คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 69 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้แก้ไขบทมาตราที่ฟ้องผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพิจารณาโทษปรับให้เหมาะสม
วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก
จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพ การพิสูจน์องค์ประกอบความผิด การรับสิทธิจากผู้มีอำนาจ
โจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญากรุงเบิร์น กับเป็นประเทศภาคีในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า อันเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ได้ทำและนำออกสู่สาธารณชนซึ่งรายการกีฬาทางโทรทัศน์ช่อง "ESPN" กับ "STAR SPORTS" และรายการข่าวทางโทรทัศน์ข่าว "CNN" ตามลำดับ โดยการแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ จึงเป็นผู้สร้างสรรค์ซึ่งมีลิขสิทธิ์ร่วมกับบริษัทยูบีซี (UBC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นทรูวิชันส์ (true visions) ทำความตกลงการมีสิทธิเด็ดขาดแต่ผู้เดียวในการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแก่สมาชิกผู้รับบริการภายในเขตประเทศไทย แต่จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ทั้ง 3 ช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ ล. ทั้งปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ด้วยว่า การรับภาพและเสียงนั้น หากที่จอเครื่องรับโทรทัศน์ไม่ปรากฏเครื่องหมาย "UBC" แสดงว่าเป็นการรับภาพและเสียงจากต้นกำเนิดโดยตรง กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการช่องดังกล่าวมาจาก ล. ที่ประเทศมาเลเซีย จำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำแก่งานของโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดและไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าดังที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาว่าจำเลยทั้งสองได้รับสิทธิการแพร่ภาพแพร่เสียงจาก ล. มาโดยชอบหรือไม่ ล. ได้รับมอบสิทธิจากโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ให้ทำการแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ช่องดังกล่าวแต่ผู้เดียวในประเทศมาเลเซียและมีสิทธิอนุญาตช่วงให้จำเลยทั้งสองทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 อาจไปว่ากล่าวเอาแก่ ล. หรือไม่ต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางจึงไม่ใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดไม่อาจริบได้ ต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: การพิสูจน์ฐานะผู้เสียหายและหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิ
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ชัดเจนพอที่จะฟังได้ว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิ ในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิดังกล่าว การร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศซึ่งก็ต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วย และไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจนหากมีความประสงค์เช่นนั้นจริง และหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าบริษัท บ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4675/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: ความชัดเจนของผู้เสียหายและหนังสือมอบอำนาจ
ตามคำฟ้องไม่ชัดเจนพอฟังได้ว่า สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในการยับยั้งและจัดเก็บสิทธิในภาพยนตร์หมายถึงอะไร เจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิในการใช้ดุลพินิจพิจารณาข้อดีข้อเสียในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยด้วยตนเองเพียงผู้เดียวหรือไม่ หากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศยังคงสงวนสิทธิการร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จะทำได้ต้องทำในฐานะตัวแทนเจ้าของสิทธิในต่างประเทศ ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของสิทธิในต่างประเทศให้ทำเช่นนั้นได้ด้วยและไม่เป็นการยากที่เจ้าของสิทธิในต่างประเทศจะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิหรือทำหนังสือมอบอำนาจให้ชัดเจน หากมีความประสงค์เช่นนั้นจริงและหากมีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องระบุไว้ในคำบรรยายฟ้องให้ชัดเจน เพื่อมิให้กระทบถึงเสรีภาพของจำเลยทั้งห้าในการที่อาจถูกดำเนินคดีซ้ำสอง ตามคำฟ้องโจทก์ยังไม่มีความชัดเจนในข้อนี้ กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า บริษัท บ. ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งห้าในความผิดฐานเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต การแจ้งความร้องทุกข์โดยบริษัท บ. จึงไม่ใช่การแจ้งความร้องทุกข์ตามกฎหมาย ทำให้การสอบสวนไม่ชอบและโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ไม่อุทธรณ์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์เพลงผ่านระบบแชร์เน็ตเวิร์ค: โจทก์ต้องพิสูจน์การกระทำความผิดฐานทำซ้ำ ไม่ใช่แค่เผยแพร่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ร่วมโดยการนำเอาเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามฟ้องมาทำซ้ำลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) แล้วติดตั้งในระบบเอ็มพี 3 ใช้ระบบแชร์เน็ตเวิร์ค ซึ่งเมื่อใช้แผ่นซีดีที่มีเพลงเอ็มพี 3 ใส่เข้าไปในหน่ายประมวลผลกลางแล้วพ่วงกับหน่วยประมวลผลกลางอื่นสามารถเรียกเพลงออกมาฟังได้โดยมีสัญญาภาพออกมาทางจอมอนิเตอร์เรียกเก็บค่าบริการจากลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 28 และ 68 แสดงว่า โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุหรือสิ่งบันทึกเสียงซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุใหม่ในหน่วยประมวลผลกลางนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นมาใหม่หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในหน่วยประมวลผลกลางดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (2) และไม่อาจถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นมาใหม่โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรทางการด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายมาตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7873/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องทุกข์แจ้งความและขอบเขตความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ การทำซ้ำ vs. การเผยแพร่
เจตนารมณ์ของกฎหมายในการร้องทุกข์ก็เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทราบว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและประสงค์จะให้มีการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และต่อมาได้นำเจ้าพนักงานตำรวจค้นร้านที่เกิดเหตุและจับจำเลยส่งพนักงานสอบสวน จากนั้น ร. จึงได้ร้องทุกข์อีกครั้ง โดยการร้องทุกข์ครั้งหลังมีข้อความระบุถึงตัวผู้กระทำผิดและลักษณะของความผิดชัดเจนถือได้ว่าคดีนี้มีการร้องทุกข์โดยชอบและทำให้การสอบสวนในเวลาต่อมาชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายโดยนำเอางานซึ่งมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องไปบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูล แล้วแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นสัญญาภาพและเสียง แพร่ภาพ เนื้อร้อง และทำนองทางจอมอนิเตอร์ และแพร่เสียงทางลำโพงสำหรับลูกค้า ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 29 และ 69 แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ หรือสิ่งบันทึกเสียง ซึ่งไม่ใช่เรื่องการกระทำผิดเกี่ยวกับการแพร่งานดังกล่าวต่อสาธารณชน เพราะงานที่ถูกบรรจุในเครื่องอ่านข้อมูลนั้นเป็นงานที่ถูกทำซ้ำขึ้นใหม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การเผยแพร่งานที่บรรจุไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อสาธารณชนจึงไม่ใช่ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2), 28 (2) และไม่อาจถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะขอให้ลงโทษจำเลยในเรื่องการเผยแพร่งานซึ่งได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชน อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (3) ด้วย เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายตรานี้ไว้ในคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์แพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า โดยการติดตั้งอุปกรณ์และถ่ายทอดสัญญาณในอาคารพักอาศัย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณ รับเสียงและภาพ ภาพยนตร์รายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วม แล้วแพร่หรือถ่ายทอดสัญญาณนั้นผ่านสายรับสัญญาณไปยังห้องพักที่จำเลยให้บริการ อันเป็นการจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพภาพยนตร์รายการโทรทัศน์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาต และเมื่อจำเลยจัดทำเพื่อให้ผู้เช่าห้องพักในอาคารที่พักของตนได้รับชมโดยผู้เช่าต้องเสียค่าเช่าซึ่งรวมถึงบริการสัญญาณเสียงและภาพตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำความผิดเพื่อการค้า
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดต่อเนื่องโดยมีเจตนาเดียวคือเพื่อให้ผู้เช่าห้องพักของตนได้รับฟังและรับชมรายการโทรทัศน์ที่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ซึ่งตราบใดที่จำเลยยังคงแพร่เสียงแพร่ภาพก็ยังเป็นการกระทำความผิดฐานนี้ การกระทำความผิดทั้งสองวันตามฟ้องจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว หาใช่หลายกรรมต่างกันดังฟ้องไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพเพื่อการค้า ข้อสันนิษฐานเรื่องลิขสิทธิ์ และอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 62 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า งานที่มีการฟ้องร้องในคดีนั้นเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เว้นแต่จำเลยจะโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ซึ่งข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานในข้อเท็จจริงที่ศาลจะรับฟัง เว้นแต่จะปรากฏข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ แต่หากข้อเท็จจริงในสำนวนคดีนี้ปรากฏต่อศาลเองว่างานที่ฟ้องร้องกันนี้มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้ลงโทษทางอาญา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยรับสัญญาณภาพและเสียงของโจทก์ร่วมที่ส่งสัญญาณไปตามสายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง จากนั้นใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับสายสัญญาณเคเบิ้ลเข้าเครื่องถอดรหัสสัญญาณไปพ่วงต่อเข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ของจำเลย แล้วขยายสัญญาณโทรทัศน์แยกและต่อสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพไปยังห้องเช่าต่าง ๆ ของผู้พักอาศัยในอาคารของจำเลย โดยจำเลยได้รับผลประโยชน์จากค่าเช่าห้องพักและค่าบริการจากผู้เช่าเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมทั้งสอง ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการจัดทำงานแพร่ภาพแพร่เสียงอีกทอดหนึ่ง ซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้า จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2572/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลิขสิทธิ์ภาพยนตร์: การทำซ้ำโดยผู้ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมต้นฉบับ
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ตามสัญญาให้ใช้ลิขสิทธิ์ให้นำงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้นำงานวรรณกรรมนั้นไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้เมื่อปี 2528 ซึ่งเป็นการสร้างภาพยนตร์ภายใน 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาดังกล่าวในปี 2527 แสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่ได้ทำไว้กับโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมนั้นแล้ว
จำเลยที่ 1 นำงานวรรณกรรมของโจทก์มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ จำเลยที่ 1 จึงมีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ที่ได้ดัดแปลงขึ้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำซ้ำ หรือดัดแปลง หรือนำออกโฆษณาซึ่งงานภาพยนตร์ หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้น ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์นั้นแก่ผู้อื่น และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือนำออกโฆษณาหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานภาพยนตร์นั้นตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ทันทีที่สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นเสร็จ และมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานภาพยนตร์นั้นเพิ่มขึ้นอีกตามมาตรา 15 (3) และมาตรา 78 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ในวันที่ 22 มีนาคม 2538 อันเป็นวันที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ใช้บังคับ โดยมีอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์เป็นเวลา 50 ปี นับแต่ปี 2528 อันเป็นปีที่จำเลยที่ 1 ได้สร้างสรรค์งานภาพยนตร์นั้นขึ้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 มาตรา 18 ประกอบมาตรา 16 วรรคท้าย
อย่างไรก็ตามสิทธิที่จำเลยที่ 1 มี นั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ เดิมที่ถูกดัดแปลงนั้น ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยที่ 1 ดัดแปลงวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และสิทธิแต่ผู้เดียวของโจทก์ในงานวรรณกรรมคงมีอยู่ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ซึ่งมีอยู่ตลอดชีวิตของโจทก์ผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีก 30 ปีนับแต่โจทก์ถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ.2474 มาตรา 5 (ข) และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์สร้างสรรค์งานวรรณกรรมเรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้ โดยโจทก์ไม่มีลิขสิทธิ์ในงานภาพยนตร์ เพราะเป็นงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดัดแปลงงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับอนุญาตจากโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานภาพยนตร์มีลิขสิทธิ์เรื่องผีเสื้อและดอกไม้ เป็นงานในรูปแบบใดก็ได้ อันเป็นสิทธิที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยผลของกฎหมาย แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะระบุให้จำเลยที่ 1 สามารถนำภาพยนตร์ที่สร้างไว้ออกทำซ้ำและเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยไม่ได้ระบุถึงการทำในรูปแบบวิดีโอซีดี ก็ไม่ทำให้สิทธิแต่ผู้เดียวของจำเลยที่ 1 ในการทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์ดังกล่าว อันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและได้มาโดยผลของกฎหมายนั้นเสียไป เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ของตนได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของตนเท่านั้น ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 อนุญาตให้บริษัทจำเลยที่ 7 นำภาพยนตร์เรื่อง ผีเสื้อและดอกไม้อันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ไปทำซ้ำและนำออกจำหน่ายในวัสดุรูปแบบวิดีโอซีดีจึงไม่ใช่การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานวรรณกรรมเรื่องผีเสื้อและดอกไม้ซึ่งโจทก์มีลิขสิทธิ์ จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์: การจำกัดขอบเขตความผิดและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยความจำเครื่องคอมพิวเตอร์ อันเป็นการทำซ้ำงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (1) และมีความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ส่วนการที่จำเลยเปิดให้บริการแก่ลูกค้าเป็นการทำให้ปรากฏซึ่งงานดนตรีกรรมเพลงชุดพิพาท โดยไม่มีการทำให้ปรากฏซึ่งชุดคำสั่งที่เป็นงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงมิใช่กรณีที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 30 (2) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง
โปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นงานที่เกิดจากการแสดงออกซึ่งความคิดจึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ส่วนสิ่งที่ศาลจะให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 นั้น หมายถึงสิ่งซึ่งเป็นวัตถุที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ทำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาบันทึกลงในหน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ หน่วยบันทึกความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงเป็นเป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยอยู่ จึงต้องพิพากษาให้หน่วยบันทึกความจำเครื่องคอมพิวเตอร์นี้ตกเป็นของผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75
of 3