คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
แรงรณ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 165 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2794/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สัตยาบันแก่หนี้ของคู่สมรส: ต้องมีหนี้เกิดขึ้นก่อนจึงจะให้สัตยาบันได้
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) มิได้ให้นิยามหรือคำจำกัดความของคำว่าสัตยาบันไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งพอสรุปได้ว่า สัตยาบัน คือ การยืนยันรับรองความตกลงหรือการรับรองนิติกรรม และเป็นที่เข้าใจกันได้ว่า บุคคลจะยืนยันรับรองความตกลงหรือรับรองนิติกรรมใดได้ ย่อมต้องมีข้อตกลงหรือนิติกรรมเช่นนั้นเกิดขึ้นเสียก่อนแล้วจึงให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันของสามีหรือภริยาแก่หนี้ที่อีกฝ่ายก่อขึ้นตามมาตรา 1490 (4) ย่อมมีลักษณะเฉกเช่นเดียวกัน กล่าวคือ ต้องมีหนี้เกิดขึ้นเสียก่อนสามีหรือภริยาถึงจะให้สัตยาบันได้ การให้ความยินยอมในขณะที่ยังไม่มีความตกลง ไม่มีนิติกรรมหรือไม่มีหนี้เกิดขึ้น ย่อมไม่ต้องด้วยความหมายของการให้สัตยาบัน โจทก์ไม่อาจถือเอาหนังสือยินยอมคู่สมรสที่จำเลยที่ 7 ทำไว้ต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2548 มาเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในภายหลังเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 และวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 786/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อไม่สมบูรณ์ ผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา ส่งมอบทรัพย์สินไม่ได้จดทะเบียน ผู้เช่าซื้อมีสิทธิบ่ายเบี่ยงชำระค่าเช่าซื้อ
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อไม่เหมาะสมแก่การใช้งาน จำเลยมีสิทธิบ่ายเบี่ยงไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์ได้โดยไม่ถือว่าผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ติดตามทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยและจำเลยมิได้โต้แย้งสัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโดยปริยาย เมื่อเหตุแห่งการสิ้นสุดของสัญญาสืบเนื่องมาจากความผิดของโจทก์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้จำเลยจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อต่อกรมการขนส่งทางบกและได้ความว่าเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสูญหายไป การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนรถที่เช่าซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยไม่ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ว่าตามปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมาผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถบรรทุกหรือรถหางพ่วงพร้อมอุปกรณ์โดยทั่วไปจะถือว่าตนมีหน้าที่เพียงส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางทะเบียนและเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนซึ่งตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์จะมีอยู่และต้องจัดการอย่างไรไม่ใช่ข้อสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงดังเช่นที่โจทก์ปฏิบัติ ประกอบกับปรากฏว่าเอกสารต่าง ๆ ของสัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำกับผู้บริโภครายอื่นสูญหายอีกจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่กล่าวมานับว่าการประกอบธุรกิจของโจทก์ย่อหย่อนมิได้กระทำไปด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ดังนี้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายกับทั้งโจทก์มีพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา เบี้ยปรับ ค่าติดตามรถบรรทุกที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 610/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิไม่สุจริตของผู้ประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค การคิดดอกเบี้ยเกินสมควร
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 บัญญัติหลักแห่งการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจไว้ว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำด้วยความสุจริตโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม" บทบัญญัติดังกล่าวแตกต่างจากการใช้สิทธิและการชำระหนี้ของบุคคลตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 ที่บัญญัติให้บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต เพราะต้องการยกระดับมาตรฐานความสุจริตของผู้ประกอบธุรกิจในการใช้สิทธิและในการชำระหนี้ให้ยิ่งไปกว่าบุคคลทั่วไปจะพึงมีตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติต่อผู้บริโภคไม่ด้อยไปกว่ามาตรฐานทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจในกิจการทำนองเดียวกันประพฤติปฏิบัติต่อผู้บริโภค ทั้งต้องมีจริยธรรมในการประกอบกิจการภายใต้ระบบธุรกิจที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีความรับผิดชอบ ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในกิจการของผู้ประกอบธุรกิจควบคู่กันไป หากผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิหรือชำระหนี้ในเกณฑ์ที่ด้อยกว่ามาตรฐานความสุจริตดังกล่าวแล้ว ย่อมเท่ากับว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิไม่สุจริต และศาลไม่อาจบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาแห่งการใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งประกอบธุรกิจบริษัทบริหารสินทรัพย์ และรับโอนสิทธิเรียกร้องที่ธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมมีอยู่ต่อจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงรายละเอียดการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้แก่ธนาคาร น. ในวันใด และธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมอาจใช้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับลงวันที่ 23 เมษายน 2550 ได้ตั้งแต่เวลาใด รวมถึงโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาแล้วได้ใช้สิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ในทันทีที่มีโอกาสกระทำได้หรือภายในระยะเวลาอันสมควรหรือไม่ พฤติการณ์ของธนาคาร น. เจ้าหนี้เดิมกับโจทก์ซึ่งรับโอนสิทธิเรียกร้องมาในปี 2557 ยังคงทอดเวลาให้เนิ่นช้ากว่าจะนำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นเวลาถึงห้าปีเศษ จนเป็นเหตุให้ภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดสูงเกินไปกว่าต้นเงินที่ค้างชำระ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้เดิมและโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิเรียกร้องต่อลูกหนี้โดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค กรณีนับเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตและไม่คำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่กำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้องจึงสมควรแก่รูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2844/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อปล่อยให้มีการเบิกจ่ายเช็คปลอม ทำให้ผู้ฝากได้รับความเสียหาย ต้องรับผิดชดใช้
จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการที่ประชาชนให้ความไว้วางใจย่อมต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ การเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องตรวจสอบความถูกต้อง และใช้ความระมัดระวังในการเบิกถอนโอนเงินจากบัญชีเงินฝากยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกระทบต่อความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบกิจการธนาคาร เมื่อสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเป็นเอกสารปลอม มีการจัดเรียงผิดย่อหน้าผิดแผกแตกต่างจากรูปแบบคำสั่งศาล และมีข้อความที่พิมพ์ตกหล่นหลายแห่งเป็นพิรุธ ทั้งจำนวนเงินในบัญชีเงินฝากที่ขอเบิกถอนมากกว่าล้านบาท เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญารับฝากเงินและระเบียบปฏิบัติงาน จำเลยที่ 2 จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยการตรวจสอบสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกให้แน่ชัดเสียก่อนว่าเป็นสำเนาคำสั่งที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้เบิกถอนเงิน ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าวก่อนได้ไม่ยาก แต่จำเลยที่ 2 ละเว้นมิได้กระทำ โดยยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้เอกสารปลอมสำเนาคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้ตายไปทันที ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และถือว่าจำเลยที่ 2 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม จึงเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาหลังจำเลยเสียชีวิต และการดำเนินคดีแพ่งต่อโดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด
คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกไปจากผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์ขอมาด้วย คดีในส่วนแพ่งจึงต้องดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินจัดสรรที่เป็นที่ดินสาธารณูปโภคเป็นโมฆะ ผู้ซื้อไม่สุจริตต้องคืนที่ดิน
จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง
การที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33
การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4635/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเรียกค่าเสียหายจากค่ากระแสไฟฟ้าที่ผิดพลาด การใช้สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้และข้อยกเว้นอายุความ
คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้ว และเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์ จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้มิได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป และเมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ฟังไม่ขึ้น
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่ากระแสไฟฟ้า - ผู้ประกอบการค้าเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ใช้ไฟฟ้า - การเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้า - อายุความ 10 ปี
คำให้การของจำเลยที่ 1 ถือเป็นคำให้การที่แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธเรื่องคดีขาดอายุความไว้แล้วและเป็นการปฏิเสธความรับผิดตามคำฟ้องโดยอ้างว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ว่าจะอาศัยเหตุใดและเริ่มนับสิทธิเรียกร้องตั้งแต่วันใดล้วนแล้วแต่ขาดอายุความทั้งสิ้น คำให้การของจำเลยที่ 1 หาใช่คำให้การที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอายุความเริ่มนับตั้งแต่เมื่อใดอันเป็นคำให้การไม่ชัดแจ้ง คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามคำให้การต่อสู้คดีของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้
โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดตกบกพร่องไปอันเนื่องมาจากมีการขอตัดฝากมิเตอร์เพื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เปลี่ยนแปลงการคิดค่าใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จากอัตราประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง เป็นอัตราประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก ที่ไม่นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้ารวมเข้ากับค่ากระแสไฟฟ้าในระหว่างนั้น และเมื่อครบกำหนดการตัดฝากมิเตอร์จำเลยที่ 1 กลับมาใช้กระแสไฟฟ้ารวมเกิน 30 กิโลวัตต์ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2557 โดยที่โจทก์ไม่ทราบทำให้ไม่ได้นำค่าความต้องการพลังไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในเดือนดังกล่าวคำนวณเป็นค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปน้อยกว่าความเป็นจริง แม้ค่ากระแสไฟฟ้าที่คลาดเคลื่อนจะไม่ได้เป็นผลจากการแก้ไขดัดแปลงมิเตอร์ไฟฟ้าหรือเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อตามหนังสือเอกสารหมาย จ.9 มีข้อความที่เข้าใจได้ว่า หากต่อมาในภายหลังจำเลยที่ 1 กลับไปทำฟาร์มเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นเรื่องของกาลภายหน้าและใช้กระแสไฟฟ้าในอัตราตามสัญญาเดิมแล้ว จำเลยที่ 1 จะแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราการคิดค่ากระแสไฟฟ้าให้เป็นไปตามอัตราในสัญญาสอดคล้องกับการใช้กระแสไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นิ่งเฉยไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้กระแสไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อโจทก์ เป็นผลให้จำเลยที่ 1 ได้ประโยชน์จากการใช้กระแสไฟฟ้าของโจทก์โดยชำระค่ากระแสไฟฟ้าน้อยกว่าความเป็นจริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าส่วนที่ขาดจำนวนเช่นนี้ จึงมิใช่การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าใช้สิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ค้างชำระอันมีต่อผู้ขอใช้กระแสไฟฟ้าซึ่งอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แต่เป็นกรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องค่ากระแสไฟฟ้าที่ขาดเพิ่มเติมจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดของหนี้เงินในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 24 สิงหาคม 2560 จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เดิมและรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมสามีภริยาจากการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยการยินยอมและให้สัตยาบัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา ในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แม้โจทก์จะไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนสมรสมาแสดงและมิได้อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานโดยยื่นบัญชีระบุพยานมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาคำขอทำสัญญาเช่าซื้อซึ่งมีข้อความระบุว่าจำเลยที่ 3 เป็นคู่สมรสกับจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนสมรสกัน และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวไว้ ทั้งโจทก์ยื่นฎีกาโดยอ้างส่งสำเนาใบสำคัญการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวซึ่งมีข้อความยืนยันความเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายแนบท้ายฎีกามาด้วย เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ยื่นคำแก้ฎีกาทั้งมิได้โต้แย้งสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาแต่อย่างใด เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังสำเนาใบสำคัญการสมรสกับสำเนาข้อมูลทะเบียนครอบครัวเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) การที่จำเลยที่ 3 สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ทำหนังสือให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อโดยมีข้อความระบุว่า จำเลยที่ 3 รับรู้และยินยอมให้จำเลยที่ 1 ภริยาของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าซื้อ และหากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาหรือมีความรับผิดตามสัญญาเช่าซึ่งจำเลยที่ 3 ยินยอมร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หนังสือดังกล่าวถือเป็นการให้สัตยาบันแก่หนี้ที่ภริยาของตนก่อขึ้น หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงถือเป็นหนี้ร่วมระหว่างสามีภริยาที่จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3688/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-สิทธิจำนอง: แม้ไม่บังคับคดีตามคำพิพากษา แต่สิทธิจำนองยังคงมีอยู่
เดิมโจทก์เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อนซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีนี้ซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนด้วย โจทก์ย่อมเป็นผู้สืบสิทธิที่อยู่ในฐานะเดียวกันกับธนาคาร น. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อน เมื่อคดีก่อน โจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวอีกต่อไป การที่โจทก์ในฐานะผู้สืบสิทธิของธนาคาร น. โจทก์ในคดีก่อน นำคดีมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก ถือว่าโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับโจทก์และจำเลยในคดีก่อน เมื่อคดีก่อนถึงที่สุดแล้ว และประเด็นที่ศาลวินิจฉัยในคดีก่อนเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์เดิมในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองโดยวินิจฉัยว่าโจทก์เดิมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมและมีสิทธิบังคับจำนอง การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองเดียวกันอีก คดีนี้จึงมีประเด็นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยชำระหนี้และบังคับทรัพย์จำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 7 อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป สิทธิของโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินยังคงมีอยู่และโจทก์สามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์จำนองต่อไปได้
of 17