คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ม. 69 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9960/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรม: การกระทำโดยเจตนาและอาศัยผู้อื่นเป็นเครื่องมือ
การกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของผู้อื่นด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และการกระทำอันเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นด้วยการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) บุคคลผู้กระทำการเช่นว่านั้นจะต้องรับผิดทางอาญาในความผิดดังกล่าวต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนากระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดด้วย ตาม ป.อ. มาตรา 17 และมาตรา 59 ผู้ที่จะต้องรับโทษทางอาญาในความผิดดังกล่าวในกรณีการทำซ้ำหรือดัดแปลงนั้นนอกจากผู้กระทำจะต้องรู้ว่างานที่ตนทำซ้ำหรือดัดแปลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นแล้ว ผู้กระทำยังต้องรู้ด้วยว่าเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงซึ่งงานนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนกรณีการนำออกขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ผู้กระทำต้องรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบกรณีเจตนาแล้ว ยังเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2) ด้วย โดยผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์อาจเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดนั้นโดยการกระทำทางกายภาพด้วยตนเองโดยมีเจตนากระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือได้ใช้หรือหลอกให้บุคคลอื่นซึ่งไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งการกระทำความผิดซึ่งไม่มีความรับผิดในทางอาญาดังกล่าวเป็นผู้กระทำการแทนโดยมีเจตนาให้บุคคลอื่นนั้นมีสภาพดังเช่นเครื่องมือในการกระทำความผิดของผู้นั้นเองก็ได้ เมื่อได้ความตามเอกสารว่าจำเลยที่ 1 รับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของสิทธิคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนทั้งปวงในทุกอาณาเขตทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว และรับรองว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับสิทธิผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาที่มีสัญลักษณ์รูปอุลตร้าแมนโดยถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ในนามบริษัท บ. จึงทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาอุลตร้าแมน ตามฟ้องรวมห้าแบบจำนวน 425,000 ชิ้น ในเขตประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิอุลตร้าแมนดังกล่าวจำนวน 818,584 บาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อประกอบเอกสารอธิบายฉลากสินค้าดังกล่าวว่าฉลากสินค้าที่อยู่ในซองบรรจุสินค้านั้นมีข้อความภาษาอังกฤษระบุไว้ว่า "Ultraman Characters (c) Sompote Saengduenchai All rights reserved Products by KFC" อันแปลความได้ว่าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 สงวนสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผลิตภัณฑ์นี้ทำโดยเคเอฟซี แสดงว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนในขณะนั้นรวมถึงอุลตร้าแมนตามที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ด้วยว่า จำเลยที่ 1 ลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์ว่าโจทก์กับตัวแทนของโจทก์แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนคอสมอส และประกาศจะเผยแพร่สิทธิทางการค้าในผลงานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังประกาศโฆษณาว่าขอให้โจทก์และตัวแทนของโจทก์ยุติการดำเนินการดังกล่าว มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดี และพยานเคยถูกจำเลยที่ 1 ฟ้องเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนมาโดยตลอด รวมตลอดถึงลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานในอุลตร้าแมนที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ด้วย แม้ในขณะที่โจทก์ตรวจพบสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้อง และยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.459/2543 โดยวินิจฉัยสรุปใจความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 มิใช่ผู้สร้างสรรค์ร่วม สัญญาให้ใช้สิทธิ ฉบับวันที่ 4 มีนาคม 2519 ในคดีดังกล่าวไม่ใช่เอกสารปลอมจึงมีผลผูกพันโจทก์ เฉพาะลิขสิทธิ์ในผลงานภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าวโอนไปยังจำเลยที่ 1 ส่วนภาพยนตร์อุลตร้าแมนตอนใหม่ๆ ที่โจทก์ผลิตขึ้นย่อมเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เท่านั้น โจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในปัญหาว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมกับโจทก์หรือนายเอยิหรือไม่ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลาย โดยมีสาระสำคัญว่าสัญญาให้ใช้สิทธิระหว่างบริษัท ซ. กับจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และขอบเขตการมีผลบังคับใช้ของสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวมีผลครอบคลุมให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ที่โจทก์ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายภายหลังจากที่มีการทำสัญญาให้ใช้สิทธิ ในคดีดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่มีผลคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวย่อมต้องผูกพันตามผลคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าตามผลคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 อ้างถึงมาโดยตลอดนั้นได้วินิจฉัยถึงสิทธิในความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนว่าเป็นของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ในผลงานดังกล่าวในฐานะผู้สร้างสรรค์ร่วมแต่อย่างใด รวมทั้งโดยผลคำพิพากษาของศาลดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีลิขสิทธิ์เฉพาะภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้ใช้สิทธิโดยไม่รวมถึงลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนหรือภาพยนตร์เกี่ยวกับอุลตร้าแมนที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นหลังจากมีข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนดังกล่าว ทั้งภายหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ลงประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น มีข้อความตอนต้นว่า บริษัท ซ. ซึ่งเป็นบริษัทของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนหรือยอดมนุษย์ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ โดยได้รับโอนสิทธิจากโจทก์ และบริษัทดังกล่าวได้อนุญาตให้บริษัทต่างๆ จำนวนมากใช้สิทธิซึ่งบริษัทดังกล่าวมีอยู่ แสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์อันเป็นเหตุที่คนทั่วไปย่อมต้องเข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 1 อ้างตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับและเกี่ยวเนื่องกับอุลตร้าแมนทั้งหลายทั้งที่ในขณะนั้นศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาว่าสัญญาให้ใช้สิทธิมีผลใช้บังคับได้จริง และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนสิทธิเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์จำนวน 9 เรื่อง ตามที่ระบุชื่อไว้ในสัญญาดังกล่าวเท่านั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่แสดงตนเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้อง ทั้งที่ทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานสร้างสรรค์ประเภทศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมในผลงานเกี่ยวกับอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมิได้รวมอยู่ในข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ก่อนหน้านั้น แล้วจำเลยที่ 1 อนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวโดยการทำซ้ำหรือดัดแปลงผลิตเป็นตุ๊กตาออกจำหน่ายจ่ายแจกและโฆษณาเผยแพร่โดยจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการกระทำดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เองต่อผลงานอุลตร้าแมนของโจทก์ที่แสดงออกในรูปของงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรม โดยอาศัยผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 ดังเช่นจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่อยู่ในฐานะผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์แต่อยู่ในฐานะตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) ของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากจำเลยที่ 1 เข้าใจโดยสุจริตตามข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในผลงานอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องได้ จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้กระทำความผิดเองโดยอ้อม เมื่อพิจารณาสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนพลังถีบสามล้อรวมห้าแบบซึ่งดัดแปลงขึ้นโดยอาศัยหนังสือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาแล้วพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามฟ้องที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น และเป็นความคล้ายคลึงกันในส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพราะคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นอุลตร้าแมนลักษณะเดียวกันกับอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบที่โจทก์สร้างสรรค์เป็นงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมแล้วดัดแปลงเป็นงานภาพยนตร์ พยานหลักฐานตามที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อควรสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ในงานอุลตร้าแมนรวมทั้งสิ้นห้าแบบตามที่โจทก์ฟ้อง และสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นเป็นการดัดแปลงงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 อาศัยจำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และการที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานสร้างสรรค์อุลตร้าแมนทั้งห้าแบบดังกล่าวและมีการผลิตสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องออกจำหน่ายและเพื่อการส่งเสริมการขาย และนำสินค้าตุ๊กตาอุลตร้าแมนนั่งปั่นรถสามล้อทั้งห้าแบบตามฟ้องเผยแพร่โฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายทางโทรทัศน์โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้าจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) และ (2)
เมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลคือการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องของโจทก์ และมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอุลตร้าแมนทั้งห้าแบบตามฟ้องนั้นจะทำซ้ำหรือดัดแปลงแล้วนำออกขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย และโฆษณาเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงคาแรกเตอร์อุลตร้าแมนอันเป็นงานจิตรกรรมทั้งห้าแบบตามฟ้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันในการละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องต้องระบุรายละเอียดภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาชัดเจน มิฉะนั้นถือเป็นฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4488/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการค้า การบรรยายฟ้องต้องครบองค์ประกอบความผิด
การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ที่ผู้เสียหายอนุญาตให้ทำขึ้น หรือทำซ้ำจากบันทึกของงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ก็ล้วนเป็นการกระทำต่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 30 (1) เพราะชุดคำสั่งที่เขียนด้วยภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (source code) หรือภาษาเครื่อง (object code) อันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ซึ่งบันทึกอยู่ในงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือบันทึกอยู่ในบันทึกของงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นเป็นตัวงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 และ 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ หากมีเจตนาเดียวกันและคดีก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) และได้ฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาเดียวกัน มีวันกระทำความผิด และสถานที่เกิดเหตุในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต่างราย การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันเผยแพร่เพลงดังกล่าวต่อสาธารณชนต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นคดีก่อนแล้ว ฟ้องในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องพิจารณาถึงการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่หน่วยความจำ
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกลงในหน่วยความจำถาวร (Hard Disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยใช้วิธีบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ และบรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานพบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทั้งสองทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย เมื่อหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำการละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดประกอบกันจึงจะสามารถทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ กรณีจึงต้องริบเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15707/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ทางโทรทัศน์: การพิสูจน์แหล่งที่มาของสัญญาณและการคุ้มครองตามหลักดินแดน
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2) ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมต้องนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำโดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยทั้งนี้เพราะการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต้องเป็นไปตามหลักดินแดน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยและการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นต้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตประเทศไทย โจทก์ร่วมจึงจะขอให้บังคับใช้สิทธิในลิขสิทธิ์สำหรับงานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ ปรากฏว่ารายการ "National Geographic" เป็นรายการเกี่ยวกับชีวิตของสัตว์และคนซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้สร้างสรรค์เอง เมื่อโจทก์ร่วมได้สร้างสรรค์งานดังกล่าวแล้วจะอนุญาตให้แพร่เสียงแพร่ภาพผ่านทางเคเบิลทีวีซึ่งจะต้องมีการจ่ายค่าตอบแทนจึงจะสามารถแพร่เสียงแพร่ภาพรายการของโจทก์ร่วมได้ การแพร่เสียงแพร่ภาพทางเคเบิลทีวีอาจดำเนินการทางระบบสายและระบบจานโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่รายการของโจทก์ร่วมในประเทศไทยคือบริษัท ย. กับบริษัท บ. โจทก์ร่วมจะยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการดังกล่าวไปยังดาวเทียม จากนั้นดาวเทียมจะส่งสัญญาณกลับมาที่ภาคพื้นดินโดยสมาชิกจะต้องใช้จานหรือเครื่องรับสัญญาณซึ่งต้องมีสมาร์ตการ์ด จึงจะสามารถรับสัญญาณดาวเทียมและชมรายการของโจทก์ร่วมได้ สัญลักษณ์ "National Geographic" เป็นสัญลักษณ์ของโจทก์ร่วมและเป็นสิ่งแสดงว่ารายการนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม ในกรณีที่มีการรับสัญญาณรายการ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. จะปรากฏทั้งสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" ที่หน้าจอโทรทัศน์ โดยสัญลักษณ์นั้นจะปรากฏอยู่คนละด้านกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่างานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ที่โจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต้องเป็นงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่ส่งสัญญาณผ่านบริษัท ย. ไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของสมาชิกเคเบิลทีวีของบริษัท ย. โดยที่หน้าจอโทรทัศน์จะปรากฏสัญลักษณ์ "National Geographic" และสัญลักษณ์ "UBC" อยู่คนละด้าน เมื่อปรากฏว่าที่จอโทรทัศน์ในบ้านที่เกิดเหตุของผู้เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีของจำเลยที่ 1 มีภาพแสดงรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ซึ่งมีสัญลักษณ์"National Geographic" เท่านั้น ไม่มีสัญลักษณ์ "UBC" แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งรายการโทรทัศน์ "National Geographic" โดยกระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองในประเทศไทยของโจทก์ร่วม แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพจากดาวเทียมอื่นซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมที่โจทก์ร่วมยิงสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" ผ่านบริษัท ย. ในประเทศไทย จึงเป็นการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กระทำต่องานแพร่เสียงแพร่ภาพอื่นที่มิใช่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โดยแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำซึ่งงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ "National Geographic" อันมีลิขสิทธิ์ในประเทศไทยของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 29 (2)
เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ของกลางที่โจทก์ฟ้องว่าเป็นสิ่งที่จำเลยทั้งสี่ได้ใช้ในการกระทำความผิดขอให้ริบนั้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ได้ จึงต้องคืนของกลางทั้งหมดแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14298/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ผลิตอาหารปลอม ศาลยืนโทษจำคุกเหมาะสม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมลักษณะงานจิตรกรรมสร้างสรรค์รูปทรง งานภาพพิมพ์ ใช้ชื่องานว่า เอนไซม์ เจนิฟู้ด ตามบัญชีรายชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ภาพและชื่องานศิลปกรรมที่ได้สร้างสรรค์ ข้อมูลลิขสิทธิ์ หนังสือรับรองความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ วันเดือนปีและประเทศที่โฆษณาครั้งแรก เอกสารท้ายฟ้อง จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จำเลยให้การรับสารภาพ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องโจทก์ การที่จำเลยกระทำด้วยวิธีใด ๆ ให้ปรากฏภาพซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมบนกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแล้วนำออกจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมเพื่อการค้า แม้งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมจะถูกนำไปใช้ร่วมกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่งานอันมีลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมก็มีลักษณะแยกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด มิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของกันและกัน จึงเป็นงานคนละประเภทแยกต่างหากจากกันและได้รับความคุ้มครองแยกจากกัน
การกระทำของจำเลยนอกจากก่อให้เกิดความเสียหายโจทก์ร่วมแล้ว ยังเกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคทั่วไป เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลทรัพย์สินฯ พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษให้นั้นเหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6989/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องบรรยายองค์ประกอบความผิดครบถ้วนตามกฎหมาย และพิสูจน์การกระทำความผิดของจำเลย
คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ปรากฏตามสำเนาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในสิทธิทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า ป. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด โจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ป. ให้ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารท้ายฟ้อง ข้อ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า "จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงของ ป. โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้บริการขับร้องเพลงคาราโอเกะแก่บุคคลทั่วไปชนิดห้องส่วนตัวและให้พนักงานมาบริการโดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง ภายในห้องคาราโอเกะมีจอโทรทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งบรรจุข้อมูลเพลงที่พ่วงติดกันพร้อมใช้งานอยู่ โดยใช้รีโมตคอนโทรลในการเลือกเปิดเพลง ตัวแทนของโจทก์เข้าไปใช้บริการขับร้องเพลง จึงพบว่าในสมุดเลือกเพลงมีผลงานเพลงของ ป. อยู่จำนวนมาก มีรายชื่อเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา เพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า และผลงานต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อีกหลายเพลงซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. ประกอบไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณภาพแบบเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงออกทางจอภาพและลำโพง และต่อมาตัวแทนของโจทก์กดเลือกเพลง ก็ปรากฏมีภาพงานเพลง คำร้อง ทำนอง ภาพมิวสิกประกอบเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา และเพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า ซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. โดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง อันเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ป. และโจทก์" เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าได้มีการบันทึกงานดนตรีกรรมและบันทึกเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ทั้งสามเพลงของ ป. ไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิใช่ความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ซึ่งตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน" เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาด้วยก็ตาม แต่ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีองค์ประกอบของความผิดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคุ้มครองลิขสิทธิ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ การบรรยายฟ้องต้องระบุระยะเวลาการคุ้มครอง
องค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) (2) คือ การทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ และองค์ประกอบความผิดในส่วนการกระทำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) คือ การขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และองค์ประกอบทั้งสองมาตราในส่วนของงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้น ต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมายลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครอง โดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมายและต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย เพราะลิขสิทธิ์เป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากพ้นกำหนดอายุการคุ้มครองแล้ว งานลิขสิทธิ์จะตกเป็นงานที่สาธารณชนสามารถใช้ประโยชน์จากงานนั้นได้โดยไม่เป็นความผิด ดังนี้ องค์ประกอบความผิดที่ว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นจึงเป็นสาระสำคัญ การที่จะรู้ว่างานอันมีลิขสิทธิ์ใดยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หากผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลธรรมดาก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี หากผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคลก็จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้ามีการโฆษณางานในระยะเวลาดังกล่าว อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ลิขสิทธิ์ในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวเมื่อใด หรือมีการโฆษณางานหรือไม่ หากมีการโฆษณางาน โจทก์ได้มีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด จึงไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนที่แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ดังกล่าวอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรือไม่ จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7586-7587/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลบนเว็บไซต์ไม่ใช่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทางโปรแกรม
ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 คำว่า "โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงาน หรือเพื่อให้ได้ผลอย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด และตามมาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้แก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้แก่ การทำซ้ำหรือดัดแปลง การเผยแพร่ต่อสาธารณชน การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว ดังนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องทั้งสองสำนวนว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่เพียงผู้เดียวโดยใช้ชื่อผลงานในเว็บไซต์ว่า "ไทยเพอร์ซันแนลคอนเน็กชันส์ (Thai Personal Connections)" และได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ (ที่ถูก แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์) ประเภทงานวรรณกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นงานสิ่งเขียนไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์มีชื่อเว็บไซต์ว่า "Thai Personal Connections" ที่มีข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เอกสารท้ายฟ้องนั้น เมื่อพิจารณาตามเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของโจทก์ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นของโจทก์และข้อมูลที่โจทก์อ้างว่าทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งข้อมูลของโจทก์ที่ปรากฏอยู่บนเว็บเพจในเว็บไซต์โดยโจทก์อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษอันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทย ซึ่งมิใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาษาเครื่อง (machine language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาเครื่องเรียกว่า "object program" หรือเป็นภาษาระดับสูง (high level language หรือ source language) โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขียนด้วยภาษาระดับสูงเรียกว่า "Source program" ดังนั้น ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่คำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใดที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนเป็นภาษาเครื่อง หรือภาษาระดับสูงดังกล่าว เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผลอย่างหนึ่งอย่างใด แต่ข้อมูลของโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วแสดงผลลัพธ์นั้นบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ประกอบกับตามหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เอกสารท้ายฟ้อง โจทก์แจ้งต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่า ผลงานของโจทก์ชื่อ "Thai Personal Connections" เป็นสิ่งเขียนอันเป็นงานวรรณกรรม มิได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ว่างานดังกล่าวเป็นชุดคำสั่งที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานอันเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งเขียนด้วยภาษาเครื่องหรือภาษาระดับสูงแต่อย่างใด แสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังนี้ ตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวที่โจทก์หาว่าจำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูลของโจทก์อันเกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน ที่ดิน สื่อการนัดพบชาวต่างชาติ บริการรับทำวีซ่า รับจัดพิธีสมรส การให้บริการแปลภาษา บริการเช่ารถยนต์ และธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมไทยในเว็บไซต์ ซึ่งปรากฏบนจอภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยการคัดลอกข้อมูลดังกล่าวลงในเว็บไซต์ที่มีชื่อว่า เดอะ ไทย เพอร์ซันแนล ทัช (The Thai Personal Touch) ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อขายแก่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น จึงไม่มีมูลอันจะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 30 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องได้
ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 นั้น โจทก์ระบุเพียงบทกฎหมายที่ขอให้ลงโทษเท่านั้น แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองสำนวนขายของสิ่งใดโดยหลอกลวงอย่างไรให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดใด สภาพ คุณภาพของสิ่งของนั้นว่าเป็นอย่างไร หรือปริมาณของสิ่งของนั้นมีจำนวนเท่าใด อันเป็นความเท็จและความจริงเป็นอย่างไรอันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 ทั้งไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใดในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันจะมีมูลเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) จึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ 272 (1) ได้ดี การบรรยายฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนดังกล่าวย่อมไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
of 3