คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 29

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพ: ผู้เผยแพร่ผ่านเคเบิลทีวีไม่ใช่ผู้ละเมิดโดยตรง
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 นั้น ผู้กระทำต้องเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่รับสัญญาณมาส่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนไปในทันทีโดยไม่มีการบันทึกรายการไว้ก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือบันทึกงานแพร่เสียงแพร่ภาพนั้นไว้แล้วนำไปแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในภายหลัง หรือเมื่อรับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวแล้วได้แพร่เสียงแพร่ภาพนั้นให้ประชาชนรับฟังหรือรับชมโดยตรง ณ สถานที่รับสัญญาณนั้นในทันที โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ที่รับสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจากการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมมาแล้วได้ส่งผ่านรายการของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวผ่านสายเคเบิลไปยังสมาชิกให้ได้รับชมคือ บริษัท ร. และบริษัท ด. มิใช่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้กระทำการดังกล่าวเพราะบริษัททั้งสองเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นการตอบแทน ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือใช้บริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพราะมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาผิดแก่ผู้กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 โดยตรงเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์: การกระทำ 'เพื่อหากำไร' แตกต่างจาก 'เพื่อการค้า' และหลักฐานความผิดต้องชัดเจน
การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ต้องเป็นการกระทำแก่งานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน ตามบทนิยามในมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ตาม แต่การกระทำ "เพื่อการค้า" กับการกระทำ "เพื่อหากำไร" มีความหมายแตกต่างกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เพื่อการค้า ต้องระวางโทษหนักกว่าการกระทำเพื่อหากำไรตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ต้องพิสูจน์เจตนาหากำไรและประเภทงานที่ละเมิด การบรรยายฟ้องไม่ชัดเจนอาจทำให้ศาลยกฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงซ้ำ และจัดให้ประชาชนฟัง โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อื่นทางการค้าจากบุคคลทั่วไปซึ่งการกระทำที่จะเป็นความผิดดังกล่าว ต้องเป็นการกระทำแก่งานลิขสิทธิ์ประเภทงานแพร่เสียงแพร่ภาพ ซึ่งหมายความถึงงานที่นำออกสู่สาธารณชนโดยการแพร่เสียงทาทงวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์ หรือโดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกันตามบทนิยามในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวเพียงว่า ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรมกับสิ่งบันทึกเสียงเท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวว่าเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า แต่การกระทำ "เพื่อการค้า" กับการกระทำ "เพื่อหากำไร" มีความหมายแตกต่างกันได้ คำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลงดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รูปแบบรายการเกมโชว์ไม่เป็นงานลิขสิทธิ์ประเภทงานนาฏกรรม, ศิลปประยุกต์, หรือวรรณกรรม
งานสถาปัตยกรรมต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง งานภาพร่างและงานภาพประกอบต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศหรือวิทยาศาสตร์ด้วย เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้
การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา มิใช่งานเกี่ยวกับการรำการเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรม รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์ และอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในข้อเท็จจริงที่ศาลจะรับฟัง เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏต่อศาลเองว่างานที่ฟ้องร้องกันนี้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้ลงโทษทางอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยรับสัญญาณภาพและเสียงของโจทก์ร่วมที่ส่งสัญญาณไปตามสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง จากนั้นใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายสัญญาณเคเบิ้ลเข้าเครื่องถอดรหัสสัญญาณไปพ่วงต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ของจำเลย แล้วขยายสัญญาณโทรทัศน์แยกและต่อสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพไปยังห้องเช่าต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยในอาคารของจำเลย โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าห้องพักและค่าบริการจากผู้เช่าเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจัดทำงานแพร่ภาพแพร่เสียงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานโสตทัศนวัสดุ ศาลแก้ไขบทลงโทษและพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายด้วยการนำแผ่นเพลงซีดีคาราโอเกะเพลงโดเรมี ขับร้องโดย พ. ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกแพร่เสียงภาพให้ประชาชนฟังและชม โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้าย่อมมีความหมายว่า จำเลยได้นำซีดีคาราโอเกะที่บันทึกภาพและเสียงไว้ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) แม้โจทก์จะอ้างฐานความผิดและบทกฎหมายผิดไปเป็นว่า จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายเพื่อการค้า อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (3) ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดและบทกฎหมายที่ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า