พบผลลัพธ์ทั้งหมด 183 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4411/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองและการจ่ายสินบนนำจับ: การตีความบทบัญญัติ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 4 ให้นิยามของคำว่า "ค้า" ว่า หมายความว่า ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในทางการค้า และให้หมายความรวมถึงมีหรือแสดงไว้ซึ่งสัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่าเพื่อการค้า การประกาศหรือโฆษณาหรือนำเสนอทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่อใด ๆ เพื่อการค้าด้วย ดังนั้น การที่จำเลยมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองของกลางดังกล่าวโดยการประกาศหรือโฆษณาในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองเพียงบทเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกบทหนึ่งด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง และมาตรา 108 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับเป็นจำนวนไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่าปรับตามคำพิพากษา คดีนี้เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่มีโทษปรับย่อมไม่อาจจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับกึ่งหนึ่งของเงินค่าขายของกลาง จึงไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน ปัญหาทั้งสองเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจการเป็นโจทก์และการตั้งผู้แทนเฉพาะคดีเมื่อผู้แทนโดยชอบธรรมมีผลประโยชน์ขัดกัน
ความผิดฐานกระทำอนาจาร พยายามกระทำชำเรา และกระทำชำเรา ผู้เสียหายเท่านั้นเป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าว มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมย่อมมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้ และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย แต่ขณะเกิดเหตุผู้คัดค้านและจำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลย แม้ภายหลังจะจดทะเบียนหย่ากัน แต่ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน อีกทั้งโจทก์คัดค้านคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้คัดค้าน เพราะมีพฤติการณ์กระทำการเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ อาจทำให้คดีของโจทก์เสียหาย เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เสียหาย เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้แทนเฉพาะคดีเพราะเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เสียหาย จึงทำให้ผู้คัดค้านไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการแทนผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3677/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สินจากการกระทำผิด พ.ร.บ.แร่ แม้ไม่มีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิด
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ บัญญัติว่า "บรรดาแร่ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะ หรือเครื่องจักรกลใด ๆ ที่บุคคลได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เนื่องในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดตามมาตรา 132 ทวิ... มาตรา 148... ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" ซึ่งเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยมิต้องคำนึงว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ จึงไม่จำต้องฟ้องหรือขอให้ลงโทษผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดมาด้วย และมีความหมายรวมตลอดไปถึงกรณีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาอันเนื่องมาจากคดีขาดอายุความซึ่งมีผลในทำนองเดียวกันคือไม่มีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการกระทำความผิดฐานขนแร่โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเกิดขึ้นแล้ว รถพ่วงของกลางซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องริบเสียทั้งสิ้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบรถบรรทุกที่ใช้ขนแร่โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ครอบครองต้องพิสูจน์ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ส. ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถไปโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วงซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงจำนวน 22 คัน ส. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกขนหินว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ซึ่งประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ที่ระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งประเภทรถบรรทุกไม่ประจำทาง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง ส. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านจึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ส. จะกระทำความผิดและมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สิน (รถบรรทุกและแร่) ที่ใช้ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.แร่ แม้ไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด เมื่อผู้คัดค้านนำสืบแต่เพียงลอย ๆ ว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง และไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ว. ขณะเกิดเหตุได้ให้ ป. เช่าช่วงรถไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง ทั้งไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ว. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกขนหินว่าเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้างให้ขับรถขนหิน ตามบันทึกการตรวจยึด/กล่าวโทษ ประกอบกับตามสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่ง มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. และผู้คัดค้านเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง ว. และสั่งให้ ว. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านจึงมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า ว. จะกระทำความผิดและมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม จึงไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้าน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3674/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบทรัพย์สิน (รถบรรทุกและแร่) จากความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ เนื่องจากเจ้าของรถมีโอกาสทราบถึงการกระทำผิด
ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำสืบพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ตนไม่มีโอกาสทราบหรือไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำความผิดหรือจะมีการนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด แต่ข้อเท็จจริงตามที่ผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ขณะเกิดเหตุได้ให้ อ. เช่าช่วงรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปประกอบธุรกิจโดยมีสำเนาหนังสือสัญญาเช่าช่วง ซึ่งเป็นหลักฐานที่อาจทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุได้โดยง่ายมาแสดง โดยไม่มีหลักฐานอื่นมาประกอบ ทำให้มีน้ำหนักน้อย ผู้คัดค้านจึงยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติได้ ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า ในชั้นตรวจยึดรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วง 22 คัน พ. ให้การเกี่ยวกับรถบรรทุกของกลางว่า มีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ประกอบด้วยบุคคล 6 คน หนึ่งในนั้นมีผู้คัดค้านรวมอยู่ด้วยเป็นเจ้าของรถเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถขนหิน สอดคล้องกับสำเนารายการจดทะเบียนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลาง ซึ่งระบุว่า รถทั้งสองคันมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นผู้ประกอบการขนส่งและมีผู้คัดค้านเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของห้างในช่องผู้ประกอบการขนส่ง พฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อว่า ผู้คัดค้านเป็นหนึ่งในผู้ครอบครองรถและเป็นผู้ว่าจ้าง พ. ขับรถบรรทุกขนแร่หินทรายของกลาง ผู้คัดค้านย่อมมีโอกาสทราบหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า พ. จะกระทำความผิดและจะนำรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 154 วรรคสาม เมื่อรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ไม่มีเหตุที่จะคืนรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ขอบเขตอำนาจใบอนุญาตมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่: ตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์แก่จำเลยเมื่อไม่มีข้อห้ามชัดเจน
พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 49 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 กำหนดว่า ผู้ใดประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์ก็ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน การขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งถือเป็นบทกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการประกอบอาชีพ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น การพิจารณาว่าใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู มีเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ จึงต้องตีความบทกฎหมายดังกล่าวตลอดจนข้อกำหนดในกฎกระทรวงโดยเคร่งครัด จะตีความเพื่อขยายความให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เมื่อกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 ซึ่งคู่ความนำสืบรับกันว่ามีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ ข้อ 1 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในข้อ 1 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ข้อ 1 การอนุญาตให้เป็นมัคคุเทศก์ แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้ (1) มัคคุเทศก์ทั่วไป หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวครอบคลุมในทุกสาขา สำหรับนำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยใช้ภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ (2) มัคคุเทศก์เฉพาะ หมายความว่า มัคคุเทศก์ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับงานนำเที่ยวเฉพาะสาขา เช่น สาขาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และการนำเที่ยวป่า เป็นต้น อันเป็นการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในสาขานั้น ๆ ตามที่นักท่องเที่ยวต้องการจะทราบ..." และ ข้อ 2 กำหนดว่า ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 5 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ข้อ 5 ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ก็มีสองประเภท ดังนี้ (1) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป ให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักรตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต (2) ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะ ให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาและตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต" จะเห็นว่าไม่มีข้อความตอนใดที่กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ให้ได้ความชัดเจน ทั้งที่เหตุผลในการออกกฎกระทรวงท้ายกฎกระทรวงระบุว่า "มัคคุเทศก์เฉพาะปฏิบัติงานนำเที่ยวได้เฉพาะสาขาหรือเฉพาะพื้นที่.." แสดงถึงเจตนารมณ์ในการออกกฎกระทรวงที่ต้องการแยกเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะสาขาและเฉพาะพื้นที่ออกจากกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเงื่อนไขการใช้ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวซึ่งระบุว่าให้ใช้ได้เฉพาะงานนำเที่ยวเฉพาะสาขาจะหมายความรวมถึงใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ด้วยหรือไม่ ประกอบกับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ของจำเลย ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขห้ามนำเที่ยวเฉพาะสาขาด้วยแล้ว กรณีจึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยว่า ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ บัตรสีชมพู ซึ่งออกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2539) ไม่มีเงื่อนไขที่กำหนดห้ามนำเที่ยวทางทะเลชายฝั่งในพื้นที่ที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อพิจารณาเงื่อนไขในการใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ชนิดต่าง ๆ มัคคุเทศก์เฉพาะทางทะเลชายฝั่ง บัตรสีเหลือง สามารถนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4426/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบุกรุกป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ความผิดฐานบุกรุกครอบครองที่ดินของรัฐ และการพิจารณาโทษที่เหมาะสม
แม้โจทก์นำสืบแต่เพียงว่าที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่า โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าเป็นป่าตามฟ้องประเภทใดก็ตาม แต่เมื่อที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่า ซึ่งเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ก็ย่อมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปหาพืชผักหรือปลาที่ไม่ใช่ของป่าหวงห้ามเพื่อการดำรงชีพได้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาหาได้แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องอันจะเป็นเหตุให้ต้องยกฟ้องโจทก์ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2558 เป็นเรื่องที่ทายาทของ ส. อ้างว่าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ฟ้องขับไล่ อ. ผู้บุกรุกและเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันว่า ผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน และใครมีสิทธิดีกว่ากัน หาได้มีการวินิจฉัยรับรองถึงสถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นป่าหรือไม่ ทายาทของ ส. ผู้ชนะคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินและกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่ได้ก่อสิทธิใดแก่ทายาทของ ส. ที่จะยกขึ้นต่อสู้รัฐได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกดำเนินคดีนี้ แม้ที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยครอบครองแทนทายาทของ ส. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว ผลของคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิอันใดแก่จำเลยที่ยกขึ้นยันรัฐได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8954/2558 เป็นเรื่องที่ทายาทของ ส. อ้างว่าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ ฟ้องขับไล่ อ. ผู้บุกรุกและเรียกค่าเสียหาย จึงเป็นการที่ศาลฎีกาวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันว่า ผู้ใดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาก่อน และใครมีสิทธิดีกว่ากัน หาได้มีการวินิจฉัยรับรองถึงสถานะของที่ดินพิพาทว่าเป็นป่าหรือไม่ ทายาทของ ส. ผู้ชนะคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินและกระทำผิดต่อกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่แต่อย่างใด คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่ได้ก่อสิทธิใดแก่ทายาทของ ส. ที่จะยกขึ้นต่อสู้รัฐได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยถูกดำเนินคดีนี้ แม้ที่ดินที่เกิดเหตุที่จำเลยครอบครองแทนทายาทของ ส. เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งดังกล่าว ผลของคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวก็ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิอันใดแก่จำเลยที่ยกขึ้นยันรัฐได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3800/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม, การฟ้องหลายกรรม, และเหตุไม่รอการลงโทษ
คำให้การและคำเบิกความของจำเลยที่ 2 แม้จะปฏิเสธว่าไม่ทราบว่าใบรับรองแพทย์ที่ซื้อมาจากจำเลยที่ 3 เป็นเอกสารปลอม แต่จำเลยที่ 2 ก็รับว่าไม่ได้พาคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพจริง เท่ากับยอมรับว่าซื้อใบรับรองแพทย์ดังกล่าวมาโดยไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่เพียงลำพัง หากเป็นการให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสั่งซื้อใบรับรองแพทย์ปลอมของกลาง ทั้งจำเลยที่ 2 ได้ให้การถึงเรื่องดังกล่าวทันทีในวันที่เจ้าพนักงานตำรวจเชิญตัวไปสถานีตำรวจ จึงถือเป็นพยานซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่น มีน้ำหนักรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง
ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้ เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมทั้ง 16 ฉบับ ยื่นแสดงต่อนาย ส. ในคราวเดียวและวันเดียวกัน แต่โดยสภาพการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมมีผลถึงคนต่างด้าวแต่ละรายแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกันแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 16 กระทง
ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้ เมื่อตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน และมีคำขอตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ใบรับรองแพทย์ปลอมทั้ง 16 ฉบับ ยื่นแสดงต่อนาย ส. ในคราวเดียวและวันเดียวกัน แต่โดยสภาพการกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวย่อมมีผลถึงคนต่างด้าวแต่ละรายแยกต่างหากจากกัน อันเป็นการบรรยายฟ้องที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกันแล้ว จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 16 กระทง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งข้อมูลเท็จเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย และการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำทางน้ำสาธารณะ
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นที่ 65.60 ตารางเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในคลองวัดโส เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์จึงอ้างส่งแผนที่บริเวณที่เกิดเหตุพร้อมภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างพื้นคอนกรีต หลังคาโครงเหล็ก ลักษณะเป็นอาคาร มีผนังกั้นห้องทึบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสร้างต่อเติมจากอาคารเดิมในที่ดินของจำเลยเป็นพยานต่อศาล ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมและเปลี่ยนเป็นให้การรับสารภาพ จึงต้องถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง แต่เมื่อจำเลยไปแจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่สร้างฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 ข้อ 1 เพื่อจะได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและโทษปรับทางปกครอง จำเลยกลับไปแจ้งว่าเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำประเภทเขื่อนกันน้ำเซาะ จึงเป็นการแจ้งข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพที่แท้จริงพฤติการณ์เป็นการปกปิดและบิดเบือนข้อเท็จจริง น่าเชื่อว่ากระทำโดยมีเจตนาแจ้งประเภทสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้เข้าลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่เจ้าท่าพึงอนุญาตได้ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 63 ข้อ 4 (5) จึงเป็นการไม่สุจริต มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยได้แจ้งสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 จำเลยจึงไม่ได้รับการยกเว้นโทษทางอาญาและต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำคลองวัดโสตามฟ้องออกไป