คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 6/1

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4087/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์-พรากผู้เยาว์: ศาลยืนตามอุทธรณ์ ยกฟ้องจำเลย เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์การกระทำผิด
ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง และมาตรา 6/1 ได้บัญญัติให้ผู้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) ถ้าได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี...การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น...การบังคับใช้แรงงานหรือบริการโดยนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ โดยได้กระทำให้ผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งคำว่า "การแสวงหาประโยชน์ทางเพศที่เป็นรูปแบบอื่น" กฎหมายไม่ได้กำหนดบทนิยามไว้ การที่จำเลยทั้งสองให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานในร้านคาราโอเกะทั้งสองร้านของจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานชงเหล้าและเบียร์ นั่งดื่มเป็นเพื่อนลูกค้า ให้สวมเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น และผู้เสียหายที่ 1 ถูกลูกค้าหลอกจับมือนั้น ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองแสวงหาประโยชน์ในทางเพศจากผู้เสียหายที่ 1 ในรูปแบบอื่น และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกำหนดให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องยินยอมให้ลูกค้ากระทำอนาจารตามคำฟ้อง จึงยังไม่เข้าลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์แต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำภาระหนี้มาเป็นสิ่งผูกมัดให้ผู้เสียหายที่ 1 จำต้องทำงานอันเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า พยานได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ก. คืนละ 400 บาท 2 คืน รวมเป็นเงิน 800 บาท และยังได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ห. อีกคืนละประมาณ 250 บาท และ 300 บาท ทั้งพยานสามารถออกไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน และจำเลยทั้งสองไม่ได้ยึดบัตรประจำตัวและหนังสือเดินทางของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจมาทำงานและการมาทำงานมีค่าใช้จ่าย 7,400 บาท จริง แม้เพิ่งเข้ามาทำงานและต้องถูกหักเงินใช้หนี้เดือนละ 1,000 บาท แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้รับค่าจ้างและสามารถออกจากที่พักเพื่อไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 1 มีเงินค่าจ้างเหลือเพียงพอ การหักเงินค่าจ้างเดือนละ 1,000 บาท ไม่ใช่อัตราที่สูงเกินจนเป็นการขูดรีดเอาแก่ผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการนำภาระหนี้ของผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ และทำให้ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 (5) ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้ทำงานในร้าน ก. และร้าน ห. ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และฐานค้ามนุษย์ และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าวแก่ผู้เสียหายที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7491/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์-บังคับใช้แรงงาน: การกระทำครบองค์ประกอบความผิด, พนักงานรัฐวิสาหกิจมีโทษหนักกว่า, การพิพากษาต้องเป็นไปตามกฎหมายที่หนักที่สุด
เหตุเกิดปี 2558 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับ ต่อมามีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” และคำว่า “บังคับใช้แรงงาน” และให้ยกเลิกความในมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 และให้ใช้ความตามมาตรา 6 ที่บัญญัติใหม่แทน ซึ่งการกระทำของจำเลยตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ และกฎหมายใหม่แก้ไขบทกำหนดโทษตามมาตรา 52 ด้วย มีอัตราโทษสูงกว่า จึงเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ต้องบังคับตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคแรก เช่นเดียวกับการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 โดย พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 และในส่วนที่พระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติเพิ่มความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการและบทกำหนดโทษตามมาตรา 6/1 และมาตรา 52/1 ขึ้นใหม่ เมื่อขณะกระทำความผิดไม่มีกฎหมายบัญญัติความผิดฐานดังกล่าวและกำหนดโทษไว้ จึงใช้บทมาตราดังกล่าวบังคับแก่จำเลยคดีนี้ไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งหกตามฟ้องจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 และมาตรา 52 (เดิม)องค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการข่มขืนใจให้ทำงานหรือให้บริการโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเอง หรือของบุคคลอื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยทำให้บุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ล็อกกุญแจห้องพักกักขังผู้เสียหายที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 9 ถึงที่ 11 และที่ 13 ไว้ในช่วงเวลากลางคืนแต่ให้ออกมาทำงานในตอนเช้าโดยมีเจตนาเพื่อมิให้ผู้เสียหายดังกล่าวหลบหนีโดยไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใดมาประกอบให้รับฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำการอื่นใดอันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายดังกล่าวเพื่อให้ทำงาน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อผู้เสียหายดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานค้ามนุษย์ คงเป็นเพียงความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 310 อันเป็นความผิดที่รวมอยู่ในความผิดฐานค้ามนุษย์ตามฟ้องและมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายสำหรับการหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายดังกล่าวได้พยายามหลบหนีออกจากฟาร์มที่เกิดเหตุถึงสองครั้งแต่ไม่สามารถหนีไปได้โดยถูกพวกของจำเลยที่ 1 พากลับมาส่งที่ฟาร์ม จากนั้นผู้เสียหายได้ถูกจำเลยกับพวกทำร้ายร่างกาย พูดข่มขู่ไม่ให้หลบหนี และถูกกักขังบังคับให้ทำงานอยู่ในฟาร์ม พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 และที่ 12 ไม่ต้องการทำงานกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป การจับตัวผู้เสียหายดังกล่าวไว้เมื่อหลบหนีและเอาตัวกลับมาทำงานที่ฟาร์มย่อมบ่งชี้ให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชัดแจ้งที่ต้องการบังคับใช้แรงงานของผู้เสียหายดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้จึงเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม) และฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดตาม ป.อ. มาตรา 310 ทวิ อันเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นบทหนัก