คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 73 วรรคสอง (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9103/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแปรรูปไม้หวงห้าม การลงโทษตามกฎหมายป่าไม้
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า จำเลยกับพวกร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยใช้เลื่อยโซ่ยนต์ตามฟ้องข้อ 2.1 ตัดทอนไม้ให้เปลี่ยนรูปไปจากเดิมและบรรยายฟ้องในข้อ 2.3 ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่ อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ให้เป็นแผ่น ได้ไม้สักแปรรูป 49 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.72 ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้ประดู่แปรรูป 19 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.16 ลูกบาศก์เมตร ตามคำฟ้องดังกล่าวมีความหมายในตัวว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักและไม้ประดู่โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 73 วรรคสอง (1) เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพและไม้ที่จำเลยที่ 1 กับพวกตั้งโรงงานเป็นไม้สัก การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15073/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาแก้โทษในคดีป่าไม้: ศาลอุทธรณ์แก้โทษเล็กน้อย ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด ฎีกาขอรอการลงโทษต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง, วรรคสอง (1) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไป ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 เดือน ฐานมีไม้สักและไม้เหียงแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน บวกโทษจำคุก 18 เดือน ที่รอการลงโทษไว้แล้ว เป็นจำคุก 27 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานแปรรูปไม้เหียงและไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี อันเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคหนึ่ง ทั้งสองฐานความผิด เป็นลงโทษจำเลยฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานแปรรูปไม้สักโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง และ 73 วรรคสอง (1) ทั้งสองฐานความผิด จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขโทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้หวงห้ามรวมถึงการควบคุมการขนย้าย แม้ไม่ใช่เจ้าของโดยตรง ก็ถือเป็นความผิดร่วมกันได้
คำว่า "ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด ทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน เมื่อได้ความจากการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมาควบคุมการขนไม้หวงห้ามของกลางให้แม่เลี้ยง ต. อันเป็นการกระทำผิดร่วมกันจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกครอบครองไม้ของกลางแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รอการลงโทษจำคุกคดีทำไม้ฐานความผิดไม่ร้ายแรงและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดได้
ไม้สักแปรรูปที่เจ้าพนักงานยึดเป็นของกลางในคดีนี้มีจำนวนเพียง 1 แผ่น ปริมาตร 0.268 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนักประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 58 และเนื่องจากการรอการลงโทษด้วยเหตุสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์ตามรูปคดีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเช่นกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอการลงโทษจำคุกดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ป.อ. มาตรา 89
ความผิดฐานทำไม้เป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ อันเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนักตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 233/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลลดโทษและรอการลงโทษเนื่องจากพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง
แม้จำเลยทั้งสามใช้เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำไม้และแปรรูปไม้ แต่ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่า ไม้ยางที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแปรรูปนั้นอยู่ในเขตที่ดินของนาย ส. ญาติจำเลยที่ 1 มิได้ขึ้นอยู่ในป่า ทั้งนาย ส. ก็อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ตัดไม้ได้ เพียงแต่จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการขออนุญาตทำไม้และแปรรูปไม้ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสามกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 56 แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ มาตรา 69 ด้วย ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นกรณีการมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จึงเป็นการปรับบทไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 115/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำไม้กับความผิดฐานพยายามทำไม้ และการจ่ายสินบนรางวัลตามกฎหมาย
พระราชบัญญัติ ญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5) บัญญัติว่า"ทำไม้" หมายความว่า ตัด ฟัน กานโค่นลิดเลื่อนผ่าถาก ทอน ขุดชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ " ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้โดยการตัด ฟัน พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มิได้ให้ความหมายพิเศษของคำว่า ตัด ฟัน และการกระทำอื่น ๆ อันเป็นการทำไม้ไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปของคำเหล่านั้น ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525ได้ให้ความหมายของคำว่า "ตัด" ว่า ทำให้ขาดด้วยของมีคม ทอนคำว่า "ฟัน" หมายถึง เอาของมีคมเช่นดาบฟันลงไป เช่น ฟันคลื่นคือเอาหัวเรือตัดคลื่นไป "กาน" หมายถึงตัดเพื่อให้แตกใหม่ "โค่น"หมายถึง ล้มหรือทำให้ล้มอย่างต้นไม้ล้ม ทลายลง "ลิด" หมายถึงเด็ดหรือตัดเพื่อแต่ง "เลื่อย" หมายถึง ตัดด้วยเลื่อย ความหมายของคำว่า "ทำไม้" ไม่ว่าด้วยวิธี ตัด ฟัน กานโค่นลิด เลื่อย ผ่าถาก ทอน ขุด ชักลาก หรือนำไม้ออกจากป่า ล้วนแต่ทำให้เห็นว่าต้องเป็นการทำให้ต้นไม้ขาดจากลำต้นหรือจากพื้นดินที่ต้นไม้นั้นปลูกอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484ที่ห้ามมิให้ทำไม้โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และถือเป็นความเป็นดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 และ 73 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นก็เพื่อมิให้มีการทำลายป่าและเพื่อรักษาทรัพยากรและความสมดุล ทางธรรมชาติไว้ เมื่อปรากฏว่าต้นยางที่จำเลยตัดมีขนาดเส้นรอบวงของลำต้นตรงที่ถูกตัดถึง 1.80 เมตร และสูง 16 เมตร มีร่องรอยการตัดด้วยเลื่อยเพียง 2 รอย สึกเพียง 1 นิ้ว และยาว 5 นิ้วเท่านั้น ต้นยางดังกล่าวมิได้โค่นล้มหรือตายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นเพียงการลงมือกระทำความผิดฐานทำไม้แต่กระทำไปไม่ตลอดเป็นความผิดฐานพยายามทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มิใช่ความผิดสำเร็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบ จ่ายรางวัลร้อยละสิบห้าของค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น ปรากฏว่า พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนกับรางวัลและปรากฏตามพระราชบัญญัติ ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 7 และ 8 ว่า สินบนและรางวัลให้จ่ายจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบนั้นไม่อาจขายได้ ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาลซึ่งคดีนี้ไม่ปรากฏว่าไม่อาจขายของกลางได้ ทั้งให้จ่ายรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบ ไม่ใช่ร้อยละสิบห้าตามประกาศที่ในราชกิจจานุเบกษาซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอแก้ไขเพราะประกาศดังกล่าวไม่สามารถจะแก้บทกฎหมายที่ตราไว้แล้วประกอบกับตามฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้ศาลสั่งจ่ายรางวัลเพียงร้อยละสิบห้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาจึงยังไม่ถูกต้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้เถื่อน: การมีส่วนร่วมและเจตนาของผู้ครอบครอง
ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะเข้าจับกุมไม้แปรรูปและมิได้แปรรูปของกลาง เจ้าพนักงานสืบสวนแล้วทราบว่าบริเวณโรงสีของจำเลยที่ 2 ที่เกิดเหตุเป็นแหล่งลักลอบขนไม้เถื่อน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงสีทุกอย่างในเมื่อจำเลยที่ 2ไม่อยู่ หากจำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนร่วมในการมีไม้ของกลางไว้ในครอบครอง ก็ไม่มีเหตุอันใดที่จำเลยที่ 1 จะปล่อยให้รถบรรทุกไม้จำนวนถึง 13 คันคลุมด้วยผ้าใบเข้าไปจอดในบริเวณโรงสีซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด บางคันซุกซ่อนอยู่ในโกดังโดยจำเลยที่ 1 ไม่ตรวจสอบ และเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ก็ให้การว่าเคยพบเห็นรถบรรทุกในลักษณะนี้เข้ามาจอดในโรงสีหลายครั้งแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของโรงสีถ้ามิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิดด้วยแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะยินยอมให้รถบรรทุกไม้ของกลางเข้ามาจอดในโรงสีของตนได้เช่นนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นตัวการมีไม้แปรรูปและมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดตามฟ้อง