คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1336

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,162 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของทรัพย์สินในการก่อสร้างอาคาร การขัดขวางการใช้สิทธิ และความรับผิดทางละเมิด
ตามคำขออนุญาตและใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ส่วนการก่อสร้างและต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการนั้น ในสัญญาดำเนินการก็เป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในที่ดินพิพาท ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องคืนเงินสวัสดิการศึกษาเกินสิทธิ: ไม่ขาดอายุความ เหตุเป็นสิทธิติดตามทรัพย์คืน
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดโดยสำคัญผิดและสิทธิในการติดตามเรียกคืนเงินจากผู้ไม่มีสิทธิ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5655-5656/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง ผู้รับโอนสิทธิ และการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลัง
แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้นก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติวรรคหก ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่าผู้ร้องต้องร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปในคราวเดียวกัน และผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอดังกล่าวเพิ่มเติมมาในภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้ ศาลจึงไม่อาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่ ส. กับพวกชิงทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายที่ได้มาโดยสุจริต ผู้เสียหายจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริง และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนที่จะติดตามเอาเงินคืนจาก ส. กับพวกตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย เมื่อ ส. นำเงินของผู้เสียหายไปซื้อหุ้นและวางเป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ และได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อซึ่งเป็นทรัพย์สินและดอกผลของผู้เสียหายที่ ส. ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องเงินคืนจากจำเลยที่ได้รับไปโดยไม่ชอบ ไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336
เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6941/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-อายุความ: คดีบุกรุก-ลักทรัพย์ดิน และการเรียกร้องค่าดินตามสิทธิเจ้าของกรรมสิทธิ์
พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสหลังหย่า: การติดตามสินสมรสส่วนของโจทก์ที่จำเลยที่ 2 ได้รับ
ตามบันทึกข้อตกลงการหย่าและแบ่งสินสมรส ฝ่ายชายให้บุตรทั้งสองอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว ฝ่ายชายจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสินสมรสทั้งหมดที่ได้ยกให้แก่บุตรทั้งสอง สินสมรสที่มีชื่อฝ่ายชายถือกรรมสิทธิ์ผู้เดียว ฝ่ายชายก็จะโอนเปลี่ยนชื่อให้เป็นชื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้ครอบครองแทนบุตรทั้งสอง ในส่วนสินสมรสใดซึ่งหากตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้แล้ว ฝ่ายชายตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองคนต่อไปในทันที ก็หมายถึง สินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น หาได้มีข้อความระบุถึงสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังแล้วฝ่ายหญิงตกลงจะนำมายกให้แก่บุตรทั้งสองแต่อย่างใดไม่ และไม่ได้หมายถึงสินสมรสของทั้งสองฝ่ายดังเช่นที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงที่มีรายละเอียดของสินสมรสที่คู่สัญญาทั้งสองตกลงยกให้แก่บุตรทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าสินสมรสที่ตรวจสอบพบในภายหลังจากทำบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของฝ่ายชายคือจำเลยที่ 1 ได้นำไปให้จำเลยที่ 2 แล้ว คงเหลือสินสมรสส่วนที่เป็นของโจทก์ซึ่งไม่ได้ตกอยู่ในบังคับข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอาสินสมรสส่วนนี้มาเป็นของตนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9584/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อคดีถึงที่สุด และการโอนสิทธิโดยผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์
คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้น ที่จำเลยที่ 1 ยื่นฟ้องโจทก์เพื่อเรียกโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ คืน ซึ่งมีที่ดินพิพาทรวมอยู่ด้วยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ คืนแก่จำเลยที่ 1 คำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจะดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นถึงที่สุด ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 56 และ 63 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หมวด 3 ข้อ 17 (3) เมื่อคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้นยังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่สามารถขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับ ได้
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เคยยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้ง 40 ฉบับมาแล้วสองครั้ง โดยไม่ได้นำคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 มาประกอบคำขอ เจ้าพนักงานที่ดินพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหลักฐานคดีถึงที่สุดมาแสดง จึงมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกใบแทน การมีคำสั่งยกเลิกคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานที่ดินย่อมแสดงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีหมายเลขแดงที่ 393/2546 เป็นคำพิพากษาอันเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน การจะดำเนินการขอออกใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ก็โดยอาศัยอำนาจตาม ป.ที่ดิน มาตรา 56 และ 63 ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หมวด 3 ข้อ 17 (3) เท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มายื่นคำขอออกใบแทนโฉนดเป็นครั้งที่สาม โดยอ้างเหตุเดิมว่าโฉนดที่ดินสูญหาย แต่มีเพิ่มเติมว่าได้นำพยาน 2 คน มาบันทึกถ้อยคำรับรองพร้อมนำสำเนารายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 มาประกอบ เจ้าพนักงานที่ดินมิได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งที่เป็นกรณีเดียวกันและเหมือนกันกับครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดในครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่เจ้าพนักงานที่ดินมีคำสั่งให้ยกเลิกคำขอออกใบแทนเพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีหลักฐานอันแสดงว่าคดีถึงที่สุดมาแสดง การที่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ปฏิบัติตามข้อ 17 (3) แต่ข้ามขั้นตอนไปปฏิบัติตามข้อ 17 (1) จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงดังกล่าว การออกใบแทนโฉนดที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายจำต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินซึ่งไม่ชอบตาม ป.ที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด และให้โฉนดที่ดินพิพาทฉบับเดิมยังคงมีผลใช้ได้ต่อไป
ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 393/2546 ของศาลชั้นต้น ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สละกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง 40 แปลง แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทอีกต่อไป และไม่มีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนตามกฎหมาย ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7378/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาทและการขัดแย้งสิทธิ ownership ที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลย ศาลฎีกาตัดสินให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 6 มีนาคม 2557 จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 จำเลยทั้งสองกับพวกบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์และกระทำละเมิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า ระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองมิได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาท และมิได้กระทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด ทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินพิพาท กรณีย่อมแปลความหมายได้อยู่ในตัวว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้สอดเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิขัดขวางจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แล้วมีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท จึงเป็นการวินิจฉัยและมีคำพิพากษาที่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้ว เป็นการไม่ชอบ ทั้งหากต่อไปในภายภาคหน้า จำเลยทั้งสองได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโดยมิชอบด้วยกฎหมายนอกเหนือจากวันเวลาตามฟ้องคดีนี้ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่อาจพิพากษาล่วงหน้าไว้ในคดีนี้โดยสั่งห้ามจำเลยทั้งสองเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
โจทก์มิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ธรณีสงฆ์และเป็นสมบัติของโจทก์ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การต่อสู้ว่าสุสานทุ่งมนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินพิพาทแปลงอื่นเป็นที่ดินของสุสานทุ่งมนซึ่งไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองมิใช่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง การวินิจฉัยชี้ขาดถึงสิทธิของการเป็นเจ้าของที่ดินสุสานทุ่งมนและที่ดินพิพาทแปลงอื่นซึ่งมิใช่ประเด็นสำคัญแห่งคดีและอาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลภายนอกคดี จึงเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยตรงมิได้เข้ามาเป็นคู่ความ ทั้งไม่มีโอกาสนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความจริงให้เห็นกระจ่าง เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินพิพาทและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง กรณีก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15315/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่โดยผู้ซื้อที่รับโอนทรัพย์สินโดยไม่สุจริต คำพิพากษาศาลฎีกาผูกพัน ห้ามใช้สิทธิไม่สุจริต
แม้ตามคำคัดค้านและฟ้องแย้งของผู้คัดค้านจะอ้างว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องเป็นละเมิดต่อผู้คัดค้านเพราะผู้คัดค้านมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทและผู้คัดค้านไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหาย แต่เมื่อได้ความว่า ผู้คัดค้านเคยฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องในที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันจนศาลฎีกามีคำวินิจฉัยพิพากษายกฟ้อง โดยยกเหตุผลเรื่องการรับโอนในที่ดินพิพาทมิได้เป็นไปโดยสุจริตตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2808-2809/2539 คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงต้องผูกพันผู้คัดค้าน ฟังได้ว่าการฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแม้ผู้คัดค้านจะอ้างสิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิฟ้องขับไล่ผู้ร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ก็ตาม แต่ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมผูกมัดผู้คัดค้านว่า ผู้คัดค้านใช้สิทธิฟ้องขับไล่สามีของผู้ร้องโดยไม่สุจริต ที่ผู้คัดค้านฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายในคดีนี้โดยอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเช่นคดีเดิมที่เคยฟ้องขับไล่สามีผู้ร้องมาก่อนจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นกัน ผู้คัดค้านไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องและเรียกค่าเสียหาย
of 117