พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์: การคุ้มครองแนวคิด vs. รหัสต้นทาง
เมื่อหน้าจอของเครื่องจีพีเอสของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ กับหน้าจอของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 หรือเรียกว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งให้เครื่องทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้ใช้ได้สั่งการปรากฏว่ามีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองโปรแกรมต่างมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำงานต่างๆ ซึ่งผู้สั่งหรือผู้ใช้จะใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่ง เพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลแล้วแสดงผลที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้ใช้เครื่องจะสื่อสารกับเครื่องอย่างไร และเครื่องจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้นี้ เป็นสิ่งที่โจทก์สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ การที่จะรับฟังว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่จะต้องปรากฏว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำหรือลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ถูกเขียนขึ้นโดยมีการทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันอย่างใดและในส่วนใดบ้างที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ทั้งรายละเอียดของงานล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ว่าจ้างประสงค์ ซึ่งถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็เป็นความคล้ายคลึงในส่วนของแนวความคิด จึงหาใช่ข้อยืนยันหรือพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เสมอไป ประกอบกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดที่แตกต่างกันยังสามารถสั่งให้แสดงผลที่หน้าจอประมวลผลหรือที่เรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ออกมาเหมือนกันได้ และการดูชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจดจำไปเพื่อเขียนชุดคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่หากดูชุดคำสั่งแล้วได้แนวคิดเพื่อไปเขียนชุดคำสั่งของตนเองเป็นโปแกรมขึ้นมาใหม่ย่อมเป็นไปได้มากกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3093/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ 2537 และการขยายอายุความตามหลักอนุสัญญาเบอร์น
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 ทั้งฉบับ และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 3 ก็บัญญัติให้ยกเลิก พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทั้งฉบับ แต่ยังคงมีบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง ที่ให้งานอันมีลิขสิทธิ์อยู่ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่มีผลบังคับได้รับความคุ้มครองเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ต่อไปตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ เมื่อตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่นั้นได้กล่าวถึงทั้งเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การละเมิดลิขสิทธิ์และข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นหมวดหมู่ในลักษณะเรียงลำดับต่อเนื่องกันไปเพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวทั้งหมดใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ดังนั้น ประโยคที่ว่าให้ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้จึงหมายถึงให้นำบทบัญญัติในหมวดหมู่ต่างๆ ดังกล่าวทั้งหมดของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ไปใช้บังคับแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้วตาม พ.ร.บ. ฉบับเก่าหรืองานที่เพิ่งมีลิขสิทธิ์หลังจาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้น ข้อความที่ว่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ จึงย่อมหมายถึงได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติในส่วนต่างๆ ของกฎหมายใหม่รวมถึงในส่วนที่ว่าด้วยอายุการคุ้มครองด้วย การตีความว่างานศิลปกรรมภาพตัวการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีอายุการคุ้มครอง 30 ปี มีอายุแห่งความคุ้มครองขยายออกไปเป็น 50 ปี นับแต่มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกดังกล่าว โดยผลของ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นอกจากจะเป็นการตีความไปตามบริบทของกฎหมายทั้งฉบับแล้วยังสอดคล้องกับหลักการเบื้องต้นเกี่ยวกับอายุแห่งความคุ้มครองลิขสิทธิ์ในอนุสัญญาเบอร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรมที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 แต่ก่อนที่จะมีการตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ด้วย