คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1270

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4466/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้, การเลิกสัญญาโดยปริยาย, อัตราดอกเบี้ย, และการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
ป.พ.พ. มาตรา 1249 บัญญัติว่า "ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดี แม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี" กับมาตรา 1250 บัญญัติว่า "หน้าที่ของผู้ชำระบัญชี คือ ชำระสะสางการงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้เสร็จไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น" บทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวชี้ชัดถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ให้นิติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลสมมุติจะเลิกได้นั้นจะต้องมีการชำระบัญชีเพื่อมีการชำระหนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ และแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของนิติบุคคลนั้นแล้วแต่กรณี จึงได้กำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีไว้ชัดแจ้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และบังคับให้ผู้ชำระบัญชีต้องปฏิบัติอันจะส่งผลก่อเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่มีนิติสัมพันธ์กับนิติบุคคล ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังได้ตรา พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ซึ่งมีโทษทางอาญากำกับไว้อีกด้วย โดยมาตรา 32 บัญญัติระวางโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาทแก่ผู้ชำระบัญชีที่ไม่กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 ซึ่งกำหนดหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีจะต้องกระทำ เช่น ต้องส่งคำบอกกล่าวว่านิติบุคคลนั้นได้เลิกกันแล้วเป็นจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ไปยังเจ้าหนี้ทั้งหลายทุกๆ คน บรรดามีชื่อปรากฏในสมุดบัญชีหรือเอกสารของห้างหรือบริษัทนั้น ในการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และร่วมเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์จงใจไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ส่งคำบอกกล่าวการเลิกบริษัทแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้ใช้สิทธิยื่นคำทวงหนี้แก่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีและตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 2 ดำเนินการชำระบัญชีโดยไม่สุจริต มีเจตนาฉ้อฉลต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ จึงต้องถือว่าการชำระบัญชียังไม่สำเร็จลงตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคหนึ่ง การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนการชำระบัญชีไม่ว่าจะโดยสมรู้กับจำเลยที่ 2 หรือเป็นการหลงผิดก็ไม่ถือว่าการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ได้ถึงที่สุดแล้ว แต่ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยังคงตั้งอยู่ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีตามมาตรา 1249 อายุความสองปีตามมาตรา 1272 จึงยังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ย่อมไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัตินี้ โจทก์หาจำต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้นายทะเบียนจดชื่อจำเลยที่ 1 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนนิติบุคคลตามมาตรา 1246 (6) (มาตรา 1273/4 ตามที่แก้ไขใหม่) ทั้งนี้เพราะกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องนายทะเบียนบริษัทมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าบริษัทใดมิได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว บทบัญญัติในมาตรา 1246 (1) (มาตรา 1273/1 ตามที่แก้ไขใหม่) จึงต้องกำหนดให้นายทะเบียนมีจดหมายไต่ถามไปยังบริษัทนั้น ซึ่งต่างกับเหตุในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายแสดงเจตนาเลิกบริษัทเอง
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ แต่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชีเป็นเวลานาน โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินชอบที่จะใช้สิทธิทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาโดยให้เวลาพอสมควรแก่จำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้ใช้สิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาโดยตรงต่อจำเลยที่ 1 แต่พฤติการณ์ที่โจทก์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จำเลยที่ 1 มิได้เดินสะพัดบัญชี จึงมีเหตุผลเพียงพอให้รับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 ซึ่งมีการหักทอนบัญชีตามสัญญาเป็นครั้งสุดท้าย
โจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินเป็นระยะๆ โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไปของประกาศโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินในอัตราลอยตัว คือ ในอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมมาตรฐานทั่วไป (จีแอลอาร์) บวกอัตราส่วนต่างสูงสุดของลูกค้าทั่วไป ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงินตามประกาศโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 (ที่ใช้บังคับในขณะนั้น) ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัท กรณีมีทรัพย์สินคงเหลือ และผลกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้น
ผู้ร้องเคยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่ก็มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว หากมีเหตุจำเป็นขัดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้ามไว้ นอกจากนี้หากกรณีมีมูลเหตุข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าหลังจากจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องตรวจสอบพบว่ายังมีที่ดินที่บริษัท ย. ถือกรรมสิทธิ์อยู่อีก 2 แปลง กรณีจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชีด้วยวิธีการเช่นใด ในเมื่อบริษัทมิได้ยังคงตั้งอยู่แต่สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้ว และย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น คดีมีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีเพิ่มเติมหลังจดทะเบียนเสร็จสิ้น กรณีมีทรัพย์สินหลงเหลือ และสิทธิของผู้ถือหุ้น
ผู้ร้องเป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ทำการชำระบัญชีกิจการของบริษัท ย. สำเร็จลงซึ่งเมื่อได้จดทะเบียนแล้วให้ถือเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชีตามป.พ.พ. มาตรา 1270 แต่มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว มีเหตุจำเป็นข้ดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ การที่บริษัท ย. ยังมีที่ดินถือกรรมสิทธิ์อีก 2 แปลง ซึ่งหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชี แต่บริษัท ย. สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้วย่อมกระทบถึงสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นจากที่ดินดังกล่าว จึงมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัท ย. ได้ตามป.วิ.พ.มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2940/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่าย: สัญญาขายลดและสลักหลังหลังเลิกบริษัทเป็นโมฆะ
เช็คพิพาทเป็นเช็คขีดคร่อมเฉพาะระบุสั่งจ่ายเงินให้แก่บริษัท ฐ. มิใช่เช็คผู้ถือ ดังนั้นบริษัท ฐ. ซึ่งเป็นผู้ทรง เท่านั้นที่จะทำสัญญาขายลดและสลักหลังโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาขายลดเช็ค เอกสารหมาย จ.3 กระทำขึ้นหลังจากที่บริษัท ฐ. ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1270 วรรคสอง อันถือได้ว่า บริษัท ฐ. ได้สิ้นสภาพนิติบุคคลไปแล้ว สัญญาขายลดเช็คดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ทั้งการที่ ธ. และ ส. ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราบริษัท ฐ. จำกัด ในเช็คพิพาทให้ แก่โจทก์ ก็เป็นการสลักหลังโอนโดยปราศจากอำนาจ ย่อมเป็นอันใช้ไม่ได้เลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 โจทก์จึงเป็น ผู้ที่ได้รับเช็คพิพาทมาโดยการสลักหลังที่ขาดสาย โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 904, 905 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้สั่งจ่ายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสภาพนิติบุคคล หักบัญชีชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4638/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้ชำระบัญชีต่อเจ้าหนี้: การละเว้นการชำระหนี้ภาษีหลังเลิกบริษัท
หากจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ได้กระทำหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1253 , 1270 ประกอบกับ ป. รัษฎากร มาตรา 72 ย่อมจะต้องทราบถึงหนี้ค่าภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 เว้นแต่จำเลยที่ 2 จะพิสูจน์ได้ว่าแม้ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยครบถ้วนตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้วก็มิอาจทราบได้
เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีเงินหรือทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่ แต่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชี ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรต่อโจทก์ แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้เงินให้แก่เจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้นตามบทแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดที่มิได้มาทวงถามให้ใช้หนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1264 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 422 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในหนี้ค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกินที่จำเลยที่ 1 มีเหลืออยู่ในวันเลิกกิจการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1840/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีไม่ต้องรับผิดร่วมกับบริษัท หากไม่มีทรัพย์สินเหลือพอชำระหนี้ และไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ก็เฉพาะกรณีจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ เมื่อไม่ปรากฏว่านอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดและอายัดมาชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินอื่น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีไม่ครบถ้วนตามที่ ป.พ.พ. บัญญัติไว้ ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1085/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้จากการชำระบัญชีบริษัท: นับแต่วันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ไม่ใช่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อายุความฟ้องเรียกหนี้สินในกรณีที่มีการชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1272 ได้บัญญัติจำกัดอายุความฟ้องร้องไว้เป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากบทบัญญัติในเรื่องอายุความทั่วไปที่ยาวกว่า และการเริ่มนับอายุความต้องถือตามที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะในมาตราดังกล่าว จะนำเอาหลักในเรื่องการนับอายุความทั่วไปในมาตรา 169 มาใช้ไม่ได้ กล่าวคือ ต้องนับระยะเวลาสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ซึ่งวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีหมายถึงวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีตามมาตรา 1270 หาใช่จะต้องนับระยะเวลานับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีคือวันที่ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ เพราะการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 1021และมาตรา 1022 นั้น เป็นแต่เพียงให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความที่ลงทะเบียนและนายทะเบียนได้แต่งย่อไปพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปเท่านั้น จะนำมาใช้กับการเริ่มนับอายุความที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษตามมาตรา 1272 ไม่ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ขอกู้เบิกเงินเกินบัญชี คงเป็นคู่สัญญากับโจทก์ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เท่านั้นถึงแม้ในสัญญาค้ำประกันจะระบุถึงการสละสิทธิในข้อต่อสู้ต่าง ๆในฐานะของผู้ค้ำประกันที่จะพึงมีตามกฎหมายไว้ ก็ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันเปลี่ยนฐานะเป็นลูกหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีหรือหมดสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ที่มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ด้วย ในเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นหลุดพ้นความรับผิดเนื่องจากหนี้ของโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นความรับผิดด้วย.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีละเลยการชำระหนี้ก่อนเฉลี่ยคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น มีความรับผิดต่อเจ้าหนี้
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าบริษัทลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้ให้บริษัทเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1264 กลับเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือแก่บรรดาผู้ถือหุ้นไปจนหมด จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 แสดงว่าผู้ร้องจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อบริษัทเจ้าหนี้ตาม มาตรา 422
เมื่อหนี้สินระหว่างบริษัทเจ้าหนี้ และบริษัทลูกหนี้ยังไม่ได้รับการชำระสะสางให้เสร็จสิ้นไป การชำระบัญชีของบริษัทลูกหนี้ก็ยังไม่สำเร็จลง และผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้มิได้วางเงินที่เหลือตามบทบัญญัติว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือ การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 ผู้ร้องจึงจะอ้างว่าได้กระทำไปโดยสุจริตตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1077/2525 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ชำระบัญชีละเลยการชำระหนี้ก่อนเฉลี่ยคืนเงินให้ผู้ถือหุ้น ถือเป็นการละเมิดต่อเจ้าหนี้
ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้รู้อยู่แล้วว่าบริษัทลูกหนี้เป็นหนี้บริษัทเจ้าหนี้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ได้จัดการใช้หนี้ให้บริษัทเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1264 กลับเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือแก่บรรดาผู้ถือหุ้นไปจนหมด จึงเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 แสดงว่าผู้ร้องจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อบริษัทเจ้าหนี้ตาม มาตรา 422
เมื่อหนี้สินระหว่างบริษัทเจ้าหนี้และบริษัทลูกหนี้ยังไม่ได้รับการชำระสะสางให้เสร็จสิ้นไป การชำระบัญชีของบริษัทลูกหนี้ก็ยังไม่สำเร็จลงและผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทลูกหนี้มิได้วางเงินที่เหลือตามบทบัญญัติว่าด้วยวางทรัพย์สินแทนชำระหนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเพื่อลงมติเฉลี่ยคืนเงินที่เหลือ การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1270 ผู้ร้องจึงจะอ้างว่าได้กระทำไปโดยสุจริต ตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวไม่ได้
of 2