากแก่การนำสืบว่าเพราะเหตุใดจึงไม่คุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุ และกรมธรรม์ประกันภัยออกเป็นหลักฐานเมื่อวันหลังจากที่เกิดวินาศภัยในคดีนี้ หากจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์จะคุ้มครองความเสี่ยงภัยพิเศษจากลมพายุก็ควรโต้แย้งหรือแจ้งต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์เสียแต่ในโอกาสแรก แต่ก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น และต้องถือว่าจำเลยที่ 2 รับประกันภัยจากโจทก์โดยรวมถึงภัยอันเกิดจากลมพายุตามที่มีการระบุในใบคำขอเอาประกันภัยตามข้ออ้างของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หลักประกันเพียงพอ แม้ผู้ค้ำประกันลาออก ผู้กู้ไม่ต้องหาหลักประกันเพิ่ม ศาลยกฟ้อง
ตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 วรรคสอง ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันใหม่แทนผู้ค้ำประกันที่ลาออกแล้ว ยังได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจัดหาหลักประกันอื่นมาเพิ่มเติมอันเป็นทางเลือกของผู้กู้อีกทางหนึ่งด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันก็คือเพื่อให้ผู้ให้กู้ได้มีหลักประกันเพียงพอครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลืออยู่ ปรากฏว่าหลักประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 มีทั้งหลักประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ การประกันด้วยบุคคลนอกจากจำเลยที่ 7 แล้ว ยังมีผู้ค้ำประกันที่เป็นพนักงานของโจทก์อีก 5 คนด้วย โดยตามระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์ ข้อ 14 (4) กำหนดให้พนักงานสหกรณ์ค้ำประกันได้ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท แสดงว่าโจทก์ตีมูลค่าการค้ำประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท รวม 5 คน คิดเป็นมูลค่า 150,000 บาท ส่วนหลักประกันด้วยทรัพย์ จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้าง มาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดภายในวงเงินรวมหลักประกันมีมูลค่ามากกว่าหนี้คงเหลือและดอกเบี้ย ก่อนฟ้องจำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์เลย แม้ระเบียบสหกรณ์การเกษตรของโจทก์กำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องหาหลักประกันเพิ่มเติมก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าหลักประกันที่เหลืออยู่มีมูลค่าครอบคลุมหนี้เงินกู้ที่เหลือเป็นจำนวนมากเช่นนี้จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหาหลักประกันเพิ่มเติมให้แก่โจทก์อีก กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเจตนารมณ์ระเบียบดังกล่าวแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3295/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแก้ไขคำพิพากษา: ข้อผิดพลาดเล็กน้อย vs. การวินิจฉัยจำเลยที่ 2 ที่ศาลยังมิได้ตัดสิน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยในส่วนวินิจฉัยรับฟังว่า จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ หลังจากทำสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ แล้วผิดนัดชำระเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ อันเป็นการวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเท่านั้น มิได้วินิจฉัยถึงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย จึงไม่อาจแปลไปว่าได้วินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 1 แล้ว แม้การที่ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยและพิพากษาถึงจำเลยที่ 2 จะเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 แต่เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์อันเป็นการให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดโดยศาลมิได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดนั้น จึงมิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยในคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2884/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเปลี่ยนมือกรรมสิทธิ์จากการขายทอดตลาด ทำให้โจทก์หมดอำนาจฟ้องเรียกค่าส่วนกลางจากจำเลยเดิม
ธนาคาร อ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ ต่อมาธนาคาร อ. ขอให้ยึดห้องชุดพิพาท บริษัท บ. เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร อ. โดยขออนุญาตเข้าซื้อห้องชุดพิพาทในนามของตนเอง และแถลงขอให้หักค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระ ซึ่งตามประกาศขายทอดตลาดมีการระบุยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระไว้ด้วย มีคำเตือนผู้ซื้อได้จะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18, 29 และมาตรา 41 ซึ่งถือว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นข้อมูลสำคัญที่ผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดจะต้องตรวจสอบและนำมาประกอบการตัดสินใจเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาด ต่อมาบริษัท บ. ผู้สวมสิทธิแทนธนาคาร อ. เป็นผู้ประมูลซื้อได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำรายงานแสดงรายการรับจ่ายครั้งที่ 1 การที่บริษัท บ. เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์เท่ากับตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว เมื่อจำเลยมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค้างชำระแก่โจทก์ บริษัท บ. ย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเดิม และมีหน้าที่ที่จะต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับหนี้ค่าส่วนกลางจากจำเลยอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2882/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจัดสรรที่ดินต้องถมดินให้เสมอถนนภาระจำยอม ไม่จำเป็นต้องเสมอถนนสายหลัก
ตามสัญญาจะซื้อจะขายกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินตามใบคำขอ/ใบอนุญาต ซึ่งตามใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน จำเลยที่ 1 จะต้องจัดสรรที่ดินตามแผนผัง โครงการและวิธีการแนบท้ายใบอนุญาต ตามโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินโครงการ ฮ. ข้อ 3 การปรับปรุงที่ดิน ระบุว่า จะทำการปรับปรุงที่ดินโดยจะทำการถมดินบดอัดแน่นด้วยรถแทรกเตอร์ให้พื้นดินในบริเวณที่ทำการจัดสรรเรียบเสมอกันและให้เท่ากับระดับถนนภาระจำยอมที่เชื่อมกับทางหลวงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสรรที่ดินอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยทั้งห้าในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ จำเลยทั้งห้าจึงมีภาระการพิสูจน์ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อ 3 เรื่องการปรับปรุงที่ดินแล้วหรือไม่ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 จำเลยทั้งห้ามีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่า ในการขออนุญาตจัดสรรที่ดินของจำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี พ.ศ. 2545 ซึ่งกำหนดให้ผู้ขอจัดทำแผนผังการจัดสรรที่ดินกับโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดิน อันมีรายละเอียดถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ของข้อกำหนดยื่นแสดงต่อคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรี ซึ่งข้อกำหนดข้อ 6 กำหนดว่า ผู้ขอต้องแสดงโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินเพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ คือวิธีการในการปรับปรุงพื้นที่ดินให้เกิดความเหมาะสมในการปลูกสร้างอาคารโดยจะต้องกำหนดระดับความสูงต่ำของพื้นดินทั้งบริเวณส่วนจำหน่ายและส่วนสาธารณูปโภค เมื่อพิจารณาประกอบข้อกำหนด ข้อ 5.1 (3) ที่ว่า แผนผังสังเขปให้แสดงเส้นทางที่เข้าออกสู่บริเวณการจัดสรรที่ดินจากทางหลวง หรือทางสาธารณะภายนอก ซึ่งมาตรฐานที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีกำหนดให้ผู้ขอจัดสรรที่ดินดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อให้มีการปรับปรุงพื้นที่ดินที่จัดสรรให้มีระดับพื้นดินเหมาะสมแก่การปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยและมีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเท่านั้น หาได้มีหลักเกณฑ์บังคับว่า ผู้ขอจัดสรรที่ดินจะต้องปรับปรุงพื้นที่ดินที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับทางหลวงหรือถนนสาธารณะที่เป็นเส้นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่การป้องกันอุทกภัยแต่อย่างใดไม่ จึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 จะจัดทำเอกสารโครงการและวิธีการในการจัดสรรที่ดินว่า จำเลยที่ 1 จะปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับระดับถนนบางกรวย-ไทรน้อย หากเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินข้อ 3 มีเจตนาที่จะปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ก็ไม่น่าจะมีข้อความว่า "ให้เท่ากับระดับถนนภาระจำยอม" คั่นอยู่ข้างหน้าคำว่า "เท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย" นอกจากนี้เงื่อนไขในข้อที่ว่า การปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย เป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่ง หากมีเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 จำต้องดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามเงื่อนไขเสียก่อนจึงจะได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน เนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า การขออนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดในกฎกระทรวง และกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต และการออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2544 ข้อ 3 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินได้พิจารณาเห็นชอบแผนผัง โครงการ และวิธีการในการจัดสรร และผู้ขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินได้ดำเนินการตามกฎหมายและข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินครบถ้วนแล้ว ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน แต่กลับปรากฏว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดนนทบุรีได้ออกใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีข้อทักท้วงว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่จัดสรรผิดไปจากข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน และเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดิน ต่อมาเมื่อคณะอนุกรรมการได้ตรวจสอบการจัดทำสาธารณูปโภคของจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าตรงตามแผนผังโครงการที่ได้รับอนุญาต จึงแสดงว่าเอกสารโครงการและวิธีการจัดสรรที่ดินไม่ได้มีเงื่อนไขให้จำเลยที่ 1 ต้องปรับปรุงพื้นที่จัดสรรให้มีระดับความสูงเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย ทั้งยังได้ความว่าถนนภาระจำยอมเป็นที่ดินจำนวน 5 แปลง ระยะทางจากถนนบางกรวย-ไทรน้อยถึงหน้าโครงการจัดสรรพิพาทไกลถึง 825 เมตร และถนนภาระจำยอมบริเวณหน้าโครงการจัดสรรพิพาทมีระดับต่ำกว่าถนนบางกรวย-ไทรน้อยอยู่มากพอสมควร ถนนภาระจำยอมดังกล่าวซึ่งสร้างแล้วเสร็จมิใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยนระดับความสูงของถนนภาระจำยอม หากจำเลยที่ 1 ต้องทำถนนของโครงการจัดสรรพิพาทในระดับเท่ากับถนนบางกรวย-ไทรน้อย จุดเชื่อมต่อกับถนนภาระจำยอมหน้าโครงการจัดสรรพิพาทย่อมไม่เป็นระดับเรียบเสมอกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับประโยชน์ในการใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้าออก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดทางละเมิดทางการแพทย์: การรักษาพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ แม้ผลไม่เป็นไปตามคาดหวัง ไม่ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ
สาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเกิดจากสาเหตุใด เป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่าสาเหตุที่ทำให้โจทก์ที่ 1 สมองพิการเสียหายถาวรอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ยังไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงไปทางหนึ่งทางใดโดยแจ้งชัด จึงต้องถือว่ายังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าโจทก์ที่ 1 มีอาการสมองพิการเสียหายถาวรช่วยเหลือตนเองไม่ได้เพราะสาเหตุใดแน่ ตรงกันข้ามกับทางนำสืบของโจทก์ทั้งสอง ที่มีโจทก์ที่ 2 และ ส. บิดาโจทก์ที่ 1 เบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังเกิดเหตุบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทำการผ่าตัดโจทก์ที่ 1 ได้พูดยอมรับว่า เหตุที่โจทก์ที่ 1 มีอาการดังกล่าวเนื่องจากท่อช่วยหายใจหลุดและขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทั้งตามบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นของผู้รับบริการ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า หลังการผ่าตัด เมื่อเกิดปัญหากับโจทก์ที่ 1 วิสัญญีแพทย์ทำการตรวจสอบตำแหน่งท่อช่วยหายใจอีกครั้ง เนื่องจากสงสัยว่ามีเสียงลมรั่วไม่เข้าปอด ซึ่งพบว่าท่อช่วยหายใจไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของหลอดลม จึงได้รีบใส่ท่อช่วยหายใจใหม่โดยเพิ่มขนาดจากเบอร์ 4 เป็นเบอร์ 4.5 ตำแหน่งที่ใส่อยู่ที่ 12 เซนติเมตร แม้การจ่ายเงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยมิได้พิจารณาว่าบุคลากรทางการแพทย์กระทำโดยประมาทและก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่รายงานการประชุมดังกล่าวก็ต้องพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการสอบสวน ทั้งคณะอนุกรรมการที่เข้าร่วมพิจารณาก็ล้วนเป็นแพทย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญ เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 และ ส. ซึ่งไม่มีความรู้ทางการแพทย์ยากที่จะเบิกความปรุงแต่งข้อเท็จจริงที่ตนรับฟังมา พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ที่ 1 สมองพิการอย่างถาวรเกิดจากท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนจากหลอดลมภายหลังการผ่าตัด ทำให้สมองขาดออกซิเจนหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานจนโจทก์ที่ 1 เกิดอาการดังกล่าว
กรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
กรณีจะถือว่าการกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 เป็นความประมาทเลินเล่อหรือไม่นอกจากต้องพิจารณาจากมาตรฐานการรักษาตามวิชาชีพของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระเบียบวิธีปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์และเหตุผลประการอื่นด้วย เนื่องจากพยาธิสภาพของผู้ป่วยและอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และนำไปสู่วิธีการรักษาที่ไม่เหมือนกันได้ หากข้อเท็จจริงได้ความว่าแพทย์ได้ตรวจรักษาผู้ป่วยโดยปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางนั้นด้วยความระมัดระวังรอบคอบ และเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่จำเป็นที่ต้องให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยเร็วเพื่อให้พ้นจากความเสี่ยงภัยอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายแล้ว แม้ผลการรักษาจะไม่เป็นไปดั่งที่คาดหมาย กรณีย่อมไม่อาจถือว่าบุคลากรทางการแพทย์ผู้นั้นกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบและเหมาะสมสอดคล้องแก่สภาวการณ์ที่จำเป็นในการรักษาโจทก์ที่ 1 ทุกขั้นตอนโดยถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพอันเหมาะสมแก่สภาวการณ์แล้ว แม้จะเกิดผลท่อช่วยหายใจหลุดหรือเคลื่อนที่ก็ตาม การกระทำของบุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจคาดหมายได้ บุคลากรทางการแพทย์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบต่อความรับผิดในทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย