คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุภัทร์ สุทธิมนัส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4290/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ (ลิสซิ่ง) ศาลลดเบี้ยปรับลงได้ และปรับอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายใหม่
สัญญาเช่ารถยนต์ ข้อ 9.2 กำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการเลิกสัญญาก่อนกำหนด โดยมิใช่เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องแจ้งให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้งนี้ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ให้เช่าตามเงื่อนไขดังนี้... 9.2.2 กรณียกเลิกสัญญาในปีที่ 2 ผู้เช่าต้องชำระค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่ากับร้อยละ 40 ของยอดค่าเช่าพึงชำระ นับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงวันสิ้นสุดสัญญา..." สัญญาเช่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นการให้เช่าแบบลิสซิ่งซึ่งมีกำหนดระยะเวลาเช่า 5 ปี หากครบกำหนดโจทก์จะได้รับค่าเช่า 876,000 บาท แต่การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยการคืนรถยนต์ที่เช่าและให้โจทก์รับรถวันที่ 19 มีนาคม 2561 หลังจากทำสัญญาเช่าเพียง 1 ปี 4 เดือน 19 วัน โจทก์ได้รับค่าเช่าเพียง 242,548.39 บาท จึงไม่ได้รับค่าเช่าส่วนที่เหลือ 633,451.61 บาท แต่อย่างไรก็ตามสัญญา ข้อ 9.2.2 ดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4618/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดในการกระทำการแทน และความผูกพันของบันทึกข้อตกลงการใช้สถานที่
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 36 (1) (4) กำหนดให้ผู้จัดการนิติบุคคลเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับหรือตามมติของที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลย ตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า หากตำแหน่งผู้จัดการว่างลงก่อนครบวาระให้ประธานคณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนผู้จัดการเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้จัดการใหม่ ซึ่งขณะทำบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ ที่ประชุมเจ้าของร่วมยังไม่ได้แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยคนใหม่ แต่มี ธ. ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมการจัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยทำหน้าที่บริหารอาคารชุดเหมือนเป็นผู้จัดการเป็นการชั่วคราว การที่ ธ. ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่จึงถือว่ามีอำนาจกระทำการแทนจำเลยและมีผลผูกพันจำเลย ในการประชุมใหญ่สมัยวิสามัญเจ้าของร่วมครั้งที่ 1/2551 วันที่ 16 มีนาคม 2551 ก็ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยต่อจาก ส. พยานจำเลยปาก อ. ซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ก็ยอมรับว่า เคยชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่เคยมีการบอกเลิกบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ดังกล่าว ยิ่งเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยยอมรับตามบันทึกข้อตกลงให้ใช้สถานที่ที่ ธ. ลงลายมือชื่อในนามของจำเลย จำเลยจึงต้องชำระค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3339/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน โมฆียะกรรมประมูลซื้อรถยนต์
โจทก์ต้องการประมูลซื้อรถพิพาทที่ประกอบและนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งคัน แต่เมื่อปรากฏว่ารถพิพาทเป็นรถที่นำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ในประเทศ การที่โจทก์ประมูลซื้อรถพิพาทจากการขายทอดตลาดของจำเลยจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวโจทก์ย่อมไม่เข้าร่วมประมูลซื้อรถพิพาท การแสดงเจตนาของโจทก์ในการประมูลรถพิพาทจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 โจทก์จึงมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (3) เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว ถือว่าการประมูลซื้อรถพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6381/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้เฉพาะตัว ทุนทรัพย์น้อยกว่าสองแสนบาท ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248
ค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน โดยโจทก์ทั้งสองสามารถฟ้องเรียกเฉพาะส่วนของตนโดยลำพังได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงต้องถือตามจำนวนค่าขาดไร้อุปการะที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่ละคนไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้อง การที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองเป็นระยะเวลา 18 ปี นานเกินไปไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ถือว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากในฐานะทายาทของกองมรดก การซื้อขายฝากโดยไม่สุจริต
ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทโดยสุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกซึ่งมีทายาทด้วยกัน 5 คน โจทก์เป็นทายาทคนหนึ่งในฐานะเจ้าของรวมอาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อประโยชน์แก่ทายาททุกคนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ประกอบมาตรา 1745 โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เพื่อเอาทรัพย์ที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท 1 ใน 5 ส่วน จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจขายฝากที่ดินพิพาทส่วนของตนได้ จึงต้องเพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์และทายาทอื่นรวม 4 ใน 5 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 375/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหมิ่นประมาทพระสงฆ์ การกระทำเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของวัด ไม่เป็นละเมิด
ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 วรรคสอง โจทก์ต้องบรรยายไว้ในคำฟ้อง เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้บรรยายฟ้องไว้ ถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ประสงค์ให้ลงโทษ แม้จะฟังได้ว่าจำเลยพูดและติดภาพถ่ายโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวจริง ก็ไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้ค้ำประกันในการไล่เบี้ยลูกหนี้และรับช่วงสิทธิเจ้าหนี้เมื่อชำระหนี้แทน
โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3)
กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งฟ้องฎีกาโดยผู้มิได้มีใบอนุญาตทนายความและมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" ตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากทนายความและข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว ข้อความตอนท้ายที่ว่า "ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" หมายถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ที่จะทำการเป็นทนายความรวมถึงแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. แต่งฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา ได้ แต่ ส. มิใช่คู่ความตามความหมายที่ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่า ส. จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ย่อมไม่อาจแต่งฟ้องฎีกาได้ การที่ ส. ลงชื่อเป็นผู้เรียงในฎีกาของโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้แต่งฟ้องฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: เหตุขัดข้องและการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคำร้องขอคืนของกลางแล้วยื่นใหม่ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หากไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลาง และยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคลสามปาก โดยเป็นพยานนำสองปาก และเป็นพยานนำหรือหมายอีกหนึ่งปาก เมื่อถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเพียงว่า ส. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้ร้องไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากติดธุระ โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอคืนของกลางทันทีว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องขอคืนของกลาง และจะนำคำร้องขอคืนของกลางมายื่นต่อศาลใหม่ภายในอายุความ พฤติการณ์ของผู้ร้อง จึงทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีไม่เป็นผล และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดี อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องเสีย และเมื่อผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบ มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จึงไม่อาจสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
of 7