คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2521 ม. 69

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4438/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และประกอบกิจการภาพยนตร์โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแก้โทษและยกฟ้องบางส่วน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำซ้ำดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบเอ็ดตามฟ้องและมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งงานดังกล่าว เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27, 28, 31, 69 และ 70 ป.อาญา มาตรา 91 จำเลยให้การรับสารภาพตามข้อหาในคำฟ้องซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1), 28 (1), 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1), 28 (1) เพียงกระทงเดียว จึงไม่ถูกต้อง
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน โดยมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ แสดงว่ากิจการร้านวีดิทัศน์ คือ การฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์เท่านั้น ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์ จึงไม่เป็นความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยจัดตั้งหรือประกอบกิจการดังกล่าว ให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายวีดิทัศน์อันเป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 54 วรรคหนึ่ง, 82 แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องโจทก์ไม่ระบุมาตรา 54 มาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 54 จำเลยคงมีความผิดเฉพาะมาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 79

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 564/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้า: การรับฟังคำรับสารภาพ, การพิสูจน์องค์ประกอบความผิด, และการแก้ไขโทษปรับ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31และ 70 เท่ากับโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 70 วรรคสองอยู่ในตัวแล้ว โจทก์หาจำต้องระบุวรรคของบทมาตราดังกล่าวมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยไม่ เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะต้องพิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตามวรรคในมาตรานั้น ๆ ให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าโดยนำออกให้เช่าซึ่งม้วนภาพยนตร์วิดีโอเทปที่มีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 31,70 ซึ่งความผิดดังกล่าวหาได้มีองค์ประกอบความผิดว่า ผู้กระทำผิดจะต้องเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งม้วนวิดีโอเทปของกลางด้วยหรือไม่ อีกทั้งโจทก์มิได้มีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นตามมาตรา 27(1),69 ซึ่งเป็นความผิดคนละอย่างกันมาด้วย ดังนั้นโจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้ทำซ้ำซึ่งม้วนภาพยนตร์วิดีโอเทปของกลางซึ่งเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดดังที่โจทก์ฟ้องศาลก็ลงโทษจำเลยตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์: จำเลยดัดแปลงภาพถ่ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ไม่มีเจตนาค้ากำไรโดยตรง
โจทก์ซึ่งมีสัญชาติไทยเป็นผู้คิดสร้างสรรค์งานภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง"ซึ่งเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมขึ้นมา โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียนดังกล่าวและมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามมาตรา 6,8 และ 15 แห่ง พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯส่วนจำเลยจะเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานภาพเขียนดังกล่าวที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นเพราะโจทก์สร้างสรรค์งานนี้โดยการรับจ้างจำเลยหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 10
งานสร้างสรรค์ที่ผู้รับจ้างทำขึ้นมาจะตกเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างก็ต่อเมื่อการว่าจ้างนั้นมีผลสมบูรณ์ผูกพันกันโดยชอบ การที่โจทก์สร้างสรรค์งานภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง" ขึ้นมานั้น แม้จะมีเหตุมาจากที่จำเลยมาติดต่อกับโจทก์เพื่อให้โจทก์จัดทำป้ายโฆษณาคล้องช้างในงานอยุธยามรดกโลกก็ตาม แต่โจทก์กับจำเลยยังไม่ได้ตกลงกันในเรื่องที่สำคัญคือราคาค่าจ้างรวมทั้งรายละเอียดของภาพโฆษณา ต่อมาโจทก์ได้เขียนภาพต้นแบบขึ้นนำไปให้จำเลยพิจารณา จำเลยขอให้ปรับปรุงรายละเอียดบางประการ จากนั้นโจทก์จึงเสนอราคาค่าจ้าง แต่จำเลยเห็นว่าแพงไปและตกลงกันไม่ได้ จำเลยจึงไม่ว่าจ้างโจทก์ทำป้ายโฆษณาแสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยยังตกลงกันในเรื่องสาระสำคัญของสัญญาไม่ได้ การว่าจ้างหรือสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์จำเลยยังไม่เกิดขึ้น จำเลยจึงไม่ได้เป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ งานที่โจทก์ทำขึ้นจึงไม่ตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย แต่เป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์เพียงผู้เดียว
ภาพเขียน "พิธีคล้องช้าง"ของโจทก์และภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาที่จำเลยทำขึ้นเป็นภาพที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ลักษณะเค้าโครงของภาพท่าทางของช้างและลักษณะเฉพาะของช้าง เช่นการงอเท้าและการยื่นเท้าคล้ายกัน และลักษณะการขยายส่วนของภาพจากภาพต้นแบบไปเป็นภาพในป้ายโฆษณาขนาดใหญ่มีขนาดของส่วนขยายที่คล้ายกัน ช้างตัวหน้ายกขาเหมือนกันตำแหน่งช้างก็อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ช้างตัวหลังมีท่าเดินเหมือนกันบรรยากาศ หรือส่วนประกอบของภาพก็เหมือนกัน ภาพในป้ายโฆษณาเป็นภาพที่มาจากต้นแบบ โดยดูจากการจัดองค์ประกอบของภาพทั้งหมด ตำแหน่งของการวางรูปช้างการยืนและท่าทางของช้าง รวมทั้งฉากหลังภาพซึ่งเป็นเพนียดท่าทางของคนที่อยู่บนหลังช้างรวมทั้งสีของภาพและลักษณะการคล้องช้าง ประกอบกับจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณาขึ้นโดยการถือเอาภาพ "พิธีคล้องช้าง" ของโจทก์เป็นต้นแบบจึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์
การทำป้ายโฆษณาของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเพียงการโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีคล้องช้างของจำเลยก็ตามจำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 69 วรรคสอง
แม้ภาพการคล้องช้างที่จำเลยดำเนินการจัดทำเป็นป้ายโฆษณานำไปติดตั้งโฆษณาอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์จะมีถึง 4 ป้ายด้วยกันก็ตาม แต่ในการจัดทำป้ายโฆษณาทั้ง 4 ป้ายและนำไปติดตั้งโฆษณา 4 แห่ง จำเลยมีวัตถุประสงค์เดียวคือเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์งานอยุธยามรดกโลก จึงเป็นกรณีมีเจตนาละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยเจตนาเดียวเท่านั้น เพียงแต่ได้มีการทำป้ายโฆษณาเพื่อนำออกโฆษณาเผยแพร่หลายแผ่นป้ายด้วยกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 994/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ภาพถ่าย: โจทก์มีสิทธิฟ้องละเมิด แม้มีข้อตกลงกับนางแบบ, การแบ่งหน้าที่ผิดกฎหมาย และความผิดฐานเผยแพร่
แม้ตกลงระหว่างโจทก์และ ท. จะกำหนดว่า ถ้าภาพถ่ายตามสัญญาถูกตีพิมพ์เพื่อการพาณิชย์ที่ไม่ใช่ของบริษัท น. แล้ว ให้ถือว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญา ท. จะเรียกเอาค่าเสียหายจากโจทก์หรือฟ้องร้องผู้ละเมิดก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่คดีนี้ไม่มีปัญหาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาดังกล่าวหรือไม่ ทั้งการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายดังกล่าวจะหมดสิทธิในความเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องคดีแก่ผู้กระทำผิดหรือไม่ยอมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างถ่ายแบบ ดังนั้น หากมีผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจฟ้องผู้ทำละเมิดได้
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการพิมพ์หนังสือ"ร้อนเสน่หา นางฟ้านุ่งลม" ขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ ซึ่งจำเลยที่ 9 เป็นผู้จัดทำขึ้นในการพิมพ์หนังสือนี้และหนังสือที่พิมพ์ออกมามีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิมพ์ และจำเลยที่ 9 เป็นผู้ทำแม่พิมพ์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 9 ได้แบ่งหน้าที่กันทำงานในส่วนของตน โดยรู้ถึงการกระทำของกันและกันตามที่ระบุไว้ในแม่พิมพ์และหนังสือดังกล่าวเพื่อให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จลง จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 9 มีเจตนาร่วมกระทำผิดด้วยการทำซ้ำงานดังกล่าวด้วยกัน ส่วนจำเลยที่ 15 เป็นเพียงผู้รับจ้างจากบริษัท 222 ให้ทำงานจัดจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดฐานเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรและเพื่อการค้าโดยเฉพาะเท่านั้น อันเป็นความผิดคนละส่วนกัน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้แม้คู่ความจะมิได้อุทธรณ์