คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/34 (3)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2333/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าระวางขนส่งทางอากาศ: สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(3) มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันผิดนัด
ข้อหาตามฟ้องโจทก์เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ขนส่งเรียกร้องเอาค่าระวางขนส่งทางอากาศจากจำเลยผู้ว่าจ้าง แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเงินค่าระวางขนส่งทางอากาศไว้โดยเฉพาะ แต่การให้บริการของโจทก์เป็นการรับขนส่งสิ่งของเพื่อบำเหน็จทางการค้าปกติ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ขนส่งสิ่งของเรียกเอาค่าระวางขนส่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) ที่บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 2 ปี ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เรียกร้องให้จำเลยชำระค่าระวางขนส่งทางอากาศจึงตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11732/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าระวางขนส่ง: ไม่ใช่หนี้จากสัญญาจ้างทำของ แต่เป็นค่าระวางที่อายุความ 2 ปี
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ขนส่งสินค้าประเภทผลไม้แช่แข็ง โดยนำรถยนต์บรรทุกลากตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบรรจุสินค้าลงตู้คอนเทนเนอร์ และลากตู้คอนเทนเนอร์นำไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่กรุงเทพมหานคร แล้วจำเลยผิดสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าขนส่งให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งสิ่งของเรียกเอาค่าขนส่งพร้อมค่ายกตู้และค่าผ่านท่าจากจำเลย ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาค่าระวาง มิใช่หนี้ที่เกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานจ้างทำของและมิใช่หนี้ที่เรียกร้องเกี่ยวกับข้อความรับผิดของผู้ขนส่งในการที่สูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าด้วย จึงอยู่ในบังคับอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2329/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าระวางทางทะเล, การแก้ไขฟ้องหลังชี้สองสถาน, และผลกระทบต่ออายุความ
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยเพิ่มจำนวนเงินค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางที่เรียกร้องให้จำเลยชำระ จากฟ้องเดิมตามใบเรียกเก็บเงิน 178 ฉบับ จำนวน 87,038.03 ดอลลาร์สหรัฐ ขอเพิ่มเติมอีก 102 ฉบับนั้น โจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่ามีหนี้จำนวนนั้นที่จำเลยค้างชำระอยู่ตั้งแต่ก่อนโจทก์ฟ้องคดี ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนวันชี้สองสถาน
โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวาง ซึ่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้คำนิยามของอุปกรณ์แห่งค่าระวางโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าระวาง ดังนั้น ค่าระวางและอุปกรณ์แห่งค่าระวางจึงมีอายุความเป็นอย่างเดียวกัน เมื่อ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้กำหนดอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าระวางไว้ จึงต้องใช้อายุความตามที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (3) กำหนดไว้ว่าสิทธิเรียกร้องค่าระวางมีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2545 และหนี้ตามใบแจ้งหนี้จำนวน 178 ฉบับ ล้วนเป็นใบแจ้งหนี้ที่ครบกำหนดชำระหลังวันที่ 25 ตุลาคม 2543 เมื่อนับถึงวันฟ้อง จึงยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์สำหรับหนี้ตามใบแจ้งหนี้ในส่วนนี้ จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6512/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาขนส่งทางทะเล: ใช้ พ.ร.บ.การรับขนฯ และ ป.พ.พ. มาตรา 193/30
จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยทางเรือเดินทะเล โดยจำเลยจะรับตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากโจทก์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลย แล้วนำกลับมาส่งมอบแก่โจทก์ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้โจทก์ดำเนินการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศ และโจทก์ได้นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าของจำเลยไปฝากไว้ยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเตรียมการขนส่งทางเรือ เมื่อจำเลยได้ขอยกเลิกการส่งสินค้าโดยขอรับตู้คอนเทนเนอร์กลับไปขนสินค้าออกแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าส่งคืนโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตาม พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ผู้ขนส่งได้เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่งให้แก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน และเมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี มาใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34 (3) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ไม่อาจนำมาใช้บังคับกับการรับขนของทางทะเลในกรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 725/2540 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมส่งเสริมการพาณิชยนาวี: สิทธิเรียกร้อง, อายุความ, และภาระการชำระดอกเบี้ย
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521มาตรา 23 เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นพิเศษที่จะสั่งยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษได้โดยไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาล แต่ พ.ร.บ.ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องผู้ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษตาม ป.วิ.พ.แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระแล้ว จำเลยไม่ชำระ จึงเป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะได้รับชำระค่าธรรมเนียมพิเศษพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าวจากจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55
จำเลยทำสัญญาขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบแล้วจำเลยสั่งซื้อกระดาษมวนบุหรี่จากบริษัท จ.ที่ประเทศญี่ปุ่นและใช้เรือขนส่งกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นมาส่งมอบให้โรงงานยาสูบที่ประเทศไทย จำเลยจึงเป็นเจ้าของกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวซึ่งนำกระดาษมวนบุหรี่มาจากต่างประเทศโดยทางทะเล อันเป็นผู้ส่งของตามความหมายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 4
จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญากับโรงงานยาสูบและเป็นผู้ส่งของตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 4 ใช้เรือ ว.ซึ่งมิใช่เรือไทยในการบรรทุกนำกระดาษมวนบุหรี่ดังกล่าวจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบโดยเสียค่าระวางการรับขนเป็นเงิน 698,745.24 บาทจำเลยจึงต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนของคือกระดาษมวนบุหรี่นั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521มาตรา 22 เป็นเงิน 1,397,490.48 บาท
กฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 ข้อ 1 กำหนดให้ของที่บุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ สั่งหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวโดยทางเรือในเส้นทางที่มีเรือไทยเดินอยู่และสามารถให้บริการรับขนได้ต้องบรรทุกโดยเรือไทย ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับทางราชการ องค์การของรัฐ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจนั้น จะเป็นผู้สั่งหรือนำเข้ามาเอง หรือโดยผ่านทางตัวแทนหรือผู้รับจัดการขนส่ง ดังนั้น แม้บริษัท ท.เป็นผู้รับจัดการขนส่งกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาท แต่เมื่อปรากฏว่า เรือ ว.ซึ่งบรรทุกกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทจากเมืองท่าโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นนำเข้ามาส่งมอบให้โรงงานยาสูบในประเทศไทยมิใช่เรือไทย จำเลยก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษเท่ากับสองเท่าของค่าระวางสำหรับการรับขนกระดาษมวนบุหรี่นั้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 22
ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา22 วรรคสาม และกฎกระทรวงคมนาคม ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2527 ข้อ 4จำเลยในฐานะผู้ส่งของตามความหมายของ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวีพ.ศ.2521 และคู่สัญญาผู้ขายกระดาษมวนบุหรี่ให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจมีภาระในการเสียค่าธรรมเนียมพิเศษให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่จำเลยได้ส่งของคือกระดาษมวนบุหรี่รายพิพาทโดยเรือ ว.และมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมพิเศษมาชำระให้แก่โจทก์ภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2530 ซึ่งเป็นวันที่เรือว.เข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเมื่อจำเลยยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมพิเศษดังกล่าวจนพ้นกำหนดชำระแล้ว จำเลยก็ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากจำนวนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษที่ค้างชำระนั้นให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,397,490.48บาท นับตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินต้นแล้วเสร็จ
สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (3) ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนั้นเป็นสิทธิเรียกร้องที่ผู้ขนส่งคนโดยสารหรือสิ่งของหรือผู้รับส่งข่าวสาร เรียกเอาค่าโดยสาร ค่าระวาง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียม รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไปอายุความดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่คดีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมตามพ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มาตรา 22 นี้
แม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเอาค่าธรรมเนียมพิเศษตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ.2521 มิใช่สิทธิเรียกร้องที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องดังกล่าวก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/30