คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 ม. 11

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชอบด้วยกฎหมาย แม้รายงานสืบเสาะฯขัดแย้ง ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐาน
จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7978-7979/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดฐานทำร้ายร่างกายหลายกรรมต่างกัน การรับฟังรายงานพนักงานคุมประพฤติ
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสี่เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยทั้งสี่สถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยทั้งสี่ต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่เป็นอย่างไร ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตาม ป.อ.ฯ มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยทั้งสี่เท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่จำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งห้าโดยรวม ไม่ได้แยกว่าใครเป็นใคร อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกัน เป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสี่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหลายกรรมต่างกันซึ่งความผิดทั้งห้าฐานเป็นคนละขั้นตอน อีกทั้งจำเลยทั้งสี่ก็ให้การรับสารภาพตามฟ้องถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหายทั้งห้าแยกออกจากกัน การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3469/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สถานะจำเลยเป็นลูกจ้างหรือไม่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อความผิด พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ ศาลต้องสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
แม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 ศาลมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ต้องเป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลย มิใช่รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อนำมาวินิจฉัยความผิดของจำเลยตามฟ้อง ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องโจทก์ไม่ได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งบทบัญญัติในมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ที่จะลงโทษเฉพาะผู้ประกอบกิจการไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการที่ต้องไปขออนุญาตจากนายทะเบียนดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ อันเป็นกรณีไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ จึงชอบที่ศาลจะแจ้งรายงานดังกล่าวให้โจทก์และจำเลยทราบแล้วสอบข้อเท็จจริงจากจำเลย รวมทั้งอธิบายฟ้องและสอบคำให้การจำเลยในข้อหานี้ใหม่ หากจำเลยยืนยันว่าเป็นลูกจ้างโจทก์ก็มีสิทธิขอนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมหรือศาลจะสั่งให้โจทก์นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยในข้อหานี้เพื่อให้ได้ความว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนก่อนหรือไม่ก็ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 176 และมาตรา 228 แต่หากจำเลยขอถอนการให้ถ้อยคำในส่วนของการเป็นลูกจ้างและยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลจึงรับฟังข้อเท็จจริงยุติตามฟ้องโจทก์ได้ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้สอบโจทก์และจำเลยถึงข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติดังกล่าว กรณีจึงยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในความผิดข้อหานี้หรือไม่ จึงยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในความผิดนี้ ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสอบข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นลูกจ้างหรือผู้ประกอบกิจการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ สอบคำให้การจำเลยในข้อหาความผิดดังกล่าว และสอบโจทก์เกี่ยวกับการสืบพยานโจทก์ในข้อหาความผิดนี้แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2775/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้รายงานการสืบเสาะและพินิจประกอบการพิจารณาโทษและการวินิจฉัยความผิดฐานใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิด
การที่ศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์ และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 364, 335 ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยนั้น ก็เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควร และเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องของโจทก์แม้เพียงบางส่วนก็ไม่ได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของจำเลยครั้งนี้ไม่ปรากฏเหตุอันจะทำให้จำเลยต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ และยกฟ้องโจทก์บางส่วนนั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8320/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานสืบเสาะฯ ไม่ใช่พยานหลักฐานโจทก์ ศาลไม่อาจนำลงโทษจำเลยได้
รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติในสำนวนคดีอาญาไม่ใช่เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 วรรคหนึ่ง ทั้งเป็นเอกสารลับในสำนวนคดีอื่น จำเลยไม่มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน ศาลไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7114/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อจากคดีอาญาอื่น แม้ไม่ได้ระบุหมายเลขคดีในคำฟ้อง ศาลสามารถพิจารณาจากรายงานสืบเสาะและพินิจได้
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งที่ฟ้องมาพร้อมกัน ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโจทก์จำเลยในคดีอาญาดังกล่าว แต่โจทก์มิได้ระบุหมายเลขคดีไว้เนื่องจากโจทก์ยังไม่ทราบหมายเลขคดีจนกว่าโจทก์จะได้ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นได้นัดฟังคำพิพากษาในวันอื่น ข้อเท็จจริงที่ได้จากรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติซึ่งศาลชั้นต้นให้คู่ความทราบแล้วคู่ความไม่ติดใจคัดค้านปรากฏว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดตามคดีอาญาของศาลชั้นต้น เท่ากับจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงใน ข้อที่ว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ และถือได้ว่าศาลชั้นต้นทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยถูกฟ้องเป็นอีกคดีหนึ่งตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีนี้ภายหลังจากที่มี คำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังรายงานคุมประพฤติในคดีอาญา: ข้อจำกัดและขอบเขตการใช้พยานหลักฐาน
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย เมื่อปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่าจำเลยมิได้พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
การที่ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย แต่เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงแล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตามมาตรา 176 และมาตรา 228 ดังนั้น เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้งศาลฎีกาจึงให้สืบพยานเพิ่มเติมว่าจำเลยพาผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของมารดาเพื่อจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้เสร็จแล้วให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 208(1) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังรายงานสืบเสาะและพินิจเพื่อวินิจฉัยความผิดทางอาญา ศาลต้องพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลยต่อไปเท่านั้น มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้พนักงานคุมประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล
แม้ตาม พ.ร.บ. วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นการรับฟังเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยกฟ้องจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 ซึ่งในคดีอาญานั้น แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ศาลก็ยังมีหน้าที่จะต้องพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ว่าจะลงโทษได้หรือไม่ ศาลจะลงโทษจำเลยได้ก็แต่เมื่อเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดและไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมายเท่านั้น และเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้จำเลยจะให้การรับสภาพ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคแรก ก็ได้บัญญัติว่า ในชั้นพิจารณาถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ แสดงว่าแม้ในคดีที่มีข้อหาความผิดที่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาคดีต่อไปได้โดยมิต้องสืบพยานก็ตาม แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่แล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ มิใช่ต้องฟังตามคำรับสารภาพของจำเลยเสียทีเดียว นอกจากนี้ในระหว่างพิจารณา ป.วิ.อ. มาตรา 228 ยังให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติมได้ด้วย เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลย เพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่า จำเลยกระทำการตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจริงหรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้ และเมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานในประเด็นดังกล่าวแล้ว ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปก็ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานสืบเสาะฯ ใช้ได้เฉพาะพิจารณาโทษ ไม่ใช้พิสูจน์การกระทำผิด
การที่ศาลสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความประพฤติ ฯลฯตลอดจนสภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับตัวจำเลยนั้น มิใช่เรื่องที่ศาลสั่งให้มีการสืบพยานเกี่ยวกับการกระทำที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นความผิด แต่เป็นเรื่องสืบเสาะข้อเท็จจริงเพื่อนำมาใช้ในการพิจารณาโทษและวิธีการที่จะปฏิบัติต่อจำเลยเท่านั้น ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติตามมาตรา 11 โดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบก็ตาม แต่ก็เป็นพยานสำหรับการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการต่อผู้กระทำผิดเท่านั้น หาใช่พยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยไม่ จึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้