คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุภัทร์ สุทธิมนัส

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน, บุกรุกเคหสถาน, ผู้สนับสนุนการกระทำความผิด, และการแก้ไขคำพิพากษาตามอำนาจศาลฎีกา
ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175-6177/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินในเขตป่าสงวน/ปฏิรูปที่ดินเป็นโมฆะ เงินมัดจำไม่สามารถเรียกร้องคืนได้
โจทก์ทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน ต้องห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่น ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 จึงหาอาจเรียกคืนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประมูลทรัพย์สินระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม: ข้อตกลงการวางเงินประมูลและการรับผิดชอบเมื่อไม่วางเงิน
เงื่อนไขและข้อตกลงในการประมูลที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมตกลงกันตามรายงานเจ้าหน้าที่ เป็นข้อตกลงให้ผู้ประมูลได้วางเงินร้อยละ 5 ของราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ หากผู้ประมูลได้ไม่วางเงินส่วนที่เหลือ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้จำนวนร้อยละ 5 แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้เท่านั้น ข้อตกลงในการประมูลตามรายงานเจ้าหน้าที่ถือได้ว่าเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกัน อันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมในระหว่างกันเองเป็นไปโดยราบรื่น ทั้งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงมีผลใช้บังคับกันได้โดยชอบ อย่างไรก็ดี แม้ข้อตกลงดังกล่าวผูกพันโจทก์และจำเลยรวมทั้งเจ้าของรวมคนอื่น แต่ไม่ปรากฏข้อตกลงว่าหากผู้ประมูลได้ไม่วางเงินก้อนแรกจำนวนร้อยละ 5 แล้ว จะมีสภาพบังคับให้ผู้ประมูลได้ต้องมีความรับผิดชำระเงินจำนวนร้อยละ 5 ดังกล่าวให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ในเรื่องการประมูลระหว่างเจ้าของรวมนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ ดังนั้น จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับคืออาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่บทบัญญัติในบรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งก็มิได้วางบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้ คงมีเพียงมาตรา 516 ที่บัญญัติว่า "ถ้าผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคาไซร้ ท่านให้ผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ถ้าและได้เงินเป็นจำนวนสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ผู้สู้ราคาคนนั้นต้องรับผิดในส่วนที่ขาด" แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยหาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องไม่
คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ศาลจะมีคำพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้" ในคดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์แล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั่นเอง โดยปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงประมูลทรัพย์สินรวม: สิทธิและความรับผิดของผู้ประมูลได้เมื่อไม่วางเงิน
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกสำนวนให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยให้ตกลงแบ่งระหว่างกันก่อน หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันโดยให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลระหว่างกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยที่ประชุมตกลงเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทรัพย์ต้องวางเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ประมูลได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประมูล หากไม่วางเงินส่วนที่เหลือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้ แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ ข้อตกลงในการประมูลนี้ถือเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกันอันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีผลใช้บังคับได้ สำหรับความรับผิดของผู้ประมูลได้ที่ไม่ชำระเงินก้อนแรก ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ บทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้คงมีเพียงมาตรา 516 เมื่อฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงในการประมูล ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ แล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5740/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในที่นาพิพาท: ศาลฎีกาพิพากษากลับคดีลักทรัพย์จากข้าวที่เกี่ยวในที่นาของผู้เสียหาย
แม้ในคดีแพ่งที่ผู้เสียหายฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของผู้เสียหายโดยให้เหตุผลว่าผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาหลังจากที่จำเลยที่ 1 เข้าไปปลูกข้าวในที่นาพิพาทเป็นเวลาหลายเดือนจนข้าวจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว การยื่นคำร้องขอของผู้เสียหายจึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ ก็ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงยังไม่สมควรจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) มาใช้แก่จำเลยที่ 1 อันอาจเป็นเหตุทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิเข้าไปเก็บเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาท เพราะเชื่อว่าเป็นต้นข้าวที่จำเลยที่ 1 ปลูกไว้ก็ตาม แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยที่ 1 กับพวกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานบุกรุกที่นาพิพาทของผู้เสียหาย อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย และผลของคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเข้าไปกระทำการใด ๆ ในที่นาพิพาท เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าคำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ในวันเกิดเหตุหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กลับเข้าไปเกี่ยวข้าวซึ่งปลูกอยู่ในที่นาพิพาทเนื้อที่ประมาณ 1 งาน ได้ข้าวจำนวน 50 มัด นำไปวางไว้บนคันนาอีก เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ข้าวในที่นาพิพาทเป็นของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 4 เข้าไปเกี่ยวข้าวในที่นาพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงถือว่าจำเลยที่ 4 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันลักข้าวเปลือกที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม แต่ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าทรัพย์ที่ถูกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 335 (12) เพราะลำพังการลักทรัพย์อื่นของผู้มีอาชีพกสิกรรมย่อมไม่เป็นความผิดตามอนุมาตรานี้ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4742/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด – ข้อเท็จจริงต่างจากฟ้อง – ลงโทษฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ว. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ว. แล้ว ว. นำไปจำหน่ายต่อให้แก่สายลับ โดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นด้วย ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในสาระสำคัญ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 215, 225 ทั้งไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ว. ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับได้ด้วย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ว. เป็นเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะเจ้าพนักงาน: ลูกจ้างเทศบาลไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ต้องลงโทษในฐานะผู้สนับสนุน
จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4303/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทนายทราบวันนัดแต่ไม่แจ้งจำเลย การอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อไม่ชำระค่าธรรมเนียมตามกำหนด
เมื่อทนายจำเลยทราบนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นโดยชอบแล้วไม่มาศาล ต้องถือว่าจำเลยทราบวันนัดและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยนำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถึงแม้ว่าจำเลยซึ่งเป็นตัวความจะไม่ทราบวันนัดก็ตาม เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 62 บัญญัติว่า ทนายความซึ่งคู่ความได้ตั้งแต่งนั้นมีอำนาจว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ แทนคู่ความได้ตามที่เห็นสมควร การที่ทนายจำเลยทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และคำสั่งให้นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระให้ครบถ้วนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยจะยกเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างต่อศาลหาได้ไม่ เพราะจำเลยมีทนายความกระทำการแทนตนอยู่แล้ว การที่จำเลยไม่นำค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ทั้งสองมาชำระต่อศาลชั้นต้นให้ครบถ้วนก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แม้ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตในคำร้องของจำเลยนั้น ก็มิใช่เป็นการสั่งอนุญาตก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 และไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยที่ศาลชั้นต้นจะสั่งขยายระยะเวลาดังกล่าวอีกได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เมื่อจำเลยเพิ่งวางเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งล่วงเลยกำหนดระยะเวลาการวางเงินตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในครั้งแรกดังกล่าวแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หรือภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายให้โดยชอบ การยื่นอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณาเท่านั้น มิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้ยกฟ้องของโจทก์แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาอย่างคดีมีทุนทรัพย์เป็นเงิน 21,830 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินประกันชีวิตหลังสมรสสิ้นสุด: ไม่เป็นสินสมรส แต่เป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิต นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตายอันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอกซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่าให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนหรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรงและต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งได้แก่มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตนโดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้นท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3930/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์-ค้าประเวณี-คนต่างด้าว: จำเลยร่วมกันแสวงหาประโยชน์จากบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี และกระทำผิด พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นธุระจัดหา จัดให้อยู่ในอาศัยหรือรับไว้ซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอม อันเป็นการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1), 52 วรรคสอง และความผิดต่อเสรีภาพตาม ป.อ. มาตรา 312 ตรี วรรคแรก ข้อหาร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการค้าประเวณีซึ่งมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วย อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 11 วรรคสอง ข้อหาร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีอันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง และข้อหาร่วมกันเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศตาม ป.อ. มาตรา 282 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟัง เป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดในข้อหาดังกล่าวตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นธุระจัดหา จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอม ร่วมกันเป็นธุระจัดหาบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีและร่วมกันเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งหญิงอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณีซึ่งมีบุคคลอายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีกฎหมายมุ่งที่จะบังคับแก่ผู้จัดการกิจการหรือสถานที่ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้าประเวณีหรือเพื่อใช้ในการติดต่อหรือจัดหาบุคคลเพื่อกระทำการค้าประเวณีเป็นการเฉพาะ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง มิใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
of 7