พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฉ้อฉลในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สัญญาไม่เป็นโมฆะหากผู้รับทราบแหล่งเงินช่วยเหลือและสิทธิอุทธรณ์
แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือคู่ฉบับจะมีข้อความว่า "1.ทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมร่วมกันว่า โรงพยาบาล ฯ จ่ายเงิน จำนวน 280,000 บาท... ให้แก่ ศ. ผู้รับสัญญา เป็นค่าเยียวยาและมนุษยธรรม..." ซึ่งไม่ตรงตามข้อเท็จจริงก็ตาม แต่เมื่อมารดาโจทก์เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 3 เขตนครราชสีมา เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และได้รับแจ้งผลการพิจารณารวมถึงสิทธิในการยื่นอุทธรณ์แล้ว ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนรับเงินจากจำเลยที่ 1 มารดาโจทก์ได้อ่านข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความ และลงชื่อโดยไม่มีการบังคับขู่เข็ญใด ๆ ทั้งเมื่อพิจารณาใบสำคัญรับเงินก็มีข้อความระบุว่าเงินที่โจทก์ได้รับเป็นเงินของจำเลยที่ 3 สอดคล้องกับสำเนาเช็คที่ระบุชื่อจำเลยที่ 3 และระบุว่าเป็นการจ่ายเงินตามมติประชุมอนุกรรมการ มาตรา 41 จำนวนเงินก็สอดคล้องกับที่มารดาโจทก์ได้รับแจ้ง ทั้งภาพถ่ายก็ปรากฏว่าผู้ที่ถือป้ายที่เหน็บเช็คไว้ด้านบนเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในป้ายมีข้อความว่า สปสช. มอบเงินช่วยเหลือเบื้องต้น มาตรา 41 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า มารดาโจทก์ทราบดีว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินของจำเลยที่ 3 การที่ระบุข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความว่าโรงพยาบาลเป็นผู้จ่ายเงินจึงยังไม่อาจถือได้ว่าทำให้โจทก์เสียหาย เนื่องจากมารดาโจทก์ทราบถึงสิทธิของตนว่ายังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์เพื่อขอเงินเพิ่มและใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยที่ 2 กับพวกในข้อหาละเมิดได้ ซึ่งโจทก์ก็ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดเป็นอีกคดีหนึ่งก่อนฟ้องคดีนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นการฉ้อฉลหลอกลวงมารดาโจทก์ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตอำนาจตัวแทน: สัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่ได้รับมอบอำนาจ
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลหนี้ซื้อขายสินค้า จำเลยจึงทำหนังสือมอบอำนาจระบุ ป. เป็นผู้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้น ป. กับโจทก์ร่วมกันแถลงว่าคดีมีแนวทางที่จะตกลงกันได้ประสงค์จะทำยอม ขอเลื่อนไปทำยอมในนัดหน้า ต่อมาจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจระบุให้ ป. เป็นผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ย เลื่อนนัด จัดการทุกอย่างจนเสร็จสิ้นกระบวนการศาล นั้น ป. จึงอยู่ในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเฉพาะการ มีหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาในสิ่งที่จำเป็นแทนจำเลยภายในขอบอำนาจที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับข้างต้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 800 เมื่อหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าให้ ป. มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งข้อความที่ระบุว่าให้มีอำนาจจัดการคดีจนเสร็จสิ้นก็ไม่อาจตีความว่ารวมถึงให้มีอำนาจในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแทนจำเลยได้ ฉะนั้นการที่ ป. แถลงต่อศาลว่าประสงค์จะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ และทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์จึงเป็นกรณีตัวแทนกระทำนอกเหนือขอบอำนาจ ย่อมไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญากู้ยืมเงินเพื่อปล่อยกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตรา ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ผู้กู้ชำระหนี้
ตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการขออนุญาตฎีกาในคดีแพ่ง พ.ศ.2558 ข้อ 14 วรรคสองกำหนดว่า จำเลยฎีกาอาจยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นได้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่ง คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องและคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแล้ว เมื่อจำเลยทราบนัดวันฟังคำสั่งศาลฎีกาโดยชอบแล้วหากจำเลยประสงค์จะยื่นคำแก้ฎีกาต่อศาลชั้นต้นต้องยื่นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลฎีกาตามข้อ 14 วรรคสอง ไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยแก้ซ้ำอีก การที่โจทก์ไม่ได้นำส่งสำเนาภายในระยะเวลาดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาคำฟ้องฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น โจทก์ไม่ได้ทิ้งฟ้องฎีกา เมื่อครบกำหนดระยะเวลาแก้ฎีกาแล้วจำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาจึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจยื่นคำแก้ฎีกา
จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด
จำเลยกู้ยืมเงิน 1,800,000 บาท จากโจทก์แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินต่อ โดยขณะให้ยืมนั้นโจทก์และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำเงินไปให้บุคคลอื่นกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งเป็นการกระทำความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) (เดิม) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 นิติกรรมการกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ต้นเงินที่จำเลยกู้ยืมเงินไปนั้นสามารถแยกออกจากวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินที่จำเลยต้องการเงินไปปล่อยกู้ต่อโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดที่เป็นโมฆะได้ ต้นเงินที่กู้ยืมไปจึงหาเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีไม่ กรณีมีผลเพียงโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น จำเลยซึ่งเป็นผู้กู้ยืมที่เป็นต้นเหตุให้โจทก์จ่ายต้นเงินตามสัญญากู้เงินจึงต้องรับผิดคืนต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยผิดนัด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
แก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดเล็กน้อยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ที่ถูกต้องตามคำวินิจฉัย และการนำเงินชำระหนี้มาหักลบ
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้โดยชัดแจ้งว่า จำเลยมีหนี้ค้างชำระในส่วนของต้นเงินเพียง 4,500,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญา แต่ดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งสูงเกินส่วน จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นอัตราร้อยละ 12 ต่อปี โดยมิได้กล่าวถึงต้นเงินค้างชำระเป็นอย่างอื่น แสดงว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องจากต้นเงิน 4,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่ถูกต้องตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 5,550,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจึงไม่ตรงกับคำวินิจฉัยถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดเล็กน้อย จำเลยชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขต้นเงินที่ใช้คำนวณดอกเบี้ยเพื่อให้ถูกต้องตรงตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 กรณีมิใช่เป็นการทำคำสั่งที่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาที่มีข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์เพื่อคัดค้านและทำการไต่สวนก่อนไม่ ส่วนการจะนำเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ในคดีอื่นตามคำเบิกความของโจทก์มาลดยอดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดในคดีนี้ ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบ เมื่อในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นไม่ได้กล่าวถึงการได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องของโจทก์ไว้เลย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยไม่ได้นำจำนวนเงินที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ภายหลังยื่นฟ้องมาหักออกก่อนจึงตรงตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาเป็นการไม่ถูกต้อง จำเลยชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป กรณีมิใช่คำพิพากษามีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จำเลยไม่อาจใช้วิธีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้แก้ไขคำพิพากษาส่วนนี้ได้เนื่องจากมีผลเป็นการแก้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนหนี้ในคำพิพากษาเดิม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1471/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนี้ที่เกิดหลังพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ล้มละลายมีสิทธิทำสัญญาและถูกบังคับคดีได้
ขณะที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างกับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และประทับตราบริษัทจำเลยที่ 1 ในสัญญาก่อสร้าง เป็นการจัดการทรัพย์สินที่จำเลยที่ 3 ลูกหนี้จัดการทรัพย์สินแทนบุคคลอื่นหรือทำกิจการแทนผู้อื่น การที่จำเลยที่ 3 ทราบอยู่แล้วถึงฐานะการล้มละลายของตนเอง แต่ปกปิดข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 3 และเมื่อศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์เพิ่งมาทราบภายหลังว่าจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลายในชั้นบังคับคดี พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริตละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 3 ย่อมต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นจากการกระทำดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ได้ก่อหนี้ดังกล่าวขึ้นภายหลังจากที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย และไม่ใช่หนี้ที่ต้องบังคับกับกองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย จึงไม่อยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 24 โจทก์จึงสามารถนำหนี้ตามสัญญาก่อสร้างดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นได้โดยตรงและจำเลยที่ 3 มีอำนาจในการต่อสู้คดีและทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และเมื่อคดีล่วงพ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว คดีนี้จึงถึงที่สุด คำพิพากษาตามยอมจึงยังไม่สิ้นผล การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องจำเลยที่ 3 จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 นั้นจึงไม่ชอบ ดังนั้น ต่อมาการที่จำเลยที่ 3 ได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 และมาตรา 81/1 เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ที่ได้มาภายหลังจากการปลดจากล้มละลายแล้วได้ อีกทั้งไม่ใช่ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายจึงไม่ทำให้เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินทั้ง 6 แปลง เป็นที่ดินที่จำเลยที่ 3 ได้มาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยที่ 3 ปลดจากการล้มละลายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1470/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิจำนำสลากออมสินพิเศษ: บุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำ และการคุ้มครองเจ้าหนี้มีประกัน
สิทธิซึ่งมีตราสารย่อมหมายถึงตราสารที่ใช้แทนสิทธิหรือทรัพย์ ซึ่งเป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามแบบพิธีในกฎหมายและเป็นตราสารที่โอนแก่กันได้ด้วยวิธีของตราสารนั้น สลากออมสินพิเศษมีลักษณะเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้ง่าย เป็นหนังสือตราสาร มี พ.ร.บ. และกฎกระทรวงรองรับจึงเป็นตราสารเปลี่ยนมือได้ มิใช่เอกสารธรรมดาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งสิทธิทั่วไป สลากออมสินพิเศษจึงเป็นสิทธิซึ่งมีตราสารที่สามารถจำนำประกันหนี้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 751 จำเลยที่ 1 นำสลากออมสินพิเศษไปจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันซึ่งมีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์ที่จำนำไว้ การบังคับคดีของโจทก์ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนำของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินส่วนที่ได้จากการอายัดสลากออมสินพิเศษในฐานะเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิก่อนเจ้าหนี้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการมีส่วนได้เสียในการประกาศขายทอดตลาด: ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดตามคำพิพากษาตามยอม และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อาจทำให้ความรับผิดตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงเพราะหากขายทอดตลาดได้ในราคาสูงก็อาจเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมได้สิ้นเชิงหรือคงเหลือหนี้ค้างชำระจำนวนน้อยลงอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง ด้วยก็ตาม แต่การเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือโดยส่วน เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยทำให้ความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ตามคำพิพากษายอมลดลงเท่านั้น ส่วนความรับผิดท้ายสุดเป็นความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามยอมด้วยกันตามมาตรา 296 แห่ง ป.พ.พ.นั้น ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยกันเองภายหลังลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ การขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จะได้ราคาทอดตลาดมากน้อยเพียงใด จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกันซึ่งเป็นความรับผิดโดยตรงแต่ประการใด จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบด้วย กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของจำเลยที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเสียหายจากรถเช่าซื้อสภาพไม่ดีหลังส่งคืน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิเรียกร้องค่าขาดราคาได้
คดีก่อนเมื่อศาลพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 1,852,000 บาท พร้อมให้รับผิดชำระค่าเสียหาย จำเลยนำรถยนต์ที่เช่าซื้อส่งคืนให้แก่โจทก์ในสภาพไม่เรียบร้อยอันเกิดจากความบกพร่องในการดูแลรักษาทรัพย์สินซึ่งเป็นความผิดของจำเลย โจทก์นำออกขายทอดตลาดได้เงินเพียง 1,173,707.89 บาท ไม่ครบถ้วนตามราคาใช้แทนรถยนต์ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในคำพิพากษา ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากราคารถยนต์ส่วนที่ขาดไปและโจทก์ชอบที่จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ส่วนที่ยังขาดจำนวนได้ เนื่องจากเป็นความเสียหายที่สืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนและเกิดขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว มิใช่กรณีที่จะไปบังคับคดีในคดีก่อนได้เพราะการบังคับคดีในคดีก่อนจำต้องอาศัยคำพิพากษาที่วินิจฉัยให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ใดบ้างเป็นสำคัญ ทั้งยังมิใช่เป็นเรื่องที่คำพิพากษาในคดีก่อนได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติตามคำพิพากษาไว้และโจทก์ได้ดำเนินการบังคับชำระหนี้ก่อนหลังกันไปตามลำดับจนไม่อาจเรียกค่าขาดราคาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8818/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา ผู้ค้ำประกัน ความรับผิดชอบและขอบเขต
ที่โจทก์ขอดอกเบี้ยจากราคาใช้แทนในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อคืน หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นกรณีที่หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถขุดดังกล่าวคืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อราคาวัตถุอันไม่อาจส่งมอบได้เพราะเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกิดขึ้นระหว่างผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในเงินจำนวนดังกล่าวได้ตั้งแต่เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคานั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 225 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า เวลาอันเป็นฐานที่ตั้งแห่งการกะประมาณราคาอันหมายถึงเวลาที่ไม่สามารถส่งมอบรถขุดที่เช่าซื้อเกิดขึ้นเมื่อใด จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในราคาใช้แทนนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอันเป็นวันที่ศาลกำหนดราคาใช้แทนให้ และราคาใช้แทนนี้เป็นหนี้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาใช้แทน 400,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4977/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-สิทธิบังคับจำนอง: คดีถึงที่สุดแล้ว แม้หนี้ไม่ระงับ สิทธิยังคงมี แต่ฟ้องซ้ำไม่ได้
เดิมธนาคาร น. เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองอันเป็นการใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้สามัญและเจ้าหนี้จำนองเต็มตามสิทธิที่ธนาคาร น. มีอยู่ ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคาร น. และให้ธนาคาร น. มีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่ห้องชุดทรัพย์จำนองได้โดยให้นําออกขายทอดตลาดนําเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยบังคับชำระหนี้ หลังจากนั้นธนาคาร น. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่บริษัท บ. และบริษัท บ.โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. เมื่อในคดีก่อนโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นําคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและให้มีสิทธิบังคับจำนองห้องชุดทรัพย์จำนองเต็มตามสิทธิของโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยไถ่ถอนทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองทรัพย์จำนองหรือไม่ เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 แต่อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏว่าหนี้จำนองห้องชุดพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทจึงยังคงมีอยู่และใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้