คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 28

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 18 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์: การกระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และการทำซ้ำ จำเป็นต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามกฎหมายอาญา
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง โดยผลิตแผ่นดีวีดี วีซีดี และเอ็มพี 3 งานดนตรีกรรม ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่ แล้วนำออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) กับความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เท่านั้น ไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10377/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่เพลงละเมิดลิขสิทธิ์: การกระทำต่อซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่ใช่การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง
การละเมิดลิขสิทธิ์โดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 และมาตรา 28 ต้องเป็นการกระทำโดยตรงแก่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยชอบเท่านั้น ไม่รวมถึงการกระทำโดยใช้งานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์มาก่อน โดยกรณีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่มีการทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์นั้น กฎหมายบัญญัติแยกลักษณะการกระทำที่จะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ไว้ต่างหากในมาตรา 31 การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์กับการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาแล้วจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยนำเอาแผ่นซีดีเพลงซึ่งมีผู้ทำซ้ำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายมาเปิดเผยแพร่เสียงต่อสาธารณชนภายในร้านข้าวต้มของจำเลย โดยจำเลยรู้ว่าแผ่นดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย การกระทำดังกล่าวมิใช่การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 และมาตรา 28 แต่กลับเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำแก่งานที่บุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงตามมาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 69 ไม่ว่าจะเป็นวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3790/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องระบุรายละเอียดการกระทำความผิดให้ชัดเจน มิเช่นนั้นถือเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ
โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของหรือผู้ดูแลสวนอาหารสีน้ำ ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ในงานดนตรีกรรม คำร้องทำนองของผู้แต่ง ผู้ประพันธ์งานดนตรีกรรม คำร้องทำนอง โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงผู้ชนะสิบทิศอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาต นั้น ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 คำว่า "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเห็นได้ว่าการเผยแพร่ต่อสาธารณชนนี้อาจมีการกระทำประการใดประการหนึ่งในหลายประการตามบทกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องเพียงว่า โดยแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยไม่บรรยายถึงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าจำเลยกระทำการใดโดยแน่ชัด ก็ย่อมไม่อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยกระทำการอย่างไรในการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานดนตรีกรรมที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 การบรรยายฟ้องในส่วนนี้จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมของโจทก์ที่ 1 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องต่อมาว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ในงานผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ งานภาพพิมพ์ (ปก) โดยได้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งผลงานเพลงอกหักไม่ว่า อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุอันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวได้มีการบันทึกภาพการขับร้องหรือบรรเลงเพลงอกหักไม่ว่า ลงในแผ่นเสียง เทปคาสเซต ซีดี วิดีโอเทป วิดีโอซีดี หรือบันทึกลงในวัสดุใด และจำเลยกระทำการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วยการทำให้ปรากฏด้วยเสียงหรือภาพโดยวิธีใดเช่นเดียวกัน ส่วนงานภาพพิมพ์ (ปก) นั้น โจทก์ทั้งสองก็ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของงานลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมภาพพิมพ์นี้และจำเลยได้นำงานดังกล่าวออกแสดงต่อสาธารณชนโดยวิธีใดอีกเช่นกัน ทั้งภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุท้ายคำฟ้อง ก็ไม่ได้สื่อความหมายให้เข้าใจตามคำฟ้องได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด คำฟ้องในส่วนนี้ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองบรรยายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสิ่งบันทึกเสียง โสตทัศนวัสดุและภาพพิมพ์ของโจทก์ที่ 2 เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเช่นกัน การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวทั้งสองส่วนจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้รับมอบอำนาจช่วง: ผู้เสียหายต้องมีอำนาจร้องทุกข์เอง พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบใช้ไม่ได้
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8367/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยต้องเป็นผู้ประกอบการตู้เพลงคาราโอเกะ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย ด้วยการนำตู้เพลงคาราโอเกะเพลงซึ่งบรรจุแผ่นเพลง แผลเป็นวันวาเลนไทน์ อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่มารับประทานอาหารในร้าน อันเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย เมื่อจำเลยปฏิเสธว่า ตู้เพลงคาราโอเกะดังกล่าวเป็นของนาย ธ. บุคคลอื่นที่เช่าพื้นที่ในร้านอาหารจากจำเลยเพื่อประกอบกิจการโดยจำเลยได้ค่าเช่าเป็นรายเดือน และคดีได้ความเพียงว่ามีการเปิดเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมของผู้เสียหายจากตู้เพลงในร้านของจำเลยให้ลูกค้าฟังและร้องตาม โดยที่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ข้อเท็จจริงว่า นาย ธ. เป็นเจ้าของตู้เพลงคาราโอเกะและเป็นผู้บรรจุเพลงที่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ แล้วเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงของผู้เสียหายหรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการตู้เพลงคาราโอเกะที่ละเมิดลิขสิทธิ์ตามฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ต่อสาธารณชน และบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ต้องเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยการนำแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะที่บันทึกเสียงเพลงและภาพงานเพลงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองมาทำซ้ำ ถ่ายโอนข้อมูลบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำออกขาย หรือมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการทำซ้ำดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (1) และมาตรา 28 (1) เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ด้วยไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7873/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์แจ้งความและขอบเขตความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ การทำซ้ำ vs. การเผยแพร่
เจตนารมณ์ของกฎหมายในการร้องทุกข์ก็เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและประสงค์จะให้มีการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และต่อมาได้นำเจ้าพนักงานตำรวจค้นร้านที่เกิดเหตุและจับจำเลยส่งพนักงานสอบสวน จากนั้น ร. จึงได้ร้องทุกข์อีกครั้ง โดยการร้องทุกข์ครั้งหลังมีข้อความระบุถึงตัวผู้กระทำผิดและลักษณะของความผิดชัดเจนถือได้ว่าคดีนี้มีการร้องทุกข์โดยชอบและทำให้การสอบสวนในเวลาต่อมาชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายโดยนำเอางานซึ่งมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องไปบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูล แล้วแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นสัญญาภาพและเสียง แพร่ภาพ เนื้อร้อง และทำนองทางจอมอนิเตอร์ และแพร่เสียงทางลำโพงสำหรับลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29 และ 69 แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ หรือสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับการแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูลนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นใหม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2), 28 (2) และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชน อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (3) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุ ศาลแก้ไขบทลงโทษและพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วยการนำแผ่นเพลงซีดีคาราโอเกะเพลงโดเรมี ขับร้องโดย พ. ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงภาพให้ประชาชนฟังและชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้าย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้นำซีดีคาราโอเกะที่บันทึกภาพและเสียงไว้ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) แม้โจทก์จะอ้างฐานความผิดและบทกฎหมายผิดไปเป็นว่า จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (3) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยเสนอขายงานละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลแก้ไขโทษฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
แม้ตามฟ้องของโจทก์ในตอนแรกโจทก์จะบรรยายว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่บันทึกภาพและเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกวางจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนก็ตาม แต่ฟ้องในตอนท้ายโจทก์บรรยายว่า ตามวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้ม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสามและแผ่นวีซีดีคาราโอเกะเดียวกันดังกล่าวที่บันทึกภาพและเสียงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จำเลยได้เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปดังกล่าวเป็นของกลาง การบรรยายฟ้องในตอนท้ายนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่มีบุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอยู่แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่าจำเลยนำม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย "ออกวางจำหน่าย" มีความหมายเช่นเดียวกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลย "เสนอขาย" สิ่งของดังกล่าวที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไป แต่การนำออกวางจำหน่ายหรือเสนอขายซึ่งสิ่งที่มิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ คงมีแต่มาตรา 31 (1) ที่บัญญัติให้การเสนอขายซึ่งสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ทั้งโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำใดของจำเลยที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 ฟ้องโจทก์เป็นเพียงการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 31 เท่านั้น
แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27, 28 และ 69 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทมาตราที่ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 290/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์จากการเสนอขายของละเมิด แม้โจทก์ฟ้องผิดฐาน ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขโทษให้ถูกต้อง
แม้ตามฟ้องของโจทก์ในตอนแรกจะบรรยายว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่บันทึกภาพและเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกวางจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนก็ตาม แต่ในตอนท้าย โจทก์บรรยายว่าตามวันเวลาที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดได้ม้วนเทปเพลงแผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะเดียวกันดังกล่าวที่บันทึกภาพและเสียงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่จำเลยได้เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปดังกล่าวข้างต้นเป็นของกลาง การบรรยายฟ้องในตอนท้ายเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่มีบุคคลอื่นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอยู่แล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยนำม้วนเทปเพลง แผ่นเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะและอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย "ออกวางจำหน่าย" มีความหมายเช่นเดียวกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนท้ายว่า จำเลย "เสนอขาย" สิ่งของดังกล่าวที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไป แต่การนำออกวางจำหน่ายหรือเสนอขายซึ่งสิ่งที่มิได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิได้บัญญัติให้ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คงมีแต่เฉพาะมาตรา 31 (1) ที่บัญญัติให้การเสนอขายซึ่งสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ต่อสาธารณชนโจทก์ก็มิได้บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำใดของจำเลยที่เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงแต่อย่างใด ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรงอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นเป็นเพียงการบรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 เท่านั้น ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำม้วนเทปเพลงจำนวน 20 ม้วน แผ่นเอ็มพีสามจำนวน 2 แผ่น และแผ่นวีซีดีคาราโอเกะจำนวน 209 แผ่น ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาเสนอขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28 และ 69 ไม่ได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์อ้างฐานความผิดและบทมาตราผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทมาตราที่ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 400,000 บาท ก่อนลดโทษให้นั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
of 2