คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 49

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 28 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2534

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีตามมาตรา 49 แม้มีการไต่สวนตามมาตรา 19 แล้ว ก็ชอบด้วยกฎหมาย หากพบว่าผู้เสียภาษียื่นรายการต่ำกว่าที่ควร
แม้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามป.รัษฎากร มาตรา 19 และโจทก์ได้ให้ถ้อยคำกับแสดงหลักฐาน จนเจ้าพนักงานประเมินทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์แล้วแต่เจ้าพนักงานประเมินกลับดำเนินการตาม มาตรา 49 ในการประเมินภาษีจากโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การประเมินที่ชอบแล้วกลายเป็นการประเมินที่ไม่ชอบขึ้นได้ เพราะมาตรา 19 มิได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อออกหมายเรียกไต่สวนตามมาตรา 19 แล้ว ห้ามมิให้ดำเนินการประเมินตามมาตรา 49 เหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อให้ตนมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49นั้น นอกจากในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้แล้วในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ก็ขออนุมัติได้ด้วย ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณา เห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากผู้มีเงินได้หรือจากบุคคลภายนอกก็นำมาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของผู้มีเงินได้ขึ้นได้ทั้งสิ้นป.รัษฎากร มาตรา 49 มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าจะต้องได้ข้อเท็จจริงมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น หรือจะนำข้อเท็จจริงที่ได้จากผู้มีเงินได้มาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรในการกำหนดเงินได้สุทธิขึ้นมาไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ออกหมายเรียกไต่สวนก่อนแล้ว และเหตุผลในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากร
เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตามป.รัษฎากร มาตรา 19 โจทก์ได้มาให้ถ้อยคำและนำหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานจนเจ้าพนักงานประเมินได้ทราบข้อเท็จจริงถึงเงินสดและทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์ ตลอดจนรายจ่ายของโจทก์แล้วนำไปคำนวณหาทรัพย์สินสุทธิปลายปีของแต่ละปี ตั้งแต่ พ.ศ.2515 ถึง พ.ศ.2520ต่อจากนั้นนำไปคำนวณหาทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละปีเอาไปปรับปรุงคำนวณหาเงินได้สุทธิของแต่ละปีแล้ว เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น จึงได้ขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้น ซึ่งอธิบดีกรมสรรพากรก็ได้อนุมัติแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจึงได้แจ้งจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มและเงินเพิ่มที่จะต้องชำระสำหรับปี พ.ศ.2517 พ.ศ.2519 และ พ.ศ.2520 ดังกล่าวไปให้โจทก์ทราบอันเป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 49 แล้ว จึงเป็นการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย
แม้เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ตาม ป.รัษฎากรมาตรา 19 แล้ว ต่อมาจึงได้ดำเนินการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 ในการประเมินภาษีจากโจทก์ก็ตาม ก็ไม่ทำให้การประเมินที่ชอบดังวินิจฉัยแล้วกลายเป็นการประเมินที่ไม่ชอบขึ้นได้ เพราะ ป.รัษฎากร มาตรา 19 มิได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อออกหมายเรียกไต่สวนตามมาตรา 19 แล้ว ห้ามมิให้ดำเนินการประเมินตามมาตรา 49
เหตุที่เจ้าพนักงานประเมินจะขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อให้ตนมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสุทธิขึ้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 นั้นนอกจากในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้แล้ว ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นก็ขออนุมัติได้ด้วยดังที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ และในกรณีที่เจ้าพนักงาน-ประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ากว่าจำนวนที่ควรต้องยื่นนั้นเจ้าพนักงานประเมินจะได้ข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากผู้มีเงินได้หรือจากบุคคลภายนอกก็นำมาเป็นเหตุในการขออนุมัติอธิบดีกรมสรรพากรเพื่อกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของผู้มีเงินได้ขึ้นได้ทั้งสิ้น
อุทธรณ์ของโจทก์ที่อ้างว่า ไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุที่จะอ้างได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 19 การออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนจึงเป็นการไม่ชอบ กับที่อุทธรณ์ขอให้ศาลงดเงินเพิ่มทั้งหมดนั้น โจทก์มิได้อ้างเหตุตามข้ออุทธรณ์ไว้ในคำฟ้องและมิได้มีคำขอให้ศาลงดเงินเพิ่มแก่โจทก์มาในคำฟ้องปัญหาที่โจทก์ยกขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น อีกทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2532

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอาศัยหลักเกณฑ์อื่นเมื่อไม่มีบัญชี และการรับสภาพหนี้ของโจทก์
แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528 โดยอาศัยเงินได้สำหรับปีพ.ศ. 2530 เป็นฐาน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีบัญชีหรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้จำเลยตรวจสอบได้ และในที่สุดโจทก์ก็ยอมรับสภาพหนี้ตามที่พนักงานตรวจสอบของจำเลยแจ้งยอดหนี้ภาษีอากรให้ทราบ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งสืบเนื่องต่อมาจากการรับสภาพหนี้ของโจทก์ดังกล่าว ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2152/2532 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสภาพหนี้ภาษีอากรและการประเมินภาษีโดยอาศัยหลักฐานอื่นเนื่องจากไม่มีบัญชี ผู้เสียภาษีต้องชำระหนี้
แม้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดที่กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์สำหรับปี พ.ศ. 2528โดยอาศัยเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2530 เป็นฐาน แต่เมื่อโจทก์ไม่มีบัญชีหรือพยานหลักฐานใด ๆ ให้กรมสรรพากรจำเลยตรวจสอบได้ และในที่สุดโจทก์ก็ยอมรับสภาพหนี้ตามที่พนักงานตรวจสอบแจ้งยอดหนี้ภาษีอากรให้โจทก์ทราบ ดังนี้ โจทก์ก็จำต้องชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าว การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตลอดจนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็สืบเนื่องต่อมาจากการรับสภาพหนี้ของโจทก์ดังกล่าว จึงถือได้ว่าการประเมินนั้นชอบแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้รับมรดกและไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร
บิดามารดาโจทก์ประกอบอาชีพค้าขายมีโรงสีและฐานะร่ำรวยได้สะสมทรัพย์สินจำพวกเครื่องเพชรพลอย ทองรูปพรรณและของมีค่าอื่นไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อมารดาตาย ทรัพย์สินจำพวกดังกล่าวตกได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุตรสาวเพียงคนเดียว ระหว่างสงครามโลกโจทก์ค้าขายเหล็กได้กำไรมาก จึงซื้อเพชรพลอยและของมีค่าเก็บสะสมไว้แทนเงินสดซึ่งโจทก์ได้ใช้เป็นเครื่องประดับกายและประดับบ้าน โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ต่อมา พ.ศ. 2515 ถึง 2517 โจทก์ต้องการเงินไปขยายกิจการจึงขายทรัพย์สินเครื่องใช้ส่วนตัวจำพวกเพชรพลอยและของมีค่าไปล้วนเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าในการซื้อขายจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งประมวลรัษฎากรก็มิได้บัญญัติว่าการขายสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรอันได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นั้น ผู้มีเงินได้จะต้องจัดทำบัญชีหรือแจ้งรายการต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้โจทก์ไม่มีเอกสารเป็นหลักฐาน เมื่อเงินที่โจทก์นำมาซื้อที่ดินและลงทุนเข้าหุ้นในห้างหุ้นส่วนบริษัทระหว่างพ.ศ.2515 ถึง 2517 โจทก์ได้มาจากการขายทรัพย์สินเครื่องใช้ส่วนตัวอันได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42(9) การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิของโจทก์จากทรัพย์สินสุทธิที่เพิ่มขึ้นเพราะการได้ทรัพย์สินมาดังกล่าวแล้วประเมินภาษีเงินได้ให้โจทก์ชำระจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2520 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้: อายุความ, การประเมิน, การยึดทรัพย์, และเงินเพิ่ม กรณีมิได้ยื่นรายการ
โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องแล้วว่ามีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้นรวมอยู่ในเงินได้สุทธิที่เจ้าพนักงานประเมิน ของจำเลยประเมินเรียกเก็บจากโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้กล่าวถึงรายละเอียดว่าเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 47 แต่ละข้อมีจำนวนเท่าใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะหนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยก็มิได้แยกประเภทเงินได้ให้โจทก์ทราบ โจทก์จึงไม่สามารถจะบรรยายฟ้องได้ถูกต้อง
โจทก์ไม่เคยยื่นรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งตลอดเวลาดังกล่าวโจทก์มีเงินได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นการยากที่เจ้าพนักงานประเมินจะแยกประเภทเงินได้พึงประเมินของโจทก์ว่าอยู่ประเภทใด และโจทก์เองก็ไม่อาจชี้แจงได้ทั้งหมด ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 กำหนดเงินได้สุทธิของโจทก์ขึ้น โดยถือเอาเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของโจทก์มาเป็นหลักในการประเมินได้ แต่การประเมินตามมาตรา 49 นี้ จะใช้จำนวนเงินได้สุทธิที่กำหนดขึ้นดังกล่าวมาคิดคำนวณภาษีเอากับโจทก์เสียทีเดียวหาได้ไม่ จะต้องคำนึงถึงว่าเงินได้สุทธินั้นอยู่ในประเภทเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 หรือไม่มีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 หรือไม่ ทั้งยังต้องหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ, 43, 44, 45, 46 และ 47 เสียก่อน
เงินค่าขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไรเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 42 (4) ส่วนเงินที่บริษัท ด. ให้โจทก์เพื่อที่จะได้รับทำการวางท่อน้ำประปา เนื่องจากโจทก์เป็นแม่ยายของผู้มีอิทธิพลในวงการเมืองและวงราชการ ถือว่าเป็นเงินได้จากการอื่น พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ไม่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 สำหรับเงินที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการใช้หนี้เงินยืม ไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8)
เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้วิธีประเมินตามมาตรา 49 และถือหลักการพิจารณาจากเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในความครอบครองของโจทก์ ดังนั้น ยอดเงินบริจาคค่าการกุศลอันเป็นเงินที่โจทก์จ่ายออกไปแล้ว จึงเอามากำหนดเป็นเงินได้สุทธิไม่ได้
โจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินสำหรับปีภาษี พ.ศ.2497 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2498 เมื่อโจทก์ไม่ยื่นภายในกำหนดสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะเรียกเก็บภาษีเงินได้จากโจทก์ ย่อมบังคับได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2498 จำเลยจะต้องเรียกร้องภาษีเอากับโจทก์ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2508 แต่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งและเรียกร้องให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้สำหรับปีภาษี 2497 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2508 เกิน 10 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 167
เมื่อโจทก์ไม่เคยยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 23 ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกเงินเพิ่มจากโจทก์ 1 เท่าของจำนวนภาษี จึงชอบด้วยมาตรา 26 แล้ว มิใช่ว่าจะต้องรอให้หาเงินได้สุทธิที่แท้จริงเสียก่อนจึงจะพิจารณาปรับเพิ่มภาษีเอาแก่โจทก์ได้ เพราะการเสียเงินเพิ่ม 1 เท่าดังกล่าว คิดจากจำนวนเงินภาษีอากรที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องประเมินใหม่เท่านั้น สำหรับเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามมาตรา 27 นั้น ก็ปรากฏว่าโจทก์ไม่นำเงินภาษีไปชำระภายใน 30 วัน ตามหนังสือแจ้งการประเมิน จำเลยจึงมีคำสั่งให้โจทก์เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ได้ และเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระหนี้ถือว่าเป็นภาษีอากรค้าง ตามมาตรา 12 ซึ่งจำเลยที่ 6 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินของโจทก์ได้
of 3